×

20 ปี Fight Club กับมุมมองที่เปลี่ยนไป เหลือเพียงแค่การ ‘ปลดปล่อย’ แต่ไม่อาจ ‘เปลี่ยนแปลง’

13.09.2019
  • LOADING...
Fight Club

Fight Club (1999) ของ เดวิด ฟินเชอร์ คือหนังที่ผู้เขียนยกให้เป็น 1 ใน 2 เรื่องที่ชอบที่สุดในชีวิตมาตลอดนับตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้ดู และมักชวนเพื่อนๆ มาพูดคุยกันถึง ‘กฎข้อที่หนึ่งคือห้ามพูดถึง Fight Club’ ความดิบ เถื่อน เท่ สะใจ จนอยากลุกขึ้นมาชกหน้าใครสักคน การรวมกลุ่มบำบัดที่ทำให้เราอยากร้องไห้ การทำระเบิดจากสบู่ การเฉลยตอนจบ และประเด็นที่หนังพยายามวิพากษ์วิจารณ์การต่อต้านระบบทุนนิยมและวัตถุนิยมได้อย่างน่าสนใจ 

 

เท่าที่พอจำได้ เราน่าจะหยิบ Fight Club กลับมาดูประมาณ 5-6 ครั้ง ซึ่งทุกครั้งก็จะให้ความรู้สึกที่ดีไม่ต่างจากเดิม ซึ่งนั่นอาจเป็นเหตุผลที่เราหยิบหนังเรื่องนี้มาดูซ้ำๆ เพื่อตอกย้ำและปลอบใจชีวิตที่แสนจำเจของตัวเอง 

 

กระทั่งเราหยิบเรื่องนี้มาดูครั้งล่าสุดในวันที่หนังครบรอบ 20 ปี ทิ้งช่วงจากครั้งสุดท้ายประมาณ 3 ปี ทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจพิจารณาอะไรเป็นพิเศษ เรายังชอบเนื้อเรื่อง ความดิบเถื่อน องค์ประกอบภาพ และมุมกล้องเหมือนเดิมทุกอย่าง แต่กับประเด็นเรื่องการต่อสู้กับระบบทุนนิยมเท่านั้นที่รู้สึกว่าเรามองเห็นแง่มุมอะไรบางอย่างที่แตกต่างออกไป 

 

สำหรับคนที่ไม่เคยดูหนังเรื่องนี้มาก่อน Fight Club พูดถึงชายหนุ่มนิรนาม (รับบทโดย เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน) พนักงานออฟฟิศชนชั้นกลางที่รู้สึกว่าชีวิตตัวเองแสนน่าเบื่อ ต้องทำงานซ้ำๆ ไร้ความท้าทาย ทุกคนถูก ‘ถ่ายเอกสาร’ ออกมาจากต้นแบบเดียวกัน กลายเป็น ‘มนุษย์ก๊อบปี้’ จำนวนมากที่มีความฝันคล้ายกัน ทำอาชีพคล้ายกัน แต่งกายและใช้สิ่งของที่ออกมาจากโรงงานเดียวกัน ถูกกรอบบางอย่างบังคับให้เราต้องเป็นหรือต้องมีเหมือนคนอื่นๆ และรู้สึกโศกเศร้าเมื่อสิ่งของผุพัง ทั้งที่ไม่เคยรู้ด้วยซ้ำว่านั่นคือสิ่งที่จำเป็นกับชีวิตเราจริงๆ หรือเปล่า 

 

จนวันหนึ่งเกิดเหตุให้ชีวิตของเขาไม่เหลืออะไรสักอย่าง และได้เจอกับ ไทเลอร์ เดอร์เดน (รับบทโดย แบรด พิตต์) ชายหนุ่มหล่อเท่ผู้ไม่ยึดติดกับวัตถุใดๆ สักอย่าง ชวนมาแลกหมัด ถอดเนกไทที่รัดคอ ได้เห็นเลือดสดๆ ไหลออกมาจากปาก ได้รับการปลดปล่อย ผ่อนคลายสบายใจ ในแบบที่กลุ่มบำบัดชนิดไหนก็มอบให้ไม่ได้ 

 

