×

First They Killed My Father บาดแผลและความทรงจำ

25.09.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. read
  • ฝีไม้ลายมือของโจลีในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ก็พัฒนาอย่างมีนัยสำคัญจริงๆ จากผลงานแรกๆ เรื่อง Unbroken (2014)
  • หนึ่งในต้นเหตุของความฉิบหายวายป่วงที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการที่กองทัพอเมริกันขยายแนวรบเข้าไปในกัมพูชา (ทั้งๆ ที่ปากบอกว่าต้องการถอนตัว) อันส่งผลให้ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยถูกผลักไสให้ไปเข้ากับฝ่ายเขมรแดง
  • หนังเรื่อง First They Killed My Father ดัดแปลงจากบันทึกความทรงจำชื่อเดียวกันของ หลวง อัง นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกัมพูชา-อเมริกัน ผู้ซึ่งในตอน 5 ขวบ หรือช่วงกรุงพนมเปญแตก (เมษายน 1975) ครอบครัวของเธอซึ่งประกอบไปด้วยพ่อ แม่ และเด็กๆ อีก 7 คนต้องเผชิญวิบากกรรมจากความโหดร้ายของกองทัพเขมรแดง

 

 

     พูดเสียตั้งแต่ตรงนี้เลยว่า ในฐานะที่หนังเรื่อง First They Killed My Father (2017) ผลงานกำกับของ แอนเจลินา โจลี (ซึ่งล่าสุดผู้ชมสามารถดูแบบสตรีมมิงทางช่อง Netflix) ได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนจากประเทศกัมพูชาเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศประจำปีล่าสุด โอกาสที่หนังจะติด 1 ใน 5 หรืออย่างน้อย 1 ใน 9 (ซึ่งเปรียบเหมือนรอบรองชนะเลิศ) ก็สูงลิบลิ่วเลย ทั้งนี้ก็ด้วยแต้มต่อและความเหนือกว่าหนังจากชาติอื่นๆ หลายประการด้วยกัน

     หนึ่งก็คงหนีไม่พ้นสถานะของความเป็นคนที่อยู่ในแสงสปอตไลต์ของตัวโจลีเอง ซึ่งย่อมดึงดูดความสนใจของใครต่อใคร และรวมถึงกรรมการที่โหวตคัดเลือก อีกทั้งหนังที่เธอสร้างกับบทบาทของการเป็นทูตพิเศษของสำนักงานข้าหลวงผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติก็ช่างเสริมส่งซึ่งกันและกัน

     แต่พูดอย่างให้ความเป็นธรรม ฝีไม้ลายมือของโจลีในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์ก็พัฒนาอย่างมีนัยสำคัญจริงๆ จากผลงานแรกๆ เรื่อง Unbroken (2014) ที่มีลักษณะยัดเยียดและหมกมุ่นอยู่กับการนำเสนอความรุนแรงอย่างค่อนข้างขาดการขัดเกลา ปรากฏว่าทักษะในการบอกเล่าและถ่ายทอดตามที่ปรากฏในหนังเรื่อง First They Killed My Father ก็แนบเนียนและแยบยลมากขึ้นอย่างผิดหูผิดตา (แต่จริงๆ แล้ว เธอแสดงให้เห็นวี่แววตั้งแต่ By the Sea (2015) หนังเรื่องก่อนหน้าแล้ว) และไม่มีข้อสงสัยว่านอกจากนี่จะเป็นผลงานกำกับที่ดีที่สุดของโจลียังเปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์ จินตนาการ และรสนิยม

     อีกหนึ่งได้แก่การใช้ทุนสร้างก้อนโตพอสมควร ข้อมูลระบุว่าสิริแล้วงบประมาณของหนังสูงถึง 24 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 858 ล้านบาท กระนั้นก็ตาม ผลลัพธ์ที่ปรากฏเบื้องหน้าก็สมน้ำสมเนื้อทีเดียว หนังมีฉากแบบเอพิกหลายฉาก หนึ่งในนั้นได้แก่ช่วงเวลาที่เหล่าทหารเขมรแดงบังคับให้ทุกคนต้องอพยพออกจากกรุงพนมเปญ และภาพแบบโดรนช็อตก็ตอบสนองความอลังการ ตลอดจนความประณีตพิถีพิถันของงานสร้างได้อย่างสอดประสานกลมกลืน

