เชื่อว่าหลายคนคงเป็นเหมือนกัน ทุกครั้งที่ไปร่วมงานศพไม่ว่าจะจัดด้วยพิธีกรรมของศาสนาใด นอกจากเราจะไปเพื่อแสดงความรำลึก คารวะแด่ผู้วายชนม์ ร่วมแสดงความเศร้าโศกเสียใจ ให้กำลังใจแก่ญาติสนิทมิตรสหายและคนที่อยู่ข้างหลังซึ่งยังคงต้องดำเนินชีวิตต่อไป อีกอย่างหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากการไปงานศพ ก็คือการที่ตัวเราได้เจริญมรณานุสติ หรือได้รับการย้ำเตือนในสิ่งที่หากเป็นในห้วงยามปกติ อย่างมากเราก็คงได้แต่นึกเล่นๆ ไม่นำมาตรึกตรองหรือครุ่นคิดอย่างซีเรียสจริงจัง นั่นคือ หนึ่ง ไม่ช้าก็เร็ว พวกเราทุกคนล้วนแล้วต้องจากไปเหมือนกัน สอง นอกจากความตายเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากๆ ยังเป็นหนึ่งในไม่กี่อย่าง (ของการมีชีวิต) ที่คงความแน่นอนในท่ามกลางสรรพสิ่งที่ไม่มีความแน่นอน เป็นความยุติธรรมอย่างถึงที่สุดในท่ามกลางความเหลื่อมล้ำต่ำสูงนานัปการ
การได้ดูหนังเรื่อง Die Tomorrow ผลงานล่าสุดของ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ ให้ความรู้สึกเหมือนกับได้ไปร่วมงานศพ อย่างน้อยก็ในพาร์ตของการได้เจริญมรณานุสติ ได้ใคร่ครวญเกี่ยวกับความไม่แน่ไม่นอนของชีวิต ความน่าใจหายและความคาดไม่ถึงของการตาย ตลอดจนความเปลี่ยนแปลงที่ความตายดลบันดาลให้เกิดขึ้นอย่างที่ทุกคนสามารถบอกได้ ความตายไม่ใช่หัวข้อที่น่ารื่นรมย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในการนำมาสร้างเป็นหนังเพื่อเก็บสตางค์จากคนดู และหนังเรื่อง Die Tomorrow ของ ‘เต๋อ นวพล’ ก็ไม่ได้ปิดบังอำพรางความเป็นจริงอันถมึงทึงนี้ หรือเลือกที่จะนำเสนอเนื้อหาที่ว่าด้วยความตายอย่างดูเบา กระนั้นก็ตาม สาระสำคัญจริงๆ ของหนังไม่ได้มุ่งเน้นไปที่การโหมกระพือบรรยากาศอันโศกเศร้า แม้ว่าถึงที่สุดแล้ว นั่นจะเป็นสิ่งที่ต้องเจือปนอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง หรือการนำเสนอความตายในแง่มุมที่ดูน่าประหวั่นพรั่นพรึงเหมือนหนัง Final Destination อาจกล่าวได้ว่า เป้าประสงค์จริงๆ ได้แก่การชักชวนให้ผู้ชมมาร่วมพิจารณาความตายที่ (กำลังจะ) เกิดขึ้นกับตัวละครอันหลากหลาย ผู้ซึ่ง ‘ช่างไม่รู้อะไรบ้างเลย’ และหากจะว่ากันตามความเป็นจริง สภาวะของการไม่อาจล่วงรู้ว่าวันพรุ่งนี้จะเป็นเช่นใด-ก็เป็นของพวกเราทุกคนด้วยเช่นกัน
