×

Silence เมื่อศาสนายังคงเป็นประเด็นความขัดแย้ง การฆ่าแกง และสงคราม

19.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 Mins. Read
  • หนังแตะต้องประเด็นที่อ่อนไหว เปราะบาง และทำให้ผู้คนฆ่าแกงกันมาแล้วนักต่อนัก ไม่เว้นแม้กระทั่งในช่วงปัจจุบัน และนั่นคือเรื่องการนับถือศาสนาที่รู้ๆ กันอยู่ว่าเป็นเรื่องที่หยั่งรากฝังลึก และรอมชอมกันไม่ได้ง่ายดาย
  • พระนิกายเยซูอิตชาวโปรตุเกส ถูกจับกุมคุมขังด้วยข้อหาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นกิจกรรมต้องห้าม เหตุการณ์เกิดในช่วงศตวรรษที่ 17 หรือตรงกับยุคสมัยเอโดะ อันเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นไม่เพียงปิดประเทศ ทว่ายังมองชาวต่างชาติที่บุกรุกเข้ามาด้วยสายตาหวาดระแวง
  • สถานการณ์ของหลวงพ่อโรดริเกซก็ไม่แตกต่างไปจากพระเยซูใน The Last Temptation of Christ (1988) และองค์ดาไลลามะในหนังเรื่อง Kundun (1997) ซึ่งเป็นผลงานกำกับของสกอร์เซซีทั้งสองเรื่อง นั่นคือยิ่งเวลาผ่านพ้นไป ทั้งหมดก็เริ่มลังเลว่าการดิ้นรนต่อสู้ของพวกเขามาจากการยึดมั่นในพระศาสนาที่ถูกต้อง หรือการหลงละเมอเพ้อพกและความดันทุรังกันแน่

 

     การดูหนังเรื่อง Silence (2016) ของ มาร์ติน สกอร์เซซี ไม่เหมือนกับการดูหนังเพื่อความรื่นเริงสนุกสนาน และผู้ชมสามารถปล่อยตัวปล่อยใจให้ลื่นไหลไปกับเหตุการณ์ที่หนังเรียงร้อยเอาไว้อย่างประณีต พิถีพิถัน ทั้งนี้ก็เพราะหลายครั้งหลายครา หนังตั้งคำถาม ยั่วยุให้ขบคิด หรือแม้กระทั่งโน้มน้าวให้คล้อยไปกับ ‘ข้อโต้แย้ง’ ที่ฟังดูแล้วหนักแน่น มีหลักการและเหตุผล ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นไม่นานเรายังรู้สึกเป็นปฏิปักษ์กับพฤติการณ์และวิธีคิดของกลุ่มบุคคลที่นำเสนอข้อโต้แย้งเหล่านั้นอย่างชนิดที่ไม่มีวันเห็นพ้องในเรื่องใดๆ

     หรือพูดอย่างกะทัดรัด Silence เป็นหนังที่สร้างความปั่นป่วน หรืออย่างน้อยที่สุดก็สร้างแรงกระเพื่อมทางความคิดให้กับผู้ชมอย่างที่น่าเชื่อว่า พวกเราน่าจะไม่ค่อยได้เผชิญความท้าทายและการกระตุ้นเร้าแบบนี้ทุกเมื่อเชื่อวัน ข้อสำคัญ หนังแตะต้องประเด็นที่อ่อนไหว เปราะบาง และทำให้ผู้คนฆ่าแกงกันมาแล้วนักต่อนัก ไม่เว้นแม้กระทั่งในช่วงปัจจุบัน และนั่นคือเรื่องการนับถือศาสนาที่รู้ๆ กันอยู่ว่าเป็นเรื่องที่หยั่งรากฝังลึก และรอมชอมกันไม่ได้ง่ายดาย

     หนึ่งในเหตุการณ์ที่พอจะถือได้ว่าสนับสนุนสมมติฐานของการยั่วยุทางความคิดผู้ชมอยู่ในช่วงครึ่งค่อนเรื่อง ตัวละครซึ่งเป็นทั้งข้าหลวงและเจ้าพนักงานสอบสวนแห่งราชสำนัก เล่าเรื่องต่อไปนี้ให้กับพระนิกายเยซูอิตชาวโปรตุเกส ผู้ซึ่งถูกจับกุมคุมขังด้วยข้อหาเผยแผ่ศาสนาคริสต์ ซึ่งเป็นกิจกรรมต้องห้าม เหตุการณ์เกิดในช่วงศตวรรษที่ 17 หรือตรงกับยุคสมัยเอโดะ อันเป็นช่วงเวลาที่ญี่ปุ่นไม่เพียงปิดประเทศ ทว่ายังมองชาวต่างชาติที่บุกรุกเข้ามาด้วยสายตาหวาดระแวง

     เรื่องเล่าของข้าหลวงคนนั้นก็คือ ไดเมียว หรือเจ้าเมืองๆ หนึ่งมีนางสนมมาติดพันถึง 4 คน ต่างคนต่างอิจฉาริษยา แก่งแย่งชิงดี สุดท้ายไดเมียวเลยตัดสินใจไล่นางสนมทั้งสี่ออกไปจากปราสาทของตัวเอง ข้าหลวงถามความเห็นของพระเยซูอิตว่า เรื่องเล่านี้สอนให้รู้ว่าอะไร คำตอบของฝ่ายหลังก็คือ ไดเมียวคนนี้ฉลาด ทำนองว่าเขาสามารถจัดการกับปัญหาวุ่นวายยุ่งเหยิงได้แยบยล ไม่มากไม่น้อย นั่นคือตอนที่ข้าหลวงเฉลยปริศนาธรรมของตัวเองทำนองว่า ญี่ปุ่นก็คือไดเมียวคนนั้น และนางสนมก็ได้แก่ สเปน, โปรตุเกส, อังกฤษ และฮอลันดา ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็พยายามช่วงชิงความได้เปรียบ และทำลายความเป็นปึกแผ่นของบ้านเมือง “ไหนๆ ท่านก็บอกว่าเจ้าเมืองเป็นคนฉลาด ท่านคงเข้าใจแล้วว่าทำไมญี่ปุ่นถึงจำเป็นต้องประกาศให้การนับถือศาสนาคริสต์เป็นเรื่องผิดทำนองคลองธรรม”

 

 

     บทสนทนาดังกล่าวยังมีต่ออีกพอสมควร แต่นั่นก็น่าจะเป็นตัวอย่างพอให้เห็นเป็นกระษัยว่า การถกเถียงในประเด็นที่ข้องแวะกับศาสนา และรวมถึงการเมืองการปกครอง และความมั่นคงในหนังเรื่องนี้มาพร้อมกับวาระแอบแฝงซ่อนเร้น เรียกร้องความไหวตัวและเท่าทันทั้งจากตัวละครและผู้ชม จริงๆ แล้วช่วงหนึ่งของหนัง ตัวละครถึงกับถกเถียงกันในประเด็นศาสนาเปรียบเทียบโดยตรงทำนองว่า ศาสนาของใครดีกว่าของใคร ดังที่พระเยซูอิตคนดังกล่าวเอ่ยทำนองว่า พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้วิเศษไปกว่าคนธรรมดาสามัญที่สุดท้ายก็ต้องตาย “…ไม่เหมือนกับพระผู้สร้างของเรา”

     ขณะที่อีกฝ่ายแย้งทำนองว่า พวกคริสเตียนช่างโง่เขลาที่นึกคิดเช่นนั้น เพราะจริงๆ แล้ว พระพุทธเจ้าเป็นแบบอย่างของการเป็นมนุษย์ที่ยิ่งใหญ่ อันได้แก่ การค้นพบความจริง หรืออีกนัยหนึ่ง ก้าวพ้นภาพลวงตาทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งชาวคริสต์เรียกสิ่งเหล่านั้นว่าความศรัทธา ตลกร้ายก็คือ ดูเหมือนว่าต่างฝ่ายต่างเชื่อว่าตัวเอง ‘รู้จริง’ กว่าอีกฝ่าย และผู้ชมน่าจะตระหนักได้ว่า นี่เป็นการโต้เถียงที่ไม่มีข้อยุติและป่วยการ ทว่าในช่วงเวลาที่บ้านเมืองอนุญาตให้มีศาสนาได้เพียงหนึ่งเดียว บทสนทนาแบบนี้ก็กลายเป็นสาระสำคัญ

 

 