     ไม่ว่าจะอย่างไร ความได้เปรียบสูงสุดจริงๆ ของหนังได้แก่เนื้อหาที่นำเสนอ มองในมุมของคนอเมริกัน (เพื่อเป็นข้อมูล หนังเรื่องนี้ถือสองสัญชาติคืออเมริกันและกัมพูชา อีกทั้งผู้กำกับและผู้อำนวยการสร้างหลายคนก็เป็นอเมริกัน) นี่เป็นเหมือนกับหนังที่ผู้สร้างต้องการ ‘ไถ่บาป’ จากกรณีที่รัฐบาลของประเทศตัวเองเข้าไปแทรกแซงกิจการของชาวบ้านทั้งๆ ที่ธุระไม่ใช่ หรือพูดอย่างเจาะจง ในกรณีของกัมพูชา อารัมภบทในช่วงราวๆ 10 นาทีแรกของหนังและถ้อยคำส่งท้ายชวนให้สรุปเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากว่า หนึ่งในต้นเหตุของความฉิบหายวายป่วงที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากการที่กองทัพอเมริกันขยายแนวรบเข้าไปในกัมพูชา (ทั้งๆ ที่ปากบอกว่าต้องการถอนตัว) อันส่งผลให้ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยถูกผลักไสให้ไปเข้ากับฝ่ายเขมรแดง ไม่มากก็น้อย หนังของโจลีก็น่าจะช่วยปลดเปลื้องความรู้สึกผิดให้บรรเทาเบาบางลงไป

 

 

     หนังเรื่อง First They Killed My Father ดัดแปลงจากบันทึกความทรงจำชื่อเดียวกันของ หลวง อัง นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนชาวกัมพูชา-อเมริกัน ผู้ซึ่งในตอน 5 ขวบ หรือช่วงกรุงพนมเปญแตก (เมษายน 1975) ครอบครัวของเธอซึ่งประกอบไปด้วยพ่อ แม่ และเด็กๆ อีก 7 คนต้องเผชิญวิบากกรรมจากความโหดร้ายของกองทัพเขมรแดงที่เป็นฝ่ายชนะสงครามกลางเมือง และกวาดต้อนทุกคนออกจากเมืองหลวงเพื่อไปใช้แรงงานในชนบทที่สุดแสนทุรกันดาร เหตุการณ์ดังกล่าวนำพาให้ชีวิตที่เคยเป็นเรื่องสดใสและน่าสนุกสนานสำหรับหลวง (ศรีโมช ซาเหรี่ยม) ในช่วงก่อนหน้านั้นแปรเปลี่ยนไปเป็นเสมือนขุมนรกในบัดดล ชื่อของหนังบอกให้ผู้ชมได้รับรู้โดยอัตโนมัติว่าเกิดอะไรขึ้นกับพ่อของเธอ ผู้ซึ่งในแง่ของหน้าที่การงานของเขาช่วงก่อนที่ประเทศกัมพูชาจะล่มสลายก็คือนายตำรวจระดับนายพันของรัฐบาลเก่า หนังอาจจะไม่ได้บอกแน่ชัด แต่ใครลองปะติดปะต่อก็คงสรุปได้ไม่ยาก นี่คงเป็นสาเหตุที่ทำให้เขาถูกฆ่าตาย

 

 