ดูเหมือนนวพลจะให้สัมภาษณ์ทำนองว่าหนังเรื่อง Die Tomorrow ถูกออกแบบให้คล้ายๆ กับเป็นหนังสืออนุสรณ์งานศพ ซึ่งโดยวิธีการเรียงร้อยเนื้อหาของหนังเรื่องนี้ก็มีฟอร์แมตทำนองนั้น หนังไม่ได้บอกเล่าเรื่องหนึ่งเรื่องใดเพียงเรื่องเดียว แต่มีลักษณะเป็นวาไรตี้โชว์พอสมควร ที่แน่ๆ หนังประกอบไปด้วยเรื่องสั้นๆ สิริแล้วหกเรื่องที่จบลงแบบมีใครสักคนจากไป ในระหว่างนั้นก็ยังสอดแทรกด้วยสิ่งละอันพันละน้อย อาทิ คำให้สัมภาษณ์ของตัวละครที่อายุน้อยที่สุดในเรื่อง ทว่ากลับลุ่มลึกและสะท้อนความเข้าใจชีวิตอย่างน่าทึ่ง คำให้สัมภาษณ์ของตัวละครที่อายุมากที่สุดคนหนึ่งของประเทศ และคุณปู่โอดครวญทำนองว่า บางทีเขาอาจจะเป็นบุคคลที่ความตายหลงลืม ไปจนถึง fun facts (ที่ไม่ค่อยจะ fun หรือน่าสนุกเท่าใดนัก) เกี่ยวกับความตาย เป็นต้นว่า การบอกให้รู้ว่าทุกๆ หนึ่งวินาทีที่ผ่านพ้นไปมีคนตาย 2 คน หรือการจัดสิบอันดับความร้ายแรงและเฉียบพลันจากการตายในลักษณะต่างๆ กัน การเล่นท่ายากของคนทำหนังประการหนึ่งได้แก่ การถ่ายทำเรื่องย่อยๆ ทั้งหกนั้นออกมาในลักษณะลองเทก ซึ่งเหล่าสาวกของนวพลคงตระหนักได้ว่า นี่เป็นสไตล์การนำเสนอที่ปรากฏอยู่ใน ‘จักรวาลของเขา’ อย่างต่อเนื่อง และได้รับการฝึกฝนขัดเกลาจนกลายเป็น ‘สำบัดสำนวน’ ในการสื่อสารที่คมคายและมีเสน่ห์ดึงดูดเฉพาะตัว ความพิเศษของการถ่ายแบบลองเทก ได้แก่การที่มันเก็บรักษาความต่อเนื่องของระยะเวลาและสถานที่ เป็นกลวิธีที่ค่อนข้างซื่อสัตย์เมื่อเทียบกับการตัดต่อ เพราะคนทำหนังยักย้ายถ่ายเทหรือเจ้ากี้เจ้าการมากไม่ค่อยได้ อีกทั้งยังเป็นเทคนิคและแท็กติกที่เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้ร่วมดื่มด่ำกับ ‘ห้วงเวลานั้น’ จริงๆ ซึ่งหากจะว่าไปแล้ว วิธีการถ่ายแบบลองเทกในลักษณะต่างๆ นานาของหนังเรื่อง Die Tomorrow ก็สอดประสานกลมกลืนมากๆ กับเนื้อหาที่บอกเล่าถึงโมเมนต์ก่อนที่วาระสุดท้ายของใครบางคนกำลังจะมาเยือน ลองเทกในเรื่องสั้นบางเรื่องดูกระฉับกระเฉงและมีชีวิตชีวา มองไม่เห็นวี่แววว่าเรื่องเลวร้ายจะเกิดขึ้นได้อย่างไร ขณะที่ลองเทกในบางเรื่องก็เหมือนกับรู้ว่า จุดจบอยู่อีกไม่ห่างไกล และสิ่งที่คนทำหนังสามารถเอื้ออำนวยได้ก็ด้วยการทะนุถนอมแต่ละนาทีที่ผ่านพ้นให้ดำรงอยู่อย่างยาวนาน
อีกอย่างหนึ่งที่น่าพูดถึงก็คือการใช้ประโยชน์จากอัตราส่วนจอภาพ พูดง่ายๆ กรอบภาพแบบสี่เหลี่ยมจัตุรัสที่คนทำหนังเลือกเป็นช่องมองภาพสำหรับการบอกเล่าเรื่องย่อยๆ ทั้งหมด ค่อนข้างบดบังทัศนวิสัยในการมองของคนดู หลายครั้งหลายคราให้ความรู้สึกไม่เต็มตา บางครั้งตัวละครก็ตกเฟรม แต่ก็นั่นแหละ ผลพวงสืบเนื่องก็คือ กรอบภาพที่ดูคับแคบแบบนี้หยิบยื่นความรู้สึกเป็นส่วนตัวระหว่างคนดูกับตัวละครอย่างได้ผลทีเดียว