×

FETCO ชี้ ตลาดหุ้นไทยจะบวกต้องเร่งเครื่องลงทุนรัฐ-ทีมเศรษฐกิจใหม่

14.09.2020
  • LOADING...

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่าตลาดหุ้นไทยในปัจจุบันยังติดลบ 17% เมื่อเทียบกับช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งแม้ว่าจะได้รับผลกระทบจากโควิด-19 เหมือนทั่วโลก แต่ยังเห็นตลาดหุ้นบางประเทศเริ่มฟื้นตัว เช่น ไต้หวัน (4.5%) เกาหลีใต้ (5.8%) และจีน (11.7%)

ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยยังไม่กลับมาฟื้นตัวมาจากสถานการณ์เศรษฐกิจไทยที่ยังดูชะลอตัว การเบิกจ่ายของภาครัฐทั้งงบประมาณเร่งด่วน (เงินกู้ 4 แสนล้านบาท) และโครงการขนาดใหญ่ยังล่าช้า เช่น วงเงินกู้ 4 แสนล้านบาทเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย ปัจจุบันยังเบิกจ่ายได้ราว 4 หมื่นล้านบาท ฯลฯ

 

เมื่อเศรษฐกิจไทยยังไม่โดดเด่นกว่าประเทศอื่น จึงเห็นว่า 2 เดือนที่ผ่านมาดัชนีหุ้นไทยยังปรับตัวลดลง ดังนั้นความหวังที่เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวมีเพียงรัฐบาลเป็นกำลังซื้อเดียว หากการแก้ปัญหาเศรษฐกิจยังมีความล่าช้า ทั้งการอนุมัติโครงการต่างๆ รวมถึงงบประมาณปี 2564 (ที่จะเริ่มในเดือนตุลาคม 2563) อาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่กังวลว่าโครงการต่างๆ ที่วางไว้ รวมถึงกำหนดการเปิดประเทศจะล่าช้าออกไป 

 

“รัฐมีความจำเป็นต้องทำมากกว่าเพื่อมากระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนหนึ่งเพราะเราเปิดประเทศช้า ยิ่งทำให้ต้องพึ่งพิงจากกำลังในประเทศ แต่ภาคเอกชนยังไม่อยู่ในวิสัยที่จะกระตุ้นได้ ภาครัฐจึงเป็นกำลังหลักในการกระตุ้นเศรษฐกิจไทย”

 

 

อย่างไรก็ตาม มองว่าปัจจัยทางการเมืองและการชุมนุมเป็นปัจจัยระยะสั้นมากกว่าที่จะกระทบต่อตลาดหุ้นในระยะยาว ดังนั้นยังมองว่านักลงทุนสามารถทยอยซื้อหุ้นได้ เพราะหุ้นไทยถือว่าราคาลดลงเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา 

 

ขณะที่ด้านค่าเงินบาทมองว่าทิศทางมีแนวโน้มแข็งค่า ส่วนหนึ่งเพราะค่าเงินดอลลาร์สหรัฐยังมีแนวโน้มจะอ่อนค่าลงจากมาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ ซึ่งทำให้เงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้น  

 

อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่าฝั่งตราสารหนี้ต้องยอมรับว่านักลงทุนต่างชาติมองสถานการณ์เศรษฐกิจเป็นหลัก และจะมองการลงทุนเป็นภูมิภาค โดยปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยในไทยถือว่าอยู่ในระดับต่ำ อัตราผลตอบแทนพันธบัตรอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับมาเลเซีย ดังนั้นหากเห็นแนวโน้มเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นก็มีโอกาสที่จะเห็นเม็ดเงินไหลเข้ามากขึ้น


ทั้งนี้ ปี 2563 คาดว่ามูลค่าการออกหุ้นกู้ในไทยจะอยู่ที่ 8 แสนล้านบาท โดยคาดว่าสิ้นเดือนกันยายน 2563 นี้น่าจะเข้าใกล้ 6 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการออกหุ้นกู้จากรายใหญ่ในธุรกิจพลังงาน ส่วนหนึ่งคือการกักตุนสภาพคล่องท่ามกลางความไม่แน่นอนและตามความต้องการของตลาดที่มีอยู่ 

 

 

อย่างไรก็ตาม ในด้านการผิดนัดชำระหนี้ของหุ้นกู้ยังไม่เห็นการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะบางส่วนมีทั้งการปรับโครงสร้างหนี้ การขอยืดหนี้ ฯลฯ เช่น ส่วนใหญ่หุ้นกู้ที่ครบกำหนดชำระจะขอเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ หรือบางส่วนอาจเข้าใช้สินเชื่อธนาคาร 

 

ขณะที่ช่วงที่เหลือของปี 2563 นี้คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และอายุ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 3 มีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงมากนัก จากการสำรวจเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563 แต่อาจปรับตัวสูงขึ้นในไตรมาส 4 จากปริมาณการออกพันธบัตรภาครัฐที่เพิ่มขึ้นเพื่อใช้ในมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

 

ไพบูลย์กล่าวว่าดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าลดลง 21% อยู่ในเกณฑ์ซบเซา นักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก ขณะที่ปัจจัยลบต่อความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ และสถานการณ์ทางเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาและยุโรป

 

ช่วงครึ่งเดือนแรกของเดือนสิงหาคม 2563 SET Index เคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบระหว่าง 1,321.23-1,346.69 จุด จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มทยอยฟื้นตัว จากนั้นดัชนีปรับตัวลดลงหลังจากการประกาศ GDP ไตรมาส 2/63 ซึ่งหดตัว -12.2% เมื่อเทียบไตรมาสเดียวกันของปีก่อน อีกทั้งสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศหลังจากมีการชุมนุมในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน ความกังวลต่อการระบาดรอบสองของโควิด-19 ในประเทศ และผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนไตรมาส 2/63 ที่กำไรออกมาไม่ดีนัก 

 

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะต่อไป ได้แก่ การแพร่ระบาดรอบสองของโควิด-19 ในหลายประเทศที่จะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ส่วนปัจจัยในประเทศยังต้องติดตามคือความไม่แน่นอนของการต่ออายุมาตรการสนับสนุนของภาครัฐที่กำลังจะหมดอายุ ความเสี่ยงด้านการว่างงานและการปิดกิจการที่อาจเพิ่มสูงขึ้นมาก รวมถึงความไม่สงบทางการเมืองที่เพิ่มขึ้น

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X