×

FETCO ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึงคลังครั้งแรก ย้ำจุดยืนค้านเก็บภาษีขายหุ้น

05.05.2022
  • LOADING...
FETCO

สภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง รมว.คลัง เป็นครั้งแรก เพื่อย้ำจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีขายหุ้น หลังจากก่อนหน้านี้เข้าหารือร่วมกับคลังแล้ว 2 ครั้ง แต่ไม่เคยร่างจดหมายเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมแจกแจง 5 ข้อเสีย ฉุดรั้งการพัฒนาของตลาดทุนไทย 

 

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO เปิดเผยว่า ช่วงเช้าวันนี้ (5 พฤษภาคม) ได้ยื่นจดหมายเปิดผนึกส่งไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เรื่องความเห็นเกี่ยวกับการเรียกเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อย้ำจุดยืนของ FETCO ที่ยังคงไม่เห็นด้วยกับการจัดเก็บภาษีการขายหุ้น 

 

โดยในจดหมายดังกล่าวระบุว่า ตามที่ภาครัฐมีแนวคิดเรียกเก็บภาษีการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ โดยจะจัดเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ 0.1% ของมูลค่าขายตั้งแต่บาทแรก นั้น สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ในฐานะผู้แทนองค์กรในตลาดทุนขอเสนอความคิดเห็นและข้อเสนอต่อแนวทางการจัดเก็บภาษีที่เหมาะสมสำหรับตลาดทุน ดังนี้

 

  1. FETCO ไม่เห็นด้วยที่จะมีการเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายหลักทรัพย์ เนื่องจากจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสภาพคล่องของตลาด เป็นภาระและส่งผลกระทบต่อการซื้อขาย รวมถึงด้อยค่าหลักทรัพย์ที่ผู้ถือหุ้นถือครองอยู่ โดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนรายย่อยกว่า 2 ล้านคนที่ลงทุนทางตรงในตลาดหลักทรัพย์ และอีก 17 ล้านคนที่ลงทุนทางอ้อมผ่านกองทุนรวมและกองทุนสวัสดิการต่างๆ รวมถึงนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนต่างประเทศ 

 

ทั้งนี้ จากการศึกษาในต่างประเทศพบว่าการจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะส่งผลให้ประชาชนต้องออมเพิ่มขึ้นอีก 2-3 ปี เพื่อให้มีเงินเพียงพอในยามเกษียณ

 

  1. ภาระภาษีที่เพิ่มขึ้นจะเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสำหรับ Market Makers (MM) ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ตลาดทุนใหม่ๆ โดยเฉพาะ Derivative Warrant และ Single Stock Futures ซึ่งอ้างอิงหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ อันจะส่งผลต่อการพัฒนานวัตกรรมและขีดความสามารถในการแข่งขันของตลาดทุนไทยในเวทีโลก

 

  1. ตลาดหลักทรัพย์ในประเทศที่พัฒนาแล้ว หากจัดเก็บภาษีจะนิยมให้การยกเว้นแก่กลุ่ม MM เช่น ฮ่องกง, อังกฤษ, ฝรั่งเศส, อิตาลี, สเปน และกลุ่มกองทุนรวม, กองทุนบานาญ, กองทุนสวัสดิการ เช่น อิตาลี, สวิตเซอร์แลนด์, เบลเยียม, ไอซ์แลนด์ เพื่อลดผลกระทบต่อการออมการลงทุนของประชาชนในวงกว้างและต่อการพัฒนาเชิงนวัตกรรมของตลาดหลักทรัพย์ในประเทศ 

 

ทั้งนี้ ในกรณีของไทย นักลงทุนทั้ง 2 กลุ่มทำธุรกรรมขายรวมกัน 12-17% ของมูลค่าขายทั้งหมดในตลาด (สถาบันในประเทศ 7% และ MM 5-10%) ดังนั้น การให้ยกเว้นภาษีต่อไปถือว่าคุ้มค่า หากเปรียบเทียบเม็ดเงินภาษีดังกล่าวกับผลประโยชน์ในวงกว้างต่อประชาชนและการพัฒนาศักยภาพของตลาดหลักทรัพย์ไทยในระยะยาว

 

  1. อัตราภาษีธุรกิจเฉพาะ 0.1% ถูกกำหนดขึ้นตั้งแต่ปี 2534 เมื่ออัตราคอมมิชชันอยู่ที่ระดับ 0.5% อย่างไรก็ดี จากสภาวะการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศที่มีมากขึ้น อัตราคอมมิชชันจึงลดลงเหลือเพียง 0.08% ในปัจจุบัน 

 

ดังนั้น มูลค่าภาษีที่จัดเก็บตามอัตราภาษีที่ 0.1% และเมื่อรวมภาษี ท้องถิ่นอีก 0.01% เป็น 0.11% จะสูงถึง 0.7 เท่าของมูลค่าค่าธรรมเนียมการซื้อขายที่จัดเก็บในปัจจุบัน จึงจะส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อขายอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะในภาวะที่ตลาดทุนทั่วโลกมีความผันผวนสูงจากสถานการณ์โควิดและสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน รวมทั้งการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ส่งผลให้ดัชนีหุ้นทั่วโลก อัตราแลกเปลี่ยน และเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศมีความผันผวนมาก การจัดเก็บภาษีดังกล่าวจะเป็นการตอกย้าความผันผวนดังกล่าว

 

  1. ต้นทุนการระดมทุน (Cost of Capital) ที่สูงขึ้นเมื่อสภาพคล่องในตลาดลดลงจะทำให้บริษัทจดทะเบียนชะลอหรือลดการลงทุนขยายธุรกิจ มีกำไรลดลง และท้ายที่สุด Productivity และ GDP ของประเทศ รวมถึงภาษีนิติบุคคลที่บริษัทจ่ายได้จะลดลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ผลเสียจะกระทบแรงกับกลุ่มบริษัทขนาดกลางและเล็กที่มีทางเลือกของแหล่งเงินทุนที่จำกัดมากอยู่แล้วในปัจจุบัน

 

“ที่ผ่านมา เราไม่เคยทำเป็นหนังสือที่เป็นลายลักษณ์อักษร โดยการหารือ 2 ครั้งก่อนหน้านี้เป็นการพูดคุยมากกว่า จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้จึงเป็นครั้งแรก เราทำเป็นเหมือนบทสรุปส่งไปยืนยันความคิด ก็หวังว่าคลังจะทบทวนนโยบายที่กำลังจะทำ เพราะผลเสียมากกว่าเยอะ” ไพบูลย์กล่าว 

 

ไพบูลย์กล่าวเพิ่มว่า ไม่ได้กำหนดว่าจะต้องติดตามฟีดแบ็กจากทางคลังแต่อย่างใด เพียงแค่ต้องการยื่นจดหมายเปิดผนึกไปเท่านั้น ซึ่งถ้าคลังติดต่อมาอีกทีก็ยินดีเข้าไปหารือ อย่างไรก็ตาม หากทางคลังยืนกรานจะเดินหน้าเก็บภาษีขายหุ้น เราในฐานะผู้ปฏิบัติตามก็ต้องทำตามนั้น

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X