×

ฟุตบอลโลกกับ ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน’ ทำได้จริงหรือแค่คำหลอกลวงกัน?

03.11.2022
  • LOADING...
ฟุตบอลโลก

HIGHLIGHTS

  • ‘ฟุตบอลโลก’ ประกาศตัวเองว่าจะเป็นอีเวนต์ที่มี ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน’ (Carbon Neutrality) เป็นครั้งแรก แต่มันก็นำไปสู่คำถามว่าเรื่องนี้มันจะเป็นไปได้จริงหรือ?
  • มอร์เตน ธอร์สบี นักเตะทีมชาตินอร์เวย์ ซึ่งเคยได้รับรางวัล BBC Green Sport Awards จากการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม ตอกกลับฟีฟ่าว่าทัวร์นาเมนต์นี้จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนได้อย่างไร ในเมื่อทุกอย่างที่สร้างนั้นเป็นการสร้างเพื่อใช้งานเพียงแค่ครั้งเดียว

ความตื่นตัวเกี่ยวกับเรื่องสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นสูงมากในรอบไม่กี่ปีที่ผ่านมา หลังจากที่เราเริ่มเห็นกับตาถึงความเปลี่ยนแปลงมากมายบนโลกใบนี้ที่น่าตกใจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม และทำให้หลายภาคส่วนพยายามมีส่วนร่วมในการช่วยหยุดวิกฤตการณ์ครั้งนี้ ก่อนที่จะไม่มีโลกดีๆ ให้คนรุ่นหลังได้อยู่

 

‘ฟุตบอลโลก’ เองก็เป็นหนึ่งในนั้นที่ประกาศตัวเองว่าจะเป็นอีเวนต์ที่มี ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน’ (Carbon Neutrality) เป็นครั้งแรก แต่มันก็นำไปสู่คำถามว่าเรื่องนี้มันจะเป็นไปได้จริงหรือ?

 

แต่ก่อนอื่น เรามาทบทวนกันแบบย่นย่อว่าความเป็นกลางทางคาร์บอนคืออะไร?

 

ตามการอธิบายของ Greenpeace ระบุว่า “ความเป็นกลางทางคาร์บอน คือ การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ และมีสองแนวทางด้วยกัน แนวทางแรกคือการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมา โดยการชดเชยคาร์บอนเครดิต (Carbon Offsets) ตัวอย่างเช่น การปลูกป่าเพื่อเพิ่มจำนวนต้นไม้

 

“อีกแนวทางหนึ่งคือการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ตั้งแต่ต้น ซึ่งมีประสิทธิภาพมากกว่าเมื่อเทียบกับแนวทางแรก ในการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์นั้น หมายถึงการยุติการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบพลังงานหมุนเวียน 100% และขยายประสิทธิภาพการใช้พลังงานโดยมีการยกระดับในทุกภาคส่วน ไม่ใช่เพียงโรงไฟฟ้า แต่รวมถึงการขนส่ง อาคารบ้านเรือน โรงงานอุตสาหกรรม และในชีวิตประจำวันของเรา”          

 

ตามถ้อยคำของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) มีการยืนยันว่า ‘ฟุตบอลโลก 2022’ ซึ่งจะจัดขึ้นที่ประเทศกาตาร์ ในระหว่างวันที่ 20 พฤศจิกายน – 18 ธันวาคมนั้น จะเป็นอีเวนต์ที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยจะมี ‘คาร์บอนฟุตพรินต์’ หรือปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่ 3.6 ล้านตัน


ก๊าซเรือนกระจกจำนวน 3.6 ล้านตันที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในฟุตบอลโลกที่กาตาร์นั้น 51.7% จะเกิดขึ้นจากการเดินทาง ซึ่งรวมถึงการเดินทางของแฟนๆ จากเที่ยวบินทั่วโลก ไปจนถึงพลังงานไฟฟ้าที่จะใช้ในการเดินทางระหว่างการแข่งขัน

 

ฟีฟ่าบอกว่า “พวกเราตระหนักดีว่าภาวะโลกร้อนเป็นหนึ่งในความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชั่วชีวิตของเรา และเชื่อว่าเป็นหน้าที่ของพวกเราทุกคนที่จะต้องช่วยกันทำในทันที”


ในส่วนของฟีฟ่าได้ดำเนินการสร้างสนามที่ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่กระบวนการก่อสร้างนั้นเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ไปจนถึงการขนส่งที่ใช้พลังงานต่ำและการจัดการขยะอย่างยั่งยืน

