×

เหตุใดการลดค่าธรรมเนียม FIDF ที่เหลืออีก 0.23% จึงไม่ง่าย

05.02.2021
  • LOADING...
เหตุใดการลดค่าธรรมเนียม FIDF ที่เหลืออีก 0.23% จึงไม่ง่าย

ท่ามกลางอากาศอบอ้าวในช่วงต้นเดือนเมษายนเมื่อปีที่แล้ว (2563) ขณะที่สินทรัพย์ทุกอย่างในตลาดการเงินถูกเทขายจนผู้คนขวัญกระเจิง ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ได้ประกาศลดค่าธรรมเนียม FIDF ที่แบงก์พาณิชย์จะต้องนำส่ง โดยลดลงจาก 0.46% เหลือ 0.23% แลกกับการประกาศลดดอกเบี้ยเงินกู้ของแบงก์พาณิชย์ลง 0.40% อันถือเป็นมาตรการทีเด็ดของ ธปท. ที่สามารถลดต้นทุนให้กับลูกหนี้ในระบบธนาคารพาณิชย์ราวๆ 6 ล้านล้านบาท (เป็นตัวเลขประเมินของ ธปท.) โดยไม่ต้องเกี่ยวข้องกับดอกเบี้ยนโยบาย

 

แม้ในวันนี้ตลาดทุนไทยจะกลับมามีเสถียรภาพแล้ว แต่ยังมีคำถามอื้ออึงอยู่ว่า ทำไม ธปท. ไม่ทำซ้ำอีก ก็ในเมื่อมีกระสุนเหลืออีกตั้ง 0.23% เพื่อทำให้ดอกเบี้ยเงินกู้แบงก์ลดลงกว่านี้ได้อีก เหมือนกับที่เคยทำปีที่แล้ว ในภาวะที่ลูกหนี้ในระบบธนาคารพาณิชย์จำนวนมากยังไม่พ้นน้ำ โดยไม่แตะเรื่องดอกเบี้ยนโยบายเลยสักนิด

 

บทความนี้จะขอชวนคุยว่า กระสุนนัดนี้ไม่ใช่ของฟรี ค่าใช้จ่ายมีความหนักหนาอยู่ตามสมควร ดังต่อไปนี้ครับ

 

จากรายงานของสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ หลังวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) อันเป็นกลไกในการรองรับความเสียหายทางเศรษฐกิจที่ว่า มีการทยอยชำระเงินต้นและดอกเบี้ยมาโดยลำดับ รวมถึงกระทรวงการคลังเข้ามาช่วยปรับโครงสร้างหนี้ มีผลให้ยอดหนี้ลดลง จากราว 1.1 ล้านล้านบาทเมื่อต้นปี 2555 เหลือราว 7.5 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2563

 

กระแสเงินสดที่นำมาชำระหนี้เพื่อลดต้นลดดอกคล้ายการผ่อนเงินกู้บ้านนี้ ส่วนใหญ่มาจากแบงก์นำส่ง 0.46% หรือที่เรียกว่า FIDF Fee นี่แหละ ซึ่งตามประมาณการเดิม คาดว่าจะปิดบัญชีหนี้ก้อนนี้ได้ในปี 2031 หรืออีก 9 ปีข้างหน้า

 

แต่เมื่อมีการลด FIDF Fee ลงในปี 2563 กระแสเงินสดไม่เป็นไปตามคาดการณ์ ตารางการผ่อนชำระก็ต้องเลื่อนล่าช้าออกไป 1 ปี

 

หาก ธปท. จะลด FIDF Fee ลงอีก หนี้ก้อนนี้ก็ย่อมจะยืดเวลาออกไปอีก และเนื่องจากหนี้ก้อนนี้เหมือนการผ่อนชำระหนี้เงินกู้บ้าน คือลดต้นลดดอก หากกระแสเงินสดมีเพียงแค่ชำระดอกเบี้ย เงินต้นก็ไม่ลด และอยู่กันไปอย่างยาวนาน

 

กรณีที่แย่คือ กระแสเงินสดไม่พอกลบชำระดอกเบี้ยได้ จะกลายเป็นหนี้พอกพูนทั้งๆ ที่ไม่ได้ก่อหนี้เพิ่ม

 

หากดูในรายงานประจำปี 2562 ของกองทุนฟื้นฟูฯ หัวข้อผลการชำระคืนภาระหนี้ FIDF พบว่า ในปีงบประมาณ 2561 มีการชำระหนี้รวม 74,000 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินต้น 42,000 ล้านบาท และดอกเบี้ย 32,000 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ ที่มาของเงินเป็น FIDF Fee ราว 64,000 ล้านบาท เมื่อมีการลด FIDF Fee ลงครึ่งหนึ่งเมื่อเดือนเมษายน 2563 เงินนำส่งจากแบงก์ก็น่าจะเหลือสักครึ่งหนึ่งคือ 32,000 ล้านบาท เท่ากับว่าเงินที่มีทั้งหมดเพียงพอสำหรับจ่ายดอกเบี้ยเท่านั้น

 

นั่นหมายความว่า ถ้าลด FIDF Fee ลงไปอีก FIDF จะมีเงินไม่เพียงพอชำระดอกเบี้ยหรือไม่ ซึ่งทำให้กองทุนฟื้นฟูฯ อยู่ในสภาพหนี้พอก ระยะเวลาที่คาดว่าจะปิดบัญชีหนี้ก้อนนี้ได้จะยิ่งทอดนานออกไป หรือในภายภาคหน้าอาจจะต้องกลับไปให้กระทรวงการคลังช่วย กลายเป็นภาระงบประมาณการคลังเหมือนก่อนหน้านี้อีกหรือไม่

 

แต่เอาระยะสั้นๆ มองไปที่ปลายปี จะเกิดอะไรขึ้น เมื่อระยะเวลาผ่อนผัน FIDF Fee สิ้นสุดลงในปลายปีนี้ และกลับขึ้นมาเป็น 0.46% เหมือนก่อนโควิด-19

 

มี 3 กรณีครับ

 

1. FIDF Fee กลับมาที่ 0.46% แบงก์ต้องจ่าย FIDF Fee ในอัตราปกติ แบงก์ก็ปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ 0.40% ผลประกอบการแบงก์ทรงตัว

 

2. FIDF Fee กลับมาที่ 0.46% แบงก์ต้องจ่าย FIDF Fee ในอัตราปกติ แต่แบงก์ไม่สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้นมาได้ ด้วยเหตุผลแรงกดดันจากทางการหรือทางสังคมก็แล้วแต่ เศรษฐกิจก็อาจยังไม่พร้อมสำหรับการขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่จะกลายเป็น NPLs เต็มรูปแบบ ซึ่งถ้าเป็นในรูปนี้ แบงก์ก็จะเป็นวีรบุรุษผู้เสียสละ โดยผลประกอบการของแบงก์ทั้งระบบจะลดลง 64,000 ล้านบาทโดยประมาณ

 

3. ธปท. ขยายระยะเวลาผ่อนผันออกไป

 

ถ้ามองคร่าว ๆ แบบนี้ ข้อที่ 3 น่าจะมีความเป็นไปได้สูง โดยกองทุนฟื้นฟูรับภาระ (ตามเคย) เป็นพื้นที่ประนีประนอมให้ทุกฝ่าย ซึ่งนั่นย่อมหมายความว่า ภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ ก็จะอยู่คู่ประเทศไทยไปนานยิ่งขึ้นครับ

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X