     ไม่ว่าจะอย่างไร ประเด็นที่หนังเรื่อง Silence สำรวจตรวจสอบอย่างจริงๆ จังๆ ก็คือเรื่องของความเชื่อและความศรัทธา ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นหัวใจของคริสตศาสนาโดยตรง ตัวหนังดัดแปลงจากนิยายชื่อเดียวกันของชูซากุ เอนโด บอกเล่าเรื่องของพระชาวโปรตุเกสสองรูปที่เดินทางมาประเทศญี่ปุ่นเพื่อตามหาพระชั้นผู้ใหญ่อีกรูปหนึ่งที่พวกเขาได้ข่าวว่าละทิ้งสมณเพศของตัวเอง ดังที่ได้เกริ่นไว้ข้างต้น นี่เป็นช่วงเวลาที่สุดแสนจะยากลำบากสำหรับการเผยแผ่ศาสนาในดินแดนแห่งนี้ เนื่องจากการนับถือศาสนาคริสต์เป็นเรื่องผิดกฎหมาย และบทลงโทษตามที่ผู้ชมได้เห็นตลอดทั้งเรื่องก็คือ การต้องเผชิญกับความทรมานทรกรรมในลักษณะต่างๆ นานาจนถึงแก่ความตาย และไหนๆ ก็ไหนๆ วิธีสร้างความทุกขเวทนาให้กับเหยื่อผู้เคราะห์ร้ายในแต่ละรูปแบบก็ช่างสรรหาและหฤโหดจริงๆ และทีละน้อย มันทำให้พอจะนึกออกว่า ด้วยเหตุผลกลใด กระทั่งนักบวชที่มีศรัทธาอันแก่กล้ากว่าคนธรรมดาสามัญก็ยังไม่อาจจะต้านทาน และลงเอยด้วยการไม่เพียงแค่ประกาศลาออกจากเพศบรรพชิต ทว่ายังยินยอมแม้กระทั่งประณามหยามเหยียดความเชื่อดั้งเดิมของตัวเอง

     ว่าไปแล้ว สิ่งที่เรียกได้เต็มปากเต็มคำว่า ordeal หรือบททดสอบความเชื่อความศรัทธาครั้งสำคัญสำหรับหลวงพ่อโรดริเกซ (แอนดรูว์ การ์ฟิลด์) ตัวเอกของเรื่อง ก็เป็นอย่างเดียวกัน นั่นคือ ตัวเขาจะสามารถยืนหยัดรักษาความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระผู้เป็นเจ้าได้เนิ่นนานเพียงใดในท่ามกลางสถานการณ์ที่บั่นทอนความเลื่อมใสของเขาทุกหนทาง และสำรวจตรวจสอบอย่างถี่ถ้วน ศัตรูตัวฉกาจก็ไม่ใช่พวกขุนน้ำขุนนางที่ต้องยอมรับว่าความอำมหิตและเลือดเย็นของพวกเขาช่างเหลือเกินเหลือการณ์ ทว่าได้แก่ความเคลือบแคลงสงสัยในอุดมการณ์ความเชื่อของตัวเองที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และ ‘ความเงียบ’ ของพระผู้เป็นเจ้าก็ช่างกัดกร่อนและทำให้ศรัทธายิ่งสั่นคลอน

     หรือเทียบเคียงแล้ว สถานการณ์ของหลวงพ่อโรดริเกซก็ไม่แตกต่างไปจากพระเยซูใน The Last Temptation of Christ (1988) และองค์ดาไลลามะในหนังเรื่อง Kundun (1997) ซึ่งเป็นผลงานกำกับของสกอร์เซซีทั้งสองเรื่อง นั่นคือยิ่งเวลาผ่านพ้นไป ทั้งหมดก็เริ่มลังเลว่าการดิ้นรนต่อสู้ของพวกเขามาจากการยึดมั่นในพระศาสนาที่ถูกต้อง หรือการหลงละเมอเพ้อพกและความดันทุรังกันแน่ ทีละน้อย ภาพที่ผู้ชมได้เห็นเกี่ยวกับตัวละครหลักในหนังทั้งสามเรื่องก็ไม่ใช่ martyr หรือสมมติเทพที่อุทิศชีวิตเพื่อศาสนา ทว่าเป็นปุถุชนคนธรรมดาที่รู้ร้อนรู้หนาว มีห้วงเวลาของความปวกเปียกอ่อนแอ ท้อแท้ และกังขาในสิ่งที่ตัวเองกระทำ ซึ่งนั่นทำให้ผู้ชมรู้สึกเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับตัวละครได้ง่ายดายขึ้น

