ในสถานการณ์วิกฤตโควิดที่ทั้งประเทศไทยและทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ ทำให้ทุกความร่วมมือจะเป็นพลังสำคัญในเหตุการณ์ครั้งนี้ 7 องค์กร ได้แก่ โรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์, MQDC, อีอีซี เอ็นจิเนียริ่ง เน็ทเวิร์ค, ทีแอนด์บี มีเดีย โกลบอล และมูลนิธิธนินท์ เทวี เจียรวนนท์, มูลนิธิอริยวรารมย์, มูลนิธิพุทธรักษา กลุ่มองค์กรได้ร่วมกันก่อตั้ง ‘โรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ’
นอกจาก 7 องค์กรเริ่มก่อตั้งแล้ว ได้ขยายพันธมิตรและผู้สนับสนุนกว่า 30 องค์กร เช่น มูลนิธิเอสซีจี (SCG) ได้ให้การสนับสนุนเตียงกระดาษจำนวน 600 เตียง และยังมีอุปกรณ์ก่อสร้างอื่นๆ ทาง CP และ MK ให้การสนับสนุนด้านอาหารผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์ตลอดระยะเวลา 4 เดือน รวมถึงทาง True ที่ได้จัดเตรียม Wi-Fi เพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ในระหว่างการรักษาพยาบาล และอีกหลายๆ องค์กร
โดยเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา วิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC) ตัวแทนกลุ่มองค์กรผู้ก่อตั้ง ‘โรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ’ กล่าวว่า “ตั้งแต่มีการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิดในรอบที่ 3 นี้ มีผู้ได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง ประชาชนเองก็มีการติดเชื้อในระดับหลายหมื่นคนต่อวัน ภาคเอกชนจึงได้ร่วมกันจัดตั้งโรงพยาบาลสนามขนาด 450 เตียง ขึ้นมาพร้อมรับผู้ป่วยระดับสีเขียวและสีเหลือง โดยใช้ชื่อว่า ‘โรงพยาบาลแสงแห่งใจ’ เกิดจากแนวคิดที่ว่า พวกเราทุกคนต้องช่วยกันจุดแสงสว่างคนละเล็กคนละน้อย เพื่อจุดประกายความหวังให้ประเทศไทยเดินก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้ เราจึงตั้งชื่อโรงพยาบาลแห่งนี้ว่า ‘แสงแห่งใจ’ เพื่อสะท้อนถึงความตั้งใจของผู้ก่อตั้งทั้ง 7 องค์กร ที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยเหลือ”
ซึ่งก่อนหน้านี้กลุ่มองค์กรยังได้จัดตั้งโครงการ ‘ศูนย์รวมปันสุข’ ขึ้น เพื่อช่วยเหลือร้านอาหารที่ได้รับผลกระทบจากการที่ไม่สามารถเปิดร้านได้ตามปกติ รวมถึงชุมชนที่ขาดแคลนอาหาร ซึ่งเมื่อถึงจุดที่มีโรงพยาบาลสนาม จึงได้รวมศูนย์ปันสุขเข้ามาอยู่ภายใต้โครงการโรงพยาบาลสนาม ซึ่งจะยังคงเดินหน้าช่วยเหลือต่อไปตามเจตนารมณ์ และเพิ่มการจัดอาหารให้ผู้ป่วยทุกมื้อตลอดระยะเวลา 4 เดือน
ด้าน นพ.อธิวัฒน์ น้อยประสิทธิ์ Chief Performance Coach, Risk and Quality Officer บริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด และผู้อำนวยการโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ กล่าวว่า “แม้ว่าสถานการณ์โควิดในประเทศไทยยังมีระดับผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ทีมแพทย์ก็รู้สึกมีกำลังใจในการบริหารงาน เพราะได้รับมอบน้ำใจจากเพื่อนๆ ในวงการธุรกิจที่ช่วยกันสนับสนุนการดำเนินงานหาสถานที่ เพื่อให้โรงพยาบาลได้มีโอกาสที่จะรักษาผู้ป่วยได้เพิ่มขึ้น ผมทราบดีว่าในท่ามกลางสถานการณ์ที่เราหลายคนอาจรู้สึกหมดหวัง ไม่เห็นหนทางที่จะออกจากปัญหาโรคระบาดเช่นนี้ การเปิดโรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจนี้นับว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะเป็นทั้งที่รักษาตัว และเป็นจุดที่ได้สื่อสารไปยังผู้ป่วยและครอบครัวให้รู้สึกมีความหวัง เพราะการอยู่ด้วยความหวังและกำลังใจนั้นเป็นเรื่องสำคัญที่ส่งผลดีต่อการรักษาผู้ป่วย รวมถึงสภาพจิตใจของคนในครอบครัวผู้ป่วยที่ต่างก็รอความหวังว่าญาติมิตรของเขามีโอกาสที่จะหายป่วย เมื่อรักษาตัวในโรงพยาบาลสนามแห่งนี้”