     ส่วนที่ทำให้หนังมีสัมผัสที่พิเศษจริงๆ ได้แก่การวางปมเรื่อง ซึ่งแทนที่จะบอกเล่าผ่านมุมมองแบบสัพพัญญูของคนทำหนังโดยตรง กลับเลือกร้อยเรียงเหตุการณ์ต่างๆ ผ่านสายตาที่ไม่ประสีประสาของเด็กหญิงวัย 5 ขวบ ผู้ซึ่งไม่ว่าจะดีหรือเลวอย่างไร โลกเบื้องหน้าของเธอก็เป็นอะไรที่น่าพิศวงและชวนให้สงสัยใคร่รู้อยู่ตลอดเวลา ข้อสำคัญ นี่เป็นสายตาที่ไม่ได้แปดเปื้อนวิธีคิดแบบผู้ใหญ่จนนำไปสู่การตัดสินหรือพิพากษาผู้คนด้วยอคติและความโกรธเกลียดชิงชัง

     ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้ไม่น้อยกว่าสองหรือสามฉากที่ผู้ชมได้เห็นว่า ทหารระดับปฏิบัติการของฝ่ายเขมรแดงที่ถูกจับจ้องผ่านมุมมองของหลวงจึงดูเหมือนเจือปนความเมตตา หรืออย่างน้อยก็สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นผู้เป็นคน และไม่ได้โหดเหี้ยมทารุณเหมือนกันไปหมด หรือพูดอย่างครอบคลุม หนังไม่ได้ยัดเยียดสถานะผู้ร้ายให้กับตัวละครคนใดคนหนึ่งจริงๆ จังๆ กระทั่งฉากหนึ่งในช่วงท้ายที่ทหารเขมรแดงคนหนึ่งโดนชาวบ้านรุมประชาทัณฑ์ด้วยความคลั่งแค้น ภาพของใครคนนั้นในมุมมองของสาวน้อยก็ช่างน่าสมเพชเวทนาและมีสถานะของการเป็นเหยื่อไม่น้อยไปกว่าใคร แต่ในทางกลับกัน สามารถพูดได้เต็มปากว่าผีห่าซาตานของเรื่องได้แก่ตัวระบบและอุดมการณ์แบบเขมรแดงที่ถูกเผยแพร่ผ่านเสียงตามสายภายในคอมมูน ผ่านเสียงเพลงที่ร้องปลุกระดม ผ่านละครโฆษณาชวนเชื่อที่ถูกจัดแสดง และผ่านถ้อยคำของบรรดาทหารทั้งชายและหญิงของ ‘อองกา’ (Angkar) (หรือ ‘องค์การ’ นั่นเอง) ที่พร่ำบอกทำนองว่าอองกาคือผู้กอบกู้และปลดปล่อยชาวกัมพูชา เป็นทั้งพ่อ แม่ ครอบครัว และทุกคนต้องเชื่อฟัง

     และว่าไปแล้ว ความชั่วช้าสามานย์อย่างสุดลิ่มจริงๆ และเป็นวิธีการที่ระบอบการปกครองแบบปีศาจร้ายเช่นนี้เลือกฉกฉวยประโยชน์เหมือนๆ กัน (นาซี, เขมรแดง, ไอซิส ฯลฯ) ได้แก่การหลอกใช้เด็กๆ ที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่เป็นเครื่องมือ และนั่นคือตอนที่หนังทำให้เห็นว่าหลวงและเด็กคนอื่นๆ ถูกพวกผู้ใหญ่ฝึกฝนให้ฝังกับระเบิดในป่าลึก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เมื่อนึกย้อนกลับไป มันทั้งรบกวนและบั่นทอนความรู้สึกอย่างรุนแรง ประเด็นก็คือ หนึ่ง เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริง ซึ่งนั่นทำให้ ‘การจำลองเหตุการณ์’ เบื้องหน้าผู้ชมไม่ได้เป็นเรื่องล่องลอย และสอง เหตุผลที่เขมรแดงเลือกใช้เด็กๆ ก็เพราะนอกจากชีวิตของพวกเขาไม่มีค่า ประสบการณ์ชีวิตอันอ่อนด้อยก็ยังทำให้พวกเขาไม่กลัวตาย