และชวนกันก่อตั้ง Fight Club ชมรมมวยใต้ดินที่เปิดโอกาสให้คนแปลกหน้าที่รู้สึกถูกกดขี่และมีชีวิตแสนจำเจได้มาปลดปล่อย ระบายอารมณ์กันแบบหมัดต่อหมัด จนภายหลังขยายตัวเป็นแก๊งอาชญากรรมที่วางแผนทำลายระบบทุนนิยม สถาบันการเงิน และธนาคารยักษ์ใหญ่ให้พังทลายเพื่อรีเซตให้ทุกคนในสังคมเท่ากันหมด ไร้หนี้สิน ไม่มีใครร่ำรวยกว่าใคร 

 

ในช่วงแรกที่หนังเข้าฉาย ไม่ว่าจะด้วยการโปรโมตหนังที่ล้มเหลวของฝ่ายการตลาดที่ไม่อาจทำให้คนเข้าใจเมสเสจของหนังได้ทั้งหมด จนเสียงของคนดูแตกออกเป็นสองฝ่ายที่ถ้าไม่รักก็เกลียด Fight Club ไปเลย ซึ่งแน่นอนว่าเรายืนอยู่ฝั่งคนที่รักหนังเรื่องนี้แบบสุดหัวใจ และไม่เคยเข้าใจว่าทำไมถึงมีคนเกลียดหนังเรื่องนี้ได้ลง 

 

แต่เมื่อถอยตัวเองออกมาสักหน่อย เราจึงได้เห็นมุมมองบางอย่างว่ายังมีคนอีกมากมายที่ยอมรับระบบทุนนิยมและมีความสุขที่ได้หา ‘วัตถุ’ ต่างๆ มาปรนเปรอตัวเอง แล้วจะแปลกอะไรถ้าคนเหล่านั้นจะรู้สึกไม่ชอบการที่หนังพยายามนำเสนออีกด้านหนึ่งที่พวกเขาไม่อยากรับรู้

 

จะผิดอะไรถ้าหลายคนจะมองเห็นว่าเมื่อระบบทุนนิยมเปิดโอกาสให้แข่งขัน ก็ควรจะสู้ตามกลไกของตลาดให้สมศักดิ์ศรีและถีบตัวเองให้สูงที่สุด 

 

แต่ก็ไม่ผิดอีกเช่นกันที่อีกหลายคนจะมองว่าโลกของทุนนิยมที่บอกว่าเป็นการแข่งขันเสรี แท้จริงแล้วเป็นเพียง ‘เสรีภาพ’ ของคนที่ถูกรับเลือกให้เข้าแข่งขัน ส่วนที่เหลือเป็นได้เพียงแค่ ‘ฟันเฟือง’ ในสายพานการผลิตที่ไม่มีวันเติบโต

 

ในเมื่อพวกเขาไม่สามารถต่อสู้เพื่อยืนยันตัวตนได้ในสนามที่หลายคนบอกว่าปกติ จะมีก็แต่สนาม Fight Club ใต้ดินที่สู้กันด้วยกำปั้น ฟันหัก เลือดสาดกระจาย ที่ช่วยยืนยันได้ว่าพวกเขามีชีวิต มีเลือดเนื้อ มีความหวังหลงเหลืออยู่ตรงนี้จริงๆ 

 

แต่เมื่อกลับไปใช้ชีวิตบนดินตามปกติ ถ้าไม่นับการเอาความลับไปแบล็กเมลเจ้านายเพื่อขู่เอาเงินเดือนของพระเอก การฉีดน้ำใส่ที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ การทำลายข้าวของ ลักเล็กขโมยน้อย การได้กลั่นแกล้ง หัวเราะเยาะ มองคนด้านบนด้วยสายตาเย้ยหยันได้เป็นครั้งแรกในชีวิต ฯลฯ 

 

พวกเขาก็ยังได้แต่ใช้ชีวิตแบบไม่มีปากมีเสียง ก้มหน้าทำงานที่แสนน่าเบื่อ เพื่อรอให้ถึงเวลากลางคืนที่จะได้จับคู่ชกกับใคร ตั๊นหน้ามันแรงๆ แล้วจินตนาการว่าสิ่งที่เขาสู้อยู่คือระบบทุนนิยมน่ารังเกียจ และหวังว่าตัวเองจะได้เป็นผู้ได้รับชัยชนะไปครอบครอง