การให้บริการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ จะมีทีมแพทย์เฉพาะทางและพยาบาลจากกลุ่มโรงพยาบาลพิษณุเวช ได้แก่ โรงพยาบาลพิษณุเวช พิษณุโลก, โรงพยาบาลพิษณุเวช พิจิตร, และโรงพยาบาลพิษณุเวช อุตรดิตถ์ ซึ่งอยู่ในในเครือพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ให้การดูแล ซึ่งในทางการแพทย์ที่โรงพยาบาลสนามใช้บุคลากรทางการแพทย์ที่คอยดูแลทั้งหมดกว่า 50 ชีวิต มีห้องฉุกเฉิน รวมทั้ง Oxygen High Flow Pipeline จำนวนมากถึง 76 เตียง เพื่อรองรับผู้ป่วยที่มีแนวโน้มจะเป็นสีเหลือง-แดง ที่พร้อมในการดูแลผู้ป่วยวิกฤตในโรงพยาบาลสนาม และมีเตียงผู้ป่วยวิกฤตที่โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ ห่างเพียง 5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางไม่ถึง 10 นาที
ทางโรงพยาบาลสนามนี้ได้นำหุ่นยนต์ปิ่นโตมาช่วยในการบริการ และใช้แอปพลิเคชัน ไข่ต้ม แคร์ (Kaitomm Care) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดูแลผู้ป่วย ใช้ระบบ CCTV และระบบ Security คอยดูแลความปลอดภัยภายในโรงพยาบาลสนาม ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน และเพิ่มความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์อีกด้วย
ที่ผ่านมา พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศปก.ศบค.) เป็นประธานในการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ และชมการสาธิตการรักษาพยาบาลด้วยระบบ Telemedicine Tablet ‘ไข่ต้ม ฮอสพิทอล’ (Kaitomm Hospital) และหุ่นยนต์ ‘ปิ่นโต’ ในการสื่อสารกับผู้ป่วย โดยมี นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ, วันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ, นพ.นนท์ จินดาเวช รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ, ณัฐพงศ์ แตงสุวรรณ นายกเทศมนตรีเมืองบางแก้ว ร่วมเยี่ยมชมเป็นคณะที่ 1 เพื่อขอบคุณภาคเอกชนและให้คำแนะนำ ให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ในการทำงานช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐ โดยมีคณะผู้บริหารโรงพยาบาลแสงแห่งใจ นำโดย ดร.สาธิต วิทยากร กรรมการผู้จัดการบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด ในเครือบริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ PRINC, วิสิษฐ์ มาลัยศิริรัตน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทแมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (MQDC), นพ.อธิวัฒน์ น้อยประสิทธิ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลพิษณุเวช พร้อมคณะ พาเยี่ยมชม ณ ที่ตั้งโรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ ซอยวัดคลองปลัดเปรียง ถนนบางนา-ตราด กม.5
