×

อานิสงส์เปิดเมือง! FETCO เผยนักลงทุนมองหุ้นกลุ่มท่องเที่ยวเด่นสุดในอีก 3 เดือนข้างหน้า

08.06.2022
  • LOADING...
FETCO

จากการสำรวจความเชื่อมั่นนักลงทุนสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ในเดือนพฤษภาคม 2565 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า อยู่ในเกณฑ์ทรงตัว ที่ระดับ 83.91 ลดลง 12.1% จากเดือนก่อนหน้า เป็นความเชื่อมั่นที่อยู่ในเกณฑ์ทรงตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน 

 

กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่า นักลงทุนมองว่าการฟื้นต้วของภาคท่องเที่ยวจะเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ นโยบายการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รองลงมาคือความกังวลต่อสถานการณ์โควิดที่อาจระบาดอีกครั้งหลังรัฐบาลเปิดประเทศ และความกังวลต่อสถานการณ์ขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน

 

ทั้งนี้ หมวดธุรกิจที่นักลงทุนมองว่าน่าสนใจที่สุด คือหมวดท่องเที่ยวและสันทนาการ (TOURISM) ขณะที่หมวดที่ไม่น่าสนใจที่สุดคือแฟชั่น (FASHION) และหากพิจารณาความเห็นของนักลงทุนแยกเป็นรายกลุ่ม พบว่านักลงทุนบุคคลและสถาบันในประเทศมีความเชื่อมั่นทรงตัว ในขณะที่นักลงทุนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และต่างประเทศมีความเชื่อมั่นในระดับซบเซา

 

ในช่วงครึ่งแรกของเดือนพฤษภาคม 2565 ดัชนี SET ปรับตัวลดลงตามตลาดโลก จากความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ ซึ่งส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงความกังวลต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลกที่ช้ากว่าคาดการณ์ไว้ 

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงครึ่งเดือนหลัง ตลาดทุนไทยปรับตัวได้ดีขึ้น จากการประกาศผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนไทยที่ออกมาดีกว่าคาด ความคาดหวังต่อการฟื้นตัวต่อภาคท่องเที่ยวหลังรัฐบาลผ่อนคลายนโยบาย และนักลงทุนต่างชาติยังซื้อสุทธิต่อเนื่อง โดยในเดือนพฤษภาคมมีมูลค่าซื้อสุทธิ 20,938 ล้านบาท และซื้อสุทธิสะสมตั้งแต่ต้นปี 139,058 ล้านบาท ส่งผลให้ดัช SET ปิดที่ 1,663.41 จุด ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม 2565 ปรับตัวลดลงเล็กน้อย 0.2% จากเดือนก่อนหน้า

 

สำหรับปัจจัยต่างประเทศที่ต้องติดตาม ได้แก่ วิกฤตการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจ (Geopolitical Crisis) รวมถึงสถานการณ์รัสเซียและยูเครนที่ยังคงยืดเยื้อ วิกฤตพลังงานซึ่งส่งผลกระทบให้เงินเฟ้อสูงในหลายประเทศ วิกฤตขาดแคลนอาหารโลก แนวทางการรับมือกับเงินเฟ้อของ Fed รวมถึงติดตามนโยบาย Zero-COVID ของรัฐบาลจีน ซึ่งกระทบต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนอย่างมาก
 

ส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ แนวโน้มนโยบายการเงินของ ธปท. ที่อาจปรับขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้น มาตรการของภาครัฐในการบรรเทาภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น และการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวจากการเปิดประเทศเต็มรูปแบบในเดือนมิถุนายนนี้

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X