 

มองในแง่นี้ Fight Club เป็นเพียงพื้นที่ให้ทุกคนได้ ‘ปลดปล่อย’ ความกดดัน ความเครียด และสัญชาตญาณดิบออกมาเพียงชั่วครู่เพื่อป้ายความผิดให้กับระบบที่ไม่อาจต่อกร โดยที่สุดท้ายก็ไม่อาจ ‘เปลี่ยนแปลง’ โครงสร้างที่กดทับพวกเขาไว้ได้อยู่ดี

 

ที่เจ็บปวดที่สุดคือฉากที่ไทเลอร์ผู้เป็นตัวแทนของความขบถ ต่อต้านทุนนิยมและวัตถุนิยม กับ มาร์ลา ซิงเกอร์ (รับบทโดย เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์) ตัวละครที่เปรียบเสมือน ‘เนื้อร้าย’ ของระบบทุนนิยมที่คอยหลอกหลอนให้พระเอกนอนไม่หลับในตอนแรกกลับมาร่วมรักกันอย่างรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนถึงจุดสุดยอดนับครั้งไม่ถ้วน 

 

การหลอมรวมเป็นหนึ่งระหว่าง ‘การต่อต้าน’ และ ‘เนื้อร้าย’ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ระบบทุกอย่างพังราบเป็นหน้ากลอง 

 

‘กระสุน’ นัดสุดท้ายที่ลั่นออกไปจึงเป็นได้ทั้งตัวแทนของการเริ่มต้นใหม่ หรือเป็นตัวแทนของการ ‘จำนน’ ต่อระบบที่ไม่อาจต่อต้าน และยอมรับว่าเป็นได้เพียงส่วนหนึ่งของมันเท่านั้น   

 

ถึงแม้ว่าในหนังจะไม่ได้บอกว่าเกิดอะไรขึ้นกับระบบที่พังลงไปต่อจากนั้น แต่เราเชื่อว่าสุดท้ายระบบทุนนิยมก็จะกลับมาแข็งแกร่งไม่ต่างไปจากเดิม หรืออาจจะมากขึ้นด้วยซ้ำ (แต่อย่างน้อยการตั้งชมรม Figth Club ขึ้นมาในหลายๆ ประเทศเพื่อให้ปลดปล่อยด้วย ‘ต่อสู้’ กันจริงๆ ก็นับว่าเป็นอิทธิพลดีๆ ที่หนังเรื่องนี้สร้างเอาไว้)  

 

ส่วนชีวิตของเราและอีกหลายคนหลังจาก Fight Club จบลงไปแล้ว 20 ปีก็ไม่ต่างไปจากเดิมมากนัก เรายังหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาอัปเดตชีวิต ‘ดีๆ’ ของเพื่อนคนอื่นๆ พร่ำบ่นปัญหาที่ไม่อาจแก้ไข นั่งมองผลิตภัณฑ์ต่างๆ ออกรุ่นใหม่ๆ ช้อปปิ้งสินค้าออนไลน์ที่ไม่ได้ใช้ แล้วปลอบใจตัวเองด้วยการลงรูปติดแฮชแท็กว่า ‘ของมันต้องมี’ 

 

หรือถ้ามีเวลาว่างก็ปิดหน้า สร้างร่างอวตาร หาคู่ชกด้วยคีย์บอร์ดและความคิดคมๆ ในโซเชียลมีเดีย แล้วก้มหน้าก้มตาทำงานต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น เพราะโลกสอนให้เรารู้ว่าในบางครั้งชีวิตก็อนุญาตให้เราทำได้เพียงเท่านี้ 

 

ไม่ใช่ไปท้าต่อยตีกับใครในคลับใต้ดิน! 

 

และไม่ว่าความรู้สึกหลังดูหนังเรื่องนี้จบลงจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร แต่เราก็ยังยกให้ Fight Club เป็น 1 ใน 2 หนังในดวงใจเหมือนเดิม 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์ 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X