และในวันเดียวกัน ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ มี นพ.พรณรงค์ ศรีม่วง นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ และ ณัฐพงศ์ แตงสุวรรณ นายกเทศมนตรีเมืองบางแก้ว ร่วมเยี่ยมชมและดูการสาธิตการรักษาพยาบาลด้วยระบบ Telemedicine Tablet ‘ไข่ต้ม ฮอสพิทอล’ (Kaitomm Hospital) และหุ่นยนต์ ‘ปิ่นโต’ ในการสื่อสารกับผู้ป่วย เป็นคณะที่ 2 เพื่อขอบคุณภาคเอกชนและให้คำแนะนำ ให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ในการทำงานช่วยแบ่งเบาภาระของภาครัฐ โดยโรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจมีกำหนดเปิดรับผู้ป่วยที่ลงทะเบียนผ่านระบบและได้รับการคัดกรองแล้ว เข้ามารักษาตัวเป็นวันแรกที่โรงพยาบาลเมื่อวันจันทร์ที่ 9 สิงหาคมที่ผ่านมา
ขั้นตอนการลงทะเบียนสำหรับโรงพยาบาลสนามของผู้ป่วยโควิด
โรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจพร้อมเปิดรับผู้ป่วยที่ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ หรือ Call Center เท่านั้น โดยลงทะเบียนผู้ป่วยเพื่อรับการประเมินเข้าโรงพยาบาลสนาม สามารถทำได้ 2 ช่องทาง คือ เว็บไซต์ โรงพยาบาลสนามแสงแห่งใจ หรือโทร. 0 2116 7888 ทางโรงพยาบาลจัดทำ Work Flow ให้มีความสะดวก รวดเร็ว ในการที่จะติดต่อประสานกับผู้ป่วย
เมื่อลงทะเบียนแล้ว ข้อมูลผู้ป่วยจะถูกส่งเข้าไปที่ Assessment Center เพื่อประเมินอาการ โดยหากเข้าข่าย Home Isolation ทางโรงพยาบาลจะรับเข้าเป็นผู้อยู่ภายใต้การดูแลของโรงพยาบาลตามกระบวนการของ Home Isolation หากเข้าข่ายที่จะรับเข้าโรงพยาบาลสนามได้ จะมีทีมงานประสานในการรับการส่งตัวผู้ป่วย เพื่อเช็กอินเข้าโรงพยาบาลสนาม หรือส่งต่อฮอสปิเทล แต่หากมีอาการที่ค่อนข้างหนัก จะพิจารณารับเข้าก็รับการรักษาที่โรงพยาบาล หรือส่งต่อโรงพยาบาลเครือข่าย
หลักการพิจารณาจะเรียงตามลำดับผู้ที่ลงทะเบียนเข้ามาตามระบบ โดยจะต้องแนบผลการตรวจมาด้วย โดยเมื่อเปิดแล้วโรงพยาบาลคาดว่ารับผู้ป่วยได้เต็มภายใน 4-5 วันแรก และจากนั้นจะมีการหมุนเวียนตามจำนวนผู้ป่วยที่ได้กลับบ้าน
บริการที่จัดให้บริการในโรงพยาบาลสนาม
- การบริการทางการแพทย์เทียบเท่ากับการเข้ารักษาที่โรงพยาบาล
-
- มีพยาบาลคอยดูแล 24 ชั่วโมง โดยใช้ระบบ Telemedicine Tablet ‘ไข่ต้ม ฮอสพิทอล’ (Kaitomm Hospital) ที่พัฒนาโดยบริษัท โอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น ในการสื่อสารกับผู้ป่วย
- ได้นำเทคโนโลยีในด้านเครื่องปรับอากาศ All Fresh Air ไม่มีการหมุนเวียนอากาศซ้ำ
- ใช้ ‘หุ่นยนต์ปิ่นโต’ ที่ร่วมพัฒนาโดยบริษัท โอโบดรอยด์ คอร์ปอเรชั่น ส่งอาหาร เครื่องดื่ม และยา มาช่วยเหลือในงานแพทย์และพยาบาล เพื่อลดความเสี่ยงในการทำงานของเจ้าหน้าที่
- มีอุปกรณ์ยังชีพมอบให้กับผู้ป่วยทุกท่าน เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ป่วย เมื่อเวลาผู้ป่วยเข้ามาเช็กอิน และตลอดเวลาที่อยู่ที่โรงพยาบาลสนาม
- ศูนย์รวมปันสุข จัดอาหาร 3 มื้อให้กับผู้ป่วย
-
- มีการจัดอาหาร 3 มื้อให้กับผู้ป่วย แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง โดยมี MK และ CP เป็นพันธมิตรหลักด้านอาหาร
- นอกจากนี้ ยังมีอาหารและของว่างระหว่างวันให้กับผู้ป่วย
- การดูแลรักษาความปลอดภัย
-
- ใช้ระบบ CCTV และระบบ Security คอยดูแลความปลอดภัยภายในโรงพยาบาลสนามในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน
- นอกจากนี้ ยังได้รับการสนับสนุนในด้านการดูแลความปลอดภัยจากหน่วยงานราชการในพื้นที่
- อื่นๆ
-
- อินเทอร์เน็ต และ Wi-Fi สนับสนุนจาก True ให้ผู้ป่วยได้ใช้ฟรี เพื่อให้ผู้ป่วยได้ลดความเครียดลง
- มีพื้นที่สันทนาการ ที่จะมีโทรทัศน์โดยได้รับ Content Support มาจาก True Vision รวมไปถึงโค้ดพิเศษ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชันและดูจากโทรศัพท์มือถือของตัวเองได้