จากการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า ดัชนีของเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ระดับ 161.41 เพิ่มขึ้น 161% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ในเกณฑ์ ‘ร้อนแรงอย่างมาก’ (Very Bullish) ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี สะท้อนให้เห็นว่านักลงทุนเชื่อว่าตลาดหุ้นจะอยู่ในขาขึ้นได้ในระยะ 3 เดือนข้างหน้านี้
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้นักลงทุนโดยรวมเชื่อมั่นว่าตลาดจะปรับตัวขึ้นได้ต่อ คือ กระแสเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) ส่วนนักลงทุนต่างชาติให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 2564
“ก่อนหน้านี้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยไปราว 3 แสนล้านบาท ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา แต่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมนี้ เริ่มเห็นแรงซื้อกลับ ซึ่งนักลงทุนมองว่าไทยเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์จากการกลับมาเปิดประเทศอีกครั้ง รวมถึงการท่องเที่ยวที่น่าจะฟื้นตัวในปีหน้า”
ส่วนปัจจัยที่นักลงทุนต่างชาติกังวลเป็นเรื่องความขัดแย้งระหว่างประเทศ เช่น สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน หรือกรณี Brexit
“หุ้นไทยฟื้นขึ้นมาเร็วมากจากข่าวเรื่องวัคซีน ซึ่งไทยจะเป็นประเทศที่ได้ประโยชน์ค่อนข้างมาก ส่วนตัวมองว่าโอกาสที่ตลาดหุ้นจะปรับตัวลงหนักเกิดขึ้นได้ค่อนข้างยาก แต่อาจจะเห็นแรงขายทำกำไรบ้าง โดยรวมเชื่อว่าตลาดหุ้นปีหน้าจะกลับไปจุดเดิมเท่ากับปลายปี 2562 ที่ประมาณ 1,580 จุด ซึ่งดัชนีหุ้นหลายประเทศทะลุจุดนั้นไปแล้ว หากสถานการณ์ยังคงเป็นเช่นนี้ มีวัคซีนออกมา เชื่อว่าตลาดหุ้นจะกลับไปสู่จุดเดิมก่อนวิกฤตได้”
ส่วนปัจจัยการเมือง หากไม่ได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เช่น เลือกตั้งใหม่ อาจจะไม่ได้มีผลกระทบต่อการตลาดหุ้นมาก ปัจจุบันนักลงทุนให้ความสำคัญกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและฟันด์โฟลวต่างชาติมากกว่า ทั้งนี้ คาดว่ากำไรต่อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนไทยในปีนี้น่าจะติดลบประมาณ 40% ส่วนปีหน้าคาดว่าจะเติบโตได้ 40% จากปีนี้
สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่น่าสนใจและไม่น่าสนใจลงทุน ในมุมมองของนักลงทุนแต่ละจากการสำรวจในครั้งนี้
ด้าน อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยว่า จากการสำรวจความเห็นของนักลงทุนโดยภาพรวมเชื่อว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่นเดียวกับบอนด์ยีลด์ 5 ปี และ 10 ปี ที่ไม่น่าจะเปลี่ยนแปลงมากนัก
ในขณะที่สถิติการออกหุ้นกู้ของภาคเอกชนในปีนี้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด จากปีก่อนที่ผ่านไป 11 เดือน มูลค่าการออกหุ้นกู้อยู่ที่ราว 1 ล้านล้านบาท ส่วนปีนี้ลดลง 40% มาอยู่ที่ 6.76 แสนล้านบาท โดยจะเห็นว่าต้นทุนในการออกหุ้นกู้ของเอกชน โดยเฉพาะเรตติ้ง BBB ที่เพิ่มสูงขึ้น อาทิ หุ้นกู้อายุ 3 ปี ซึ่งต้นทุนเพิ่มจาก 3.88% เมื่อปีก่อน เป็น 4.41% ในปีนี้
ส่วนหุ้นกู้เรตติ้งสูง เช่น ระดับ AAA หากออกหุ้นกู้ 3 ปี ต้นทุนกลับลดลงจาก 1.7% มาเป็น 1.35% สะท้อนว่านักลงทุนค่อนข้างระมัดระวังในการลงทุนมากขึ้น
ด้าน พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ในปี 2564 ประเมินว่าเศรษฐกิจไทย (GDP) จะขยายตัวได้ 3.5-4.5% จากปีนี้ทั้งปีที่คาดว่าจะติดลบ 6% โดยหลักถูกกดดันจากรายได้การท่องเที่ยว ซึ่งคิดเป็น 11-12% ของ GDP ส่วนการเติบโตในปีหน้าตั้งอยู่บนสมมติฐานของจำนวนนักท่องเที่ยว 5 ล้านคน และคาดว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 จะกระจายได้เร็วสุดในไทยช่วงเดือนพฤษภาคม 2564
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล