×

FETCO ชี้ต่างชาติมองหุ้นไทยเป็น ‘Safe Haven’ หลังเชื่อมั่นท่องเที่ยวฟื้นผลักดันเศรษฐกิจ ระบุปีนี้หอบเงินซื้อสุทธิแล้ว 1.75 แสนล้านบาท

09.11.2022
  • LOADING...
หุ้นไทย

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ระบุนักลงทุนต่างชาติมองหุ้นไทยเป็น Safe Haven หลัง Relocate เผยขนเงินลุยซื้อสุทธิหุ้นไทยจากต้นปีนี้ถึงปัจจุบันแล้ว 1.75 แสนล้านบาท หลังลงน้อยกว่าเพื่อบ้าน-ได้ภาคท่องเที่ยวหนุนเศรษฐกิจฟื้น

 

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย กล่าวว่า ปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติมีมุมมองการลงทุนต่อตลาดหุ้นอาเซียนรวมถึงตลาดหุ้นไทยว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย (Safe Have) ที่จะมาพักเงินลงทุน เนื่องจากยังเป็นกลุ่มตลาดหุ้นในตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market: EM) เป็นกลุ่มปรับตัวลดลงน้อยกว่ากลุ่มตลาดหุ้นประเทศที่พัฒนาแล้ว 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


โดยยกตัวอย่างจากช่วงต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) ที่ตลาดหุ้นไทยที่ติดลบไป 2.9%, สิงคโปร์ติดลบ 1%, อินโดนีเซียที่บวกแรง 7.9% ส่วนสหรัฐฯ ติดลบไปถึง 10% จากประเด็นความกังวลผลกระทบที่ธนาคารสหรัฐฯ (Fed) เร่งขึ้นดอกเบี้ย อีกทั้งเศรษฐกิจในปี 2023 ของกลุ่มอาเซียนจะขยายได้ดีกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว 

 

ทั้งนี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประมาณการว่าเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2023 จะขยายตัวได้ในระดับ 4.9% ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ กับยุโรปจะขยายตัวในอัตราที่ต่ำกว่า โดย GDP สหรัฐฯ จะขยายตัวได้ 1% ส่วนยุโรปจะขยายตัวเพียง 0.5% ขณะที่เศรษฐกิจของประเทศขนาดใหญ่อย่างเยอรมนีกับอิตาลีนั้นคาดว่าจะเริ่มติดลบ อีกทั้งมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) 

 

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจัยดังกล่าวส่งผลนักลงทุนต่างชาติย้ายการลงทุน (Relocate) โดยออกจากกลุ่มตลาดหุ้นที่ประเทศพัฒนาแล้ว (DM) เข้ามาในตลาด EM ส่งผลให้ตั้งแต่ต้นปีนี้ถึงปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติพลิกกลับมาซื้อสุทธิหุ้นแล้ว 1.75 แสนล้านบาท สวนทางกับปี 2021 ที่นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 4.58 หมื่นล้านบาท 

 

ทั้งนี้ ปัจจัยเรื่องภาคการท่องเที่ยวจะเป็นหัวใจสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2023 ซึ่งคาดการณ์ว่าในปีหน้าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเป็น 18-20 ล้านคน อีกทั้งยังมีโอกาสที่นักท่องเที่ยวจีนจะกลับมาไทยในปีหน้าด้วย หลังรัฐบาลจีนมีแผนจะทยอยเริ่มเปิดประเทศ ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกสำคัญต่อภาคการท่องเที่ยวไทย

 

ทั้งนี้ ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ที่มีนักเที่ยวต่างชาติมาไทยอยู่ที่ 6 ล้านคน แม้จะยังไม่มีนักท่องเที่ยวจากจีนกลับเข้ามาไทย โดยในสิ้นปีนี้คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติทยอยเข้าไทยรวมเพิ่มเป็น 10 ล้านคน ซึ่งจะทำให้ภาคท่องเที่ยวมีสัดส่วนต่อ GDP เพิ่มเป็น 15% จากปี 2021-2022 ที่ยังมีสัดส่วนที่ยังต่ำ อีกทั้งยังมีโอกาสที่จะเห็นการลงทุนทางตรง (FDI) เข้ามาไทยเพิ่มขึ้น 

 

นอกจากนี้ FETCO ยังประเมินการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ Fed มีโอกาสทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยสู่ระดับสูงสุดในช่วงกลางปี 2023 ที่ระดับ 5-6% และคาดการณ์ว่า Fed จะยังไม่ปรับลดดอกเบี้ยในช่วงเดือนมีนาคม 2023 จนกว่าตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะปรับลดลงมาสู่ระดับกรอบเป้าหมายที่ 2% จากปัจจุบันที่เงินเฟ้อกำลังค่อยๆ ปรับลดลงจากระดับสูงสุดที่ 8% 

 

“คาดว่า Fed จะยังยืนดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไปอีก 6-12 เดือน เพื่อใช้สกัดเงินเฟ้อ โดยหลังจากเงินเฟ้อปรับลดลงสู่เป้าหมายแล้ว ประเมินว่า Fed มีโอกาสจะกลับมาเริ่มลดดอกเบี้ยได้ในปี 2024 จากนั้นประเมินว่า Fed จะเริ่มกลับมาดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้ตั้งแต่ปี 2025” 

 

อย่างไรก็ดี ประเมินในช่วงกลางปีหน้าดอกเบี้ย Fed เริ่มเข้าใกล้ระดับสูงสุดแล้ว และมีความเสี่ยงที่เริ่มเห็นเศรษฐกิจโลก Recession ในกลุ่มเศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้ว นอกจากนี้ IMF ยังประเมินว่าในปี 2023 จะมีจำนวนประเทศราว 1 ใน 4 ของกลุ่ม EM เริ่มมีปัญหาการจ่ายชำระหนี้ที่ครบอายุและปัญหาสภาพคล่องด้วย 

 

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ เดือนตุลาคมเพิ่มขึ้นรับแรงหนุนท่องเที่ยวฟื้น

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ผลสำรวจในเดือนตุลาคม 2022 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 108.86 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 60.5% จากเดือนก่อนหน้าขึ้นมาอยู่ในเกณฑ์ ‘ทรงตัว’ นักลงทุนมองว่าการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด 

 

รองลงมาคือความคาดหวังต่อการชะลอการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความไม่แน่นอนต่อนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed รองลงมาคือ สถานการณ์เงินเฟ้อ และสถานการณ์โรคระบาดโควิด

 

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน สำรวจในเดือนตุลาคม 2022 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้

 

  • ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (มกราคม 2023) อยู่ในเกณฑ์ ‘ทรงตัว’ (ช่วงค่าดัชนี 80-119) เพิ่มขึ้น 60.5% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ที่ระดับ 108.86
  • ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคล กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ ปรับขึ้นมาอยู่ในเกณฑ์ ‘ทรงตัว’ ในขณะที่ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ ปรับขึ้นมาอยู่ในระดับ ‘ร้อนแรง’
  • หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุดคือ หมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM)
  • หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุดคือ หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ (PETRO)
  • ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุดคือ การฟื้นต้วของภาคท่องเที่ยว
  • ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุดคือ ความไม่แน่นอนต่อนโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed

 

สำหรับผลสำรวจรายกลุ่มนักลงทุนพบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับเพิ่มขึ้น โดยนักลงทุนบุคคล ปรับเพิ่ม 46.7% อยู่ที่ระดับ 113.43, กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ ปรับเพิ่ม 11.1% อยู่ที่ระดับ 111.11, กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ ปรับเพิ่ม 14.7% อยู่ที่ระดับ 130.00 และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติ ปรับเพิ่ม 150.0% อยู่ที่ระดับ 100.00

 

ขณะที่ในช่วงเดือนตุลาคม 2022 SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยหนุนจากอัตราเงินเฟ้อที่ชะลอตัว, ความคาดหวังว่า Fed จะชะลอการขึ้นดอกเบี้ย, แนวโน้มการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวจากจำนวนนักท่องเที่ยวที่ปรับสูงขึ้นกว่าคาด รวมถึงการประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ของกลุ่มธนาคารซึ่งออกมาดีตามความคาดหมาย โดย SET Index ณ สิ้นเดือนตุลาคม ปิดที่ 1,608.76 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.2% จากเดือนก่อนหน้า ในขณะที่นักลงทุนต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิในเดือนตุลาคม 2022 กว่า 7,467 ล้านบาท โดยตลอดทั้งปี 2022 นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อสุทธิเป็นมูลค่า 153,932 ล้านบาท

 

ปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตามได้แก่ ความชัดเจนของนโยบายการขึ้นดอกเบี้ยของ Fed, ความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งส่งผลให้ธนาคารกลางในหลายประเทศต้องออกมาตรการแทรกแซงค่าเงิน โดยเฉพาะธนาคารกลางอังกฤษและญี่ปุ่น รวมถึงแนวโน้มการถดถอยของเศรษฐกิจ

 

โดยเฉพาะในกลุ่ม EM สถานการณ์เศรษฐกิจจีนที่ยังคงชะลอตัวจากนโยบาย Zero-COVID และสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การชะลอตัวของภาคการส่งออก, แนวโน้มการไหลเข้าของสินค้าจากประเทศจีน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการในไทย, สถานการณ์เงินบาทอ่อนค่า และเงินสำรองต่างประเทศของไทยที่ปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นผลจากการที่เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น

 

โดยมีปัจจัยหนุนที่น่าติดตามจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศจากแรงหนุนของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งจะส่งผลดีต่อการจ้างงานและการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศ

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X