แต่ไหนๆ ก็ไหนๆ ฤทธิ์เดชจริงๆ ของการเล่นกับอัตราส่วนจอภาพ ได้แก่ตอนที่คนทำหนังปลดปล่อยมุมมองของพวกเรา ด้วยการถ่ายทอดให้เห็นภาพแบบจอกว้างตามปกติอย่างเต็มตา ช่วยไม่ได้ที่คนดูจะตอบสนองต่อช็อตเหล่านี้ด้วยความรู้สึกที่ว่า ภาพของห้องหับที่เราได้เห็นแบบแคบๆ ก่อนหน้านี้-ช่างเต็มไปด้วย ‘พื้นที่ว่าง’ หรือ space มากมายเหลือเกิน และนั่นคือตอนที่ความอ้างว้างเดียวดายจู่โจม
มีคำถามหนึ่งในหนังที่สะกิดให้นึกเตลิดเปิดเปิงพอสมควร ความตายมีข้อดี (และข้อเสีย) ของมันหรือไม่ จริงๆ แล้วรูปแบบการนำเสนอของหนังที่มองในแง่มุมหนึ่งก็มีลักษณะคล้ายกับ ‘นิทรรศการว่าด้วยชีวิตและความตายโดยนวพล ธำรงรัตนฤทธิ์’ ก็เสนอแนะไอเดียเกี่ยวกับด้านบวกและลบของประเด็นนี้ได้น่าสนใจอยู่แล้ว อย่างที่บอก ความตายในหลายต่อหลายกรณีทั้งที่แสดงเอาไว้ในหนังเรื่องนี้และเกิดข้ึนในโลกของความเป็นจริงเป็นเรื่องน่าใจหาย และความสูญเสียอย่างที่เรารู้สึกว่าไม่สมควรเกิดขึ้น บางกรณีก็เป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น ป้องกันได้ และคนที่จากไป (ก่อนเวลาอันควร) เหล่านั้นน่าจะทำประโยชน์ได้อีกมาก
แต่อีกหลายกรณี ความตายก็จุดประกายความหวังได้เหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่เฝ้าคอยการบริจาคอวัยวะที่จำเป็น หรือในรายที่ดูเหมือนจะ ‘เลือดเย็น’ มากๆ ตามที่แสดงเอาไว้ในหนังเรื่องนี้ การตายทำให้เกิดการทดแทน คนใหม่จะเริ่มต้นได้อย่างไรหากคนเก่าไม่ยอมสละตำแหน่งสักที และชีวิตก็คงจะไม่ไหลเวียน
คงต้องพูดย้ำอีกครั้งว่า นี่เป็นหนังที่ชวนให้ ‘ฟุ้ง’ เรื่องความตายในแง่มุมต่างๆ จริงๆ ส่วนตัวคิดว่านี่เป็นโอกาสอันดีที่หลายคนจะได้มีโอกาสตั้งคำถามและพยายามนึกหาคำตอบในเรื่องที่พวกเรารู้สึกว่าน่ากลัว เป็นลางร้ายและเรื่องอัปมงคลที่จะพูดถึงมัน-ทั้งๆ ที่มันเป็นเรื่องธรรมชาติ สำหรับตัวเอง ผมมีคำตอบเตรียมเอาไว้แล้ว หากใครมาถามว่าคิดเห็นยังไงเกี่ยวกับความตาย คำตอบของผมอยู่ในประโยคที่ วู้ดดี้ อัลเลน เคยกล่าวเอาไว้ที่ไหนสักแห่ง
“ผมไม่กลัวตาย เพียงแต่ผมไม่อยากอยู่ในตอนที่มันเกิดขึ้นเท่านั้น”
Die Tomorrow (พ.ศ. 2560)
กำกับ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์
ผู้แสดง-ซันนี่ สุวรรณเมธานนท์, พัชชา พูนพิริยะ, สิราษฎร์ อินทรโชติ, รัตนรัตน์ เอื้อทวีกุล, มรกต หลิว, กัญญภัค วุธรา, ชุติมณฑน์ จึงเจริญสุขยิ่ง, วิโอเลต วอเทียร์, กรมิษฐ์ วัชรเสถียร, ชนนิกานต์ เนตรจุ้ย, จรินทร์พร จุนเกียรติ