×

FETCO เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนอยู่ในโซนร้อนแรง ตอบรับความคาดหวัง Fund Flow ไหลเข้า-โควิด-19 คลี่คลาย

02.02.2021
  • LOADING...
FETCO เผยดัชนีเชื่อมั่นนักลงทุนอยู่ในโซนร้อนแรง ตอบรับความคาดหวัง Fund Flow ไหลเข้า-โควิด-19 คลี่คลาย

ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนอยู่ในโซนร้อนแรงต่อเนื่อง นักลงทุนคาดหวังการไหลเข้าของเงินทุนและการคลี่คลายสถานการณ์โควิด-19 ขณะที่กังวลกับการระบาดระลอกใหม่และสถานการณ์เศรษฐกิจยูโรโซน

 

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนมกราคม 2564 พบว่า “ดัชนีในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 132.55 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5% จากเดือนก่อน ยังคงอยู่ในเกณฑ์ ‘ร้อนแรง’ ต่อเนื่องเป็นเดือนที่สอง นักลงทุนคาดหวังการไหลเข้าของเงินทุนเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการคลี่คลายสถานการณ์โควิด-19 โดยมีข่าวดีเรื่องวัคซีนที่ทยอยออกมา และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ รองลงมาคือสถานการณ์เศรษฐกิจยูโรโซน และการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ

 

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) สำรวจในเดือนมกราคม 2564 ได้ผลสำรวจโดยสรุปดังนี้

 

  • ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (เมษายน 2564) อยู่ในเกณฑ์ร้อนแรง (ช่วงค่าดัชนี 120-159) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.5% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 132.55
  • ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคล กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ร้อนแรง ในขณะที่กลุ่มนักลงทุนสถาบันอยู่ในเกณฑ์ทรงตัว
  • หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุดคือหมวดพลังงานและสาธารณูปโภค (ENERGY)
  • หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุดคือหมวดเหล็ก (STEEL)
  • ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุดคือการไหลเข้าของเงินทุน
  • ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุดคือสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่

 

“ผลสำรวจ ณ เดือนมกราคม 2564 รายกลุ่มนักลงทุนพบว่า ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับตัวเพิ่มขึ้น 22% อยู่ที่ระดับ 144.07 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง 3% อยู่ที่ระดับ 125.00 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวลดลง 1% อยู่ที่ระดับ 117.65 และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับตัวลดลง 17% อยู่ที่ระดับ 125.00  

 

ในช่วงครึ่งแรกของเดือนมกราคม 2564 SET index มีความผันผวน อยู่ระหว่าง 1,468.24-1,547.31 จากการเทขายหุ้นที่มี Free Float ต่ำ โดยหุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ได้รับผลกระทบมากที่สุดช่วงครึ่งเดือนหลังดัชนีปรับตัวในกรอบแคบโดยมีข่าวดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมผ่านโครงการเราชนะ ที่ออกมาช่วยเสริมสภาพคล่องด้านการใช้จ่ายภายในประเทศ และการประกาศผ่อนคลายพื้นที่ควบคุม แต่ดัชนีได้รับผลกระทบจากแรงขายของนักลงทุนต่างชาติที่อาจเกิดจากการปรับฐานการลงทุน ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับดัชนีตลาดหุ้นต่างประเทศ โดย ณ สิ้นเดือนมกราคม SET Index ปิดที่ 1,466.98 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.22% จากเดือนก่อนหน้า

 

นักลงทุนคาดหวังการไหลเข้าของเงินทุนเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการคลี่คลายสถานการณ์โควิด-19 โดยมีข่าวดีเรื่องวัคซีนที่ทยอยออกมา และผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ รองลงมาคือสถานการณ์เศรษฐกิจยูโรโซน และการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ

 

นักลงทุนสนใจลงทุนในพลังงานและสาธารณูปโภค (ENERGY) มากที่สุด รองลงมาคือหมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO) และหมวดพาณิชย์ (COMM) ขณะที่นักลงทุนเห็นว่าหมวดเหล็ก (STEEL) ไม่น่าสนใจลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือหมวดการท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) และหมวดกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (PF&REIT)

 

ปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ โอกาสการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากการแจกจ่ายวัคซีน การทบทวนข้อตกลงการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน และการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีไบเดนของสหรัฐอเมริกา 

 

ส่วนปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ การประกาศงบการเงินบริษัทจดทะเบียน ผลการประชุมรัฐสภาในส่วนการอภิปรายไม่ไว้วางใจและการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญวาระสองที่อาจส่งผลต่อสถานการณ์การเมือง จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ใหม่รายวันที่ยังเพิ่มสูงอยู่ และแผนการแจกจ่ายวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศ รวมถึงติดตามความเป็นไปได้ในการพิจารณาต่ออายุมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ของภาครัฐ”

 

คาดผลประชุม กนง. เดือนกุมภาพันธ์คงอัตราดอกเบี้ย

ผลจากดัชนีสะท้อนการคาดการณ์ของตลาดที่คงมุมมองเช่นเดียวกับครั้งที่แล้วว่า กนง. จะรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ในการประชุมเดือนกุมภาพันธ์นี้ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปีและอายุ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 1 มีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงมากนักจากการสำรวจเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2564

 

อย่างไรก็ตาม มีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากขึ้นที่คาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปีและ 10 ปีอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณพันธบัตรรัฐบาลที่เพิ่มมากขึ้นจากการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ประกอบกับการเข้ามาของวัคซีนน่าจะทำให้สถานการณ์โรคระบาดดีขึ้น ซึ่งเป็นบวกกับสินทรัพย์เสี่ยงทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรมีโอกาสปรับสูงขึ้นได้

 

อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนกุมภาพันธ์ 2564 โดยมีรายละเอียด ดังนี้

 

  • ดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายในการประชุม กนง. รอบเดือนกุมภาพันธ์นี้อยู่ที่ระดับ 39 ลดลงจากครั้งที่แล้วและยังอยู่ในเกณฑ์ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged) สะท้อนมุมมองของตลาดที่คาดว่าการประชุม กนง. ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 0.5 เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำแล้ว และมาตรการการคลังที่ออกมาตั้งแต่ช่วงต้นปีจะลดความจำเป็นในการลดดอกเบี้ยนโยบายลง ทั้งนี้หากสถานการณ์โควิด-19 มีแนวโน้มแย่ลง ธปท. อาจพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยนโยบายได้
  • ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปีและ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 1 ยังคงอยู่ในเกณฑ์ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged) โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากครั้งก่อน สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 5 ปีและ 10 ปีน่าจะยังทรงตัวใกล้เคียงระดับ 0.70% และ 1.29% ตามลำดับ ณ วันที่ทำการสำรวจ (22 มกราคา 2564) โดยปัจจัยที่มีผลต่อการคาดการณ์ ได้แก่ อุปสงค์และอุปทานในตลาดตราสารหนี้ Fund Flow ต่างชาติ และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ รวมถึงทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X