     แต่ก็นั่นแหละ หนังไม่ได้มีแต่ด้านที่สร้างความรู้สึกกระอักกระอ่วนและหยาบกระด้าง ส่วนที่หมดจดงดงามอย่างยิ่งได้แก่การถ่ายทอดความสัมพันธ์ระหว่างหลวงกับผู้เป็นพ่อ (คอมเพียก พวง) ที่ผู้ชมรับรู้ได้โดยที่หนังไม่ต้องบอกกล่าวตรงๆ ว่าเธอเป็นลูกสาวคนโปรด และแม้ว่าตัวละครทั้งสองคนจะสื่อสารกันด้วยคำพูดไม่มากนัก แต่สายตาที่สอดประสานก็บ่งบอกถึงความห่วงหาอาทร หลายๆ ฉากชวนให้ซาบซึ้งตื้นตัน อีกทั้งวิธีที่คนทำหนังนำเสนอภาพของพ่อในหลายครั้งหลายคราผ่านสายตาของเด็กหญิงที่มองเห็นเขาในท่ามกลางแสงยามเย็นที่ฟุ้งกระจายก็กลายเป็นเสมือนช่วงเวลาอันมหัศจรรย์ที่น่าเชื่อว่า สำหรับสาวน้อย มันจะไม่มีวันหลุดลอกไปจากความทรงจำ

 

 

     ความสำเร็จอันยิ่งใหญ่ของหนังเรื่อง First They Killed My Father ส่วนหนึ่งมาจากนักแสดงที่ถ่ายทอดบทบาทกันอย่างวิเศษ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง น้องนางเอกวัย 9 ขวบที่ต้องแบกหนังเอาไว้ทั้งเรื่อง และทำให้ภาพของตัวละครที่โลดแล่นเต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิตและเลือดเนื้อ แต่จริงๆ แล้วก็ต้องนับรวมนักแสดงทุกคน และไหนๆ ก็ไหน คนที่ควรได้รับการปรบมืออย่างกึกก้องก็คือแอนเจลิน่า โจลี หนังอาจจะยังเรียกไม่ได้ว่าสมบูรณ์แบบ แต่อย่างน้อยมันก็บรรลุเป้าประสงค์ในการถ่ายทอดความโหดร้ายของสงครามและผลลัพธ์อันน่าเจ็บปวดที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ที่บริสุทธิ์และไร้เดียงสาโดยที่ไม่ต้องเทศนา สั่งสอน หรือตั้งหน้าตั้งตาโหมกระพือและกระตุ้นเร้าอย่างหน้ามืดตามัว ตรงกันข้าม กลวิธีการนำเสนอของหนังมีลักษณะที่ค่อนข้างยับยั้งชั่งใจ ราบรื่น และเป็นธรรมชาติ อันส่งผลให้เหตุการณ์ต่างๆ นานาที่ค่อยๆ คลี่คลายเบื้องหน้าผู้ชมดูหนักแน่น สมจริง และโน้มน้าวชักจูง

     กล่าวในที่สุดแล้ว First They Killed My Father จะได้เข้าชิงออสการ์หรือไม่ก็ไม่น่าจะใช่ประเด็นสำคัญอีกต่อไป และว่าไปแล้ว เป้าประสงค์ของการดูหนังเรื่องนี้ก็เหมือนกับการเข้าไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ที่ว่าด้วยการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ทั้งหลายทั้งปวง ที่ไม่ว่าเนื้อหาข้างในจะก่อให้เกิดความรันทด หดหู่ หรือบีบคั้นและสะเทือนอารมณ์เพียงใด แก่นสารหรือพุทธิปัญญาจริงๆ ก็ล้วนแล้วเป็นเรื่องเดียวกัน นั่นก็คือ ‘พวกเราต้องไม่ลืม’

 

 

FYI

First They Killed My Father (2017)

กำกับ – แอนเจลิน่า โจลี
นักแสดง – ศรีโมช ซาเหรี่ยม, คอมเพียก พวง, โสชิตา สเวง, ดารา เฮง, คิมฮัก มูน

 

Photo: heavy.com

  • LOADING...

READ MORE



Latest Stories

Close Advertising
X