 

 

     ในกรณีของหลวงพ่อโรดริเกซ ฉากหนึ่งช่วงกลางเรื่องที่เขาชะโงกดูเงาตัวเองในแอ่งน้ำ จู่ๆ ภาพที่เขามองเห็นก็แปรเปลี่ยนไปเป็นพระเยซู นั่นบอกโดยอ้อมว่า โรดริเกซใฝ่ฝันหรือมุ่งหวังตัวเองในฐานะเช่นใด หรือพูดในเชิงเปรียบเทียบ สิ่งที่โรดริเกซต้องรับมือก็หนักหนาสาหัสไม่ด้อยไปกว่าการทดลองครั้งสุดท้ายของเหล่าพญามารที่พระเยซูพบเจอบนไม้กางเขนนั่นเอง กล่าวคือ ในขณะที่หลวงพ่อพร้อมจะพลีชีพของตัวเองเพื่อศาสนา สิ่งที่เหล่าขุนนางญี่ปุ่นต้องการกลับไม่ใช่ความตายของเขา ทว่าได้แก่การปฏิเสธพระผู้เป็นเจ้า หรือการถอนตัวเองจากศาสนา นัยว่าเพื่อขุดรากเหง้าความเชื่อในประเทศญี่ปุ่นให้สิ้นซาก หาไม่เช่นนั้นแล้ว ราคาค่างวดของความศรัทธาของเขาก็จะต้องจ่ายด้วยความตายที่น่าอเนจอนาถของของเหล่าคริสตศาสนิกชนชาวญี่ปุ่นคนแล้วคนเล่า

     ไม่ต้องสงสัยว่านี่เป็นสภาวะที่ทั้งกลืนไม่เข้าคายไม่ออกและสุดแสนที่จะทานทนจริงๆ และตรงไหนสักแห่งแถวนี้เองที่ตัวละครต้องจำนนกับความเป็นจริงที่ว่า ‘นิมิต’ ที่เขามองเห็นตัวเองก่อนหน้าเป็นเพียงภาพลวงตา หรืออย่างน้อย อยู่ไกลเกินกว่าที่เขาจะก้าวเดินไปให้ถึง แต่ก็อีกนั่นแหละ นั่นก็ไม่ได้หมายความแม้แต่น้อยนิดว่าในท้ายที่สุดแล้วตัวละครไม่ได้บรรลุมรรคผลใดๆ และวิธีการที่หนังเลือกนำพาทั้งตัวละครและผู้ชมออกไปจาก ‘ธรรมเทศนา’ อันสุดแสนงดงามและเปี่ยมไปด้วยชั้นเชิงนี้ก็นับว่าปลดปล่อยจิตวิญญาณอย่างยิ่ง และนอกจากไม่ได้กีดกันเหล่าคนบาปอย่างเราๆ ท่านๆ (และไม่จำกัดว่าต้องสังกัดศาสนาใด หรือมีศาสนาหรือไม่) ออกไปจากเรื่องที่บอกเล่า ยังนับรวมทุกคนเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย

     แต่บางที คุณค่าที่ยิ่งใหญ่ของหนังเรื่อง Silence ได้แก่ การพูดในประเด็นที่ร่วมสมัยมากๆ เกือบ 400 ปีให้หลัง ศาสนายังคงเป็นประเด็นของความขัดแย้ง การฆ่าแกง และทำสงคราม ผู้คนสับสนปนเประหว่างความเชื่อและศรัทธากับความคับแคบและงมงาย ความพ้องพานระหว่างสิ่งที่หนังบอกเล่ากับเหตุการณ์ต่างๆ นานาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ

     เกือบ 400 ปีให้หลัง กงล้อประวัติศาสตร์ดูเหมือนไม่ได้หมุนไปไหน และคลับคล้ายว่ามนุษย์ไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย

 

SILENCE (2016)

กำกับ: มาร์ติน สกอร์เซซี

นักแสดง: แอนดรูว์ การ์ฟิลด์, อดัม ไดรเวอร์, ทาดาโนบุ อาซาโน, เลียม นีสัน ฯลฯ

 

ตัวอย่างภาพยนตร์

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X