 

เพียงแต่เรื่องนี้นักสิ่งแวดล้อมไม่เชื่อว่าจะเป็นความจริง ในทางตรงกันข้าม การแข่งขันฟุตบอลโลกจะทำให้เกิดคาร์บอนฟุตพรินต์มากกว่าที่ฟีฟ่าระบุถึง 3 เท่าด้วยกัน

 

“เราได้เจาะลึกในการประเมินคาร์บอนฟุตพรินต์ของฟีฟ่า และเราคิดว่ามันน่าจะมากเกินกว่า 10 ล้านตัน หรืออย่างน้อย 3 เท่า” ไมค์ เบอร์เนอร์ส-ลี จากมหาวิทยาลัยแลงคาสเตอร์ให้ความเห็น

 

ขณะที่ ศ.เควิน แอนเดอร์สัน จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ถึงกับบอกว่าการกล่าวอ้างของฟีฟ่านั้น “เป็นการชี้นำที่ผิดและเป็นอันตรายอย่างยิ่ง”

 

“คำว่าความเป็นกลางทางคาร์บอนนั้นมันเป็นคำที่ตีความได้หลายอย่าง การที่บอกว่าฟุตบอลโลกจะชดเชยเรื่องคาร์บอนนั้น มันไม่ได้ทำให้ปริมาณก๊าซเรือนกระจกหายไปจากชั้นบรรยากาศ ดังนั้นมันเป็นคำพูดที่ปลอมมาก” ศ.แอนเดอร์สันวิพากษ์

 

“การจะเรียกว่าเป็นฟุตบอลโลกที่เป็นกลางทางคาร์บอนนั้น จึงเป็นการชี้นำที่ผิดมหันต์ พวกเขาไม่ได้ทำแม้แต่การชดเชยก๊าซเรือนกระจกด้วยซ้ำไป”

 

แต่ที่แทงใจดำที่สุดคือความเห็นจาก มอร์เตน ธอร์สบี นักเตะทีมชาตินอร์เวย์ (ไม่ได้ผ่านเข้าไปเล่นรอบสุดท้ายด้วย) จากสโมสรยูเนียน เบอร์ลิน ซึ่งเคยได้รับรางวัล BBC Green Sport Awards จากการสร้างการรับรู้เกี่ยวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม

 

ธอร์สบีตอกกลับฟีฟ่าว่า ทัวร์นาเมนต์นี้จะช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนได้อย่างไร ในเมื่อทุกอย่างที่สร้างนั้นเป็นการสร้างเพื่อใช้งานเพียงแค่ครั้งเดียว

 

ดังนั้นเขาจึงเป็นหนึ่งในคนที่ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกเพื่อขอให้ฟีฟ่าถอนคำว่า ‘ความเป็นกลางทางคาร์บอน’ ออกไปเสีย เพื่อไม่ให้เกิดการเข้าใจผิด เพราะสิ่งที่ทำนั้นห่างไกลจากความเข้าใจที่ถูกต้องอย่างยิ่ง

 

“ภาวะโลกร้อนเป็นคู่แข่งที่เราต้องสกัดให้ได้ และตอนนี้เราก็อยู่ในช่วงของการต่อเวลาพิเศษแล้ว ไม่ว่าเราจะใส่เสื้อสีอะไร หรือร้องเพลงเชียร์เพลงไหน ทุกอย่างที่เราจะได้ต้องมาจากการลงมือทำ แต่แทนที่จะใช้โอกาสทองนี้ให้เป็นประโยชน์ ฟีฟ่ากลับยิงจ่อๆ พลาดเป้าอย่างไม่น่าเชื่อ” ตอนหนึ่งของจดหมายเปิดผนึกที่เปรียบเทียบให้เราได้เห็นภาพที่น่าสนใจ

 

สนามหญ้าในกาตาร์อาจจะมีสีเขียว แต่ฟุตบอลโลกอาจจะไม่ได้เขียวในแบบที่ฟีฟ่าต้องการให้ทุกคนมองเห็น

 

ไม่เขียวไม่ว่า แต่อย่าติดสติกเกอร์ว่า ‘ฟุตบอลโลกนี้สีเขียว’ คือสิ่งที่นักสิ่งแวดล้อมขอ ไม่มีอะไรมากหรือน้อยไปกว่านี้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising