×

เพลงดาบซามูไรกับชัยชนะของญี่ปุ่น

20.06.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • ในมังงะเรื่อง กัปตันซึบาสะ เรามักจะได้เห็นระดับชั้นของฝีเท้าที่ห่างกันระหว่างนักเตะญี่ปุ่นกับนักเตะจากลาตินอเมริกาผู้เปี่ยมด้วยพรสวรรค์
  • ญี่ปุ่นผูกปีแพ้ทีมจากอเมริกาใต้ตลอดในฟุตบอลโลก นับตั้งแต่ผ่านเข้ารอบสุดท้ายเมื่อปี 1998
  • ซาบุโระ คาวาบุจิ (Saburo Kawabuchi) บุคคลสำคัญของวงการฟุตบอลญี่ปุ่นมองว่า พวกเขาแค่โชคดีที่ผ่านเข้ารอบมาได้
  • ญี่ปุ่นเล่นด้วยความเชื่อว่าพวกเขาดีพอ และพวกเขาสามารถเป็นผู้ชนะได้ และสุดท้ายพวกเขาก็ได้รับชัยชนะจริงๆ

ระหว่างที่ปล่อยให้หัวใจและความรู้สึกทำงานอย่างช้าๆ ผมอดคิดถึง ฮวน ดิอาซ, ริวัล และ นาตูเรซา ขึ้นมาโดยไม่ได้ตั้งใจ

 

ดิอาซ, ริวัล และนาตูเรซา เป็นชื่อของตัวละครในมังงะเรื่อง กัปตันซึบาสะ ครับ โดยคนแรกนั้นเป็นนักเตะเยาวชนทีมชาติอาร์เจนตินา (ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจาก ดีเอโก มาราโดนา) ขณะที่สองคนหลังเป็นตัวทีมชาติบราซิล (ริวัล ก็คือ ริวัลโด แต่นาตูเรซา ผมไม่แน่ใจว่าหมายถึง ‘อิล เฟโนเมโน’ โรนัลโด หรือเปล่า)

 

เวลาผ่านมานานจนจำรายละเอียดที่ชัดเจนไม่ได้ แต่ที่ผมจำได้ค่อนข้างแม่นคือเวลาที่ ซึบาสะกับพวกต้องลงสนามเจอกับทีมเหล่านี้ทีไร มีอันต้องสู้ตายถวายชีวิตเพื่อที่จะเอาชนะให้ได้

 

ในเรื่องจะมีภาพที่ทำให้เราได้เห็นถึงระยะห่างระหว่างกันของนักเตะจากลาตินอเมริกา ผู้ที่เกิดมาเพื่อเล่นฟุตบอล กับนักเตะญี่ปุ่นผู้ที่ต่อให้พยายามมากสักเท่าไรก็ไม่มีวันที่จะก้าวข้ามกำแพงทางชาติพันธุ์ที่สูงใหญ่นั้นไปได้

 

แน่นอนครับว่าในมังงะ สุดท้ายซึบาสะก็ชนะด้วยลูกไดรฟ์ชู้ตเสมอ แต่ในชีวิตจริงมันไม่ง่ายแบบนั้นครับ เพราะสิ่งที่ โยอิจิ ทาคาฮาชิ ผู้แต่งเรื่อง กัปตันซึบาสะ บอกเล่าผ่านลายเส้นนั้นก็สะท้อนมาจากชีวิตจริงทั้งนั้น

 

นั่นคือระดับชั้นของนักฟุตบอลเอเชียกับนักเตะละตินมันมีอยู่จริง และไม่มีสักครั้งที่พวกเขาเอาชนะได้ในชีวิตจริง

 

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น ผมขออนุญาตพาย้อนกลับไปมองผลงานของญี่ปุ่นยามลงแข่งขันกับทีมจากลาตินอเมริกาในศึกฟุตบอลโลกดูนะครับ

 

ในปี 1998 แพ้อาร์เจนตินา 0-1 (เป็นการลงเล่นฟุตบอลโลกนัดแรกในประวัติศาสตร์) – รอบแรก

 

ปี 2006 แพ้บราซิล 1-4 – รอบแรก

 

ปี 2010 แพ้ปารากวัย ในการดวลจุดโทษ 3-5 – รอบ 16 ทีมสุดท้าย (เป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นผ่านเข้ารอบน็อกเอาต์)

 

ปี 2014 แพ้โคลอมเบีย 1-4

 

เรียกได้ว่า ‘ผูกปีแพ้’ เลย

 

เมื่อคิดถึงเรื่องเหล่านี้และคิดถึงสภาพทีมของญี่ปุ่นในช่วงก่อนที่ฟุตบอลโลกจะเริ่มต้นขึ้น

 

ไม่เพียงแต่นักเตะในระดับสตาร์หลายคนจะเริ่มโรยราไม่ได้อยู่ในฟอร์มที่ดีที่สุดเหมือนหลายปีก่อนหน้า ไม่ว่าจะเป็น ชินจิ คางาวะ, เคสุเกะ ฮอนดะ หรือ ชินจิ โอคาซากิ พวกเขายังมีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในตำแหน่งโค้ช เมื่อ วาฮิด ฮาลิลฮอดซิช ยอดกุนซือชาวบอสเนีย ผู้พาซามูไรมาปรากฏตัวในรัสเซีย 2018 ถูกปลดจากตำแหน่งอย่างกะทันหัน ก่อนหน้าที่ฟุตบอลโลกจะเริ่มต้นขึ้นแค่ 2 เดือน

 

มันทำให้ไม่มีใครคาดหวังกับญี่ปุ่นมากมายนัก แม้กระทั่ง ซาบุโระ คาวาบุจิ อดีตประธานสมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น ผู้ก่อตั้งเจลีกเองก็คิดเช่นนั้น

 

คาวาบุจิโพสต์ข้อความบนทวิตเตอร์ในช่วงก่อนเกมนัดแรกของฟุตบอลโลกกับ โคลอมเบียจะเริ่มไม่นานว่า “พวกเราก็แค่โชคดีที่ได้มาอยู่ตรงนี้เพื่อที่จะได้สนุกไปกับเกม

 

“ตอนที่ (วาฮิด) ฮาลิลฮอดซิช เป็นโค้ชอยู่ พวกเราไม่มีโอกาสที่จะชนะได้เลย ตอนนี้กับการที่มีนิชิโนะเป็นโค้ช ผมมองเห็นความหวังนิดหน่อย”

 

แน่นอนว่าถ้อยคำของคาวาบุจิทำให้เกิดกระแสวิพากษ์กันไม่น้อยครับในหมู่แฟนบอลญี่ปุ่น เพราะมันทำให้เกิดความรู้สึกทำนองว่า ‘พูดทำไม’ หรือ ‘พูดให้ได้อะไรขึ้นมา’

 

สิ่งที่สำคัญมากกว่าในยามนั้นน่าจะเป็นการรวมใจให้เป็นหนึ่งเดียวเพื่อสู้กับทีมที่แข็งแกร่งอย่างโคลอมเบียไม่ใช่หรือ?

 

 

เพียงแต่เมื่อเกม 90 นาทีที่ Mordovia Arena จบลง สิ่งที่เราทุกคนได้เห็นจากเหล่านักเตะ Samurai Blue ในชุดสีน้ำเงินนั้นไม่ใช่แค่ ‘ความหวังนิดหน่อย’ ครับ หากแต่เป็นความหวังที่ยิ่งใหญ่ที่ทำได้เกินความคาดหมายไปมาก

 

จริงอยู่ที่ญี่ปุ่นได้เปรียบในเรื่องตัวผู้เล่นที่มากกว่าถึง 87 นาทีเป็นอย่างน้อย หลัง คาร์ลอส ซานเชซ เสียท่าราคาแพงให้กับการกางแขนไปปัดลูกยิงของ ชินจิ คางาวะ ซึ่งสุดท้ายนอกจากทีมจะเสียประตูอยู่ดี ก็ยังทำให้เพื่อนต้องเหนื่อยหนักไปเกือบตลอดเกมที่เหลือ

 

หลังหายนะช่วงต้นเกม เราได้เห็นครับว่าโคลอมเบียพยายามรวบรวมเกมกลับมา ด้วยความคิดและความเชื่อว่าพวกเขา ‘เหนือกว่า’ ซึ่งถ้าถามผมก็ต้องบอกว่า สู้ได้เยี่ยมแล้ว 10 ตัวสู้กับ 11 ตัวได้ขนาดนี้ และยังได้ประตูตีเสมอจากฟรีคิกที่ชาญฉลาดของ ฮวน ควินเตโร ในช่วงก่อนหมดครึ่งแรกด้วย

 

แต่สิ่งที่ทำให้ผมประทับใจมากกว่าคือ ญี่ปุ่นเองก็สู้เต็มที่เหมือนกัน และ ‘สู้ได้’ จริงๆ

 

มันน่าจะเป็นครั้งแรกจริงๆ ที่ผมรู้สึกว่าระดับชั้นของทั้งสองทีมนั้นใกล้กันจนสัมผัสได้ นักเตะญี่ปุ่นต่อกรกับนักเตะโคลอมเบีย ชาติที่พวกเขาเคยแพ้มา 1-4 และเป็นทีมม้ามืดของศึกฟุตบอลโลกครั้งที่แล้วได้อย่างสูสี

 

สุดท้ายพวกเขามาได้ประตูขึ้นนำอีกครั้ง และไม่ปล่อยให้โคลอมเบียตอบโต้คืนอีก

 

ญี่ปุ่นเล่นด้วยความเชื่อว่าพวกเขาดีพอและพวกเขาสามารถเป็นผู้ชนะได้ และสุดท้ายพวกเขาก็ได้รับชัยชนะจริงๆ

 

น้ำตาที่ไหลรินของนักเตะซามูไรแทนความรู้สึกในใจของคนที่พยายามต่อสู้กับสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้มาตลอด

 

หากทุกเรื่องนั้นต้องมีก้าวแรก ชัยชนะเหนือทีมจากลาตินอเมริกาในฟุตบอลโลกก็นับเป็นก้าวแรกที่ยิ่งใหญ่สำหรับพวกเขา

 

ชัยชนะของญี่ปุ่นในครั้งนี้ไม่เพียงเป็นชัยชนะครั้งประวัติศาสตร์ แต่มันคือรางวัลตอบแทนของความพยายามตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ทศวรรษที่ผ่านมา ที่พวกเขาพยายามทำตาม ‘วิสัยทัศน์ 100 ปี’ แผนแม่บทที่เริ่มต้นเมื่อปี 1992

 

จากความฝันบนลายเส้นของ กัปตันซึบาสะ

 

วันนี้พวกเขาได้พบกับความจริงและเริ่มมองเห็นถึงความฝันขั้นต่อไป

Photo: Reuters

FYI
  • ในเรื่อง กัปตันซึบาสะ อาจารย์ทาคาฮาชิมักจะหยิบนักฟุตบอลระดับโลกมาใช้เป็นตัวละคร โดยนอกจาก ดิอาซ (มาราโดนา), ริวัล (ริวัลโด) ยังมี คาร์ล ไฮนซ์ ชไนเดอร์ (คาร์ล-ไฮนซ์ รุมเมนิกเก้), ฟราน เชสเตอร์ (แบรนด์ ชูสเตอร์), ดีเตอร์ มุลเลอร์ (โทนี ชูมัคเกอร์)
  • มีนักเตะไทยในเรื่อง กัปตันซึบาสะ ด้วย โดยตัวละครเด่นคือ บุนนาค สิงห์ประเสริฐ กัปตันทีมชาติไทยที่ไปเล่นให้กับทีมระดับโลกอย่าง แอตเลติโก มาดริด (คุ้นๆ) ซึ่งเคยมีการวิเคราะห์กันว่าน่าจะมีต้นแบบมาจาก ตะวัน ศรีปาน อดีตจอมทัพทีมชาติไทย แต่สุดท้ายอาจารย์ทาคาฮาชิเฉลยว่าไม่ได้อ้างอิงจากนักเตะไทยคนไหนเป็นพิเศษ แค่สร้างตัวละครที่มีจุดเด่นเป็นตัวแทนความเป็นไทยเท่านั้น
  • แผนแม่บท ‘วิสัยทัศน์ 100 ปี’ ของญี่ปุ่น มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะทำให้ญี่ปุ่น คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกให้ได้ภายในปี 2092 ซึ่งในแผนมีทุกเรื่องตั้งแต่การสร้างระบบฟุตบอลอย่างไร สไตล์การเล่นแบบไหนที่เหมาะสม วิธีการบริหารจัดการสโมสรฟุตบอลให้ประสบความสำเร็จ
  • อีกหนึ่งวัตถุประสงค์ของวิสัยทัศน์ 100 ปีคือ การที่อยากเห็นญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีความสุขผ่านเกมกีฬา
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising