ผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนปรับตัวลงสู่เกณฑ์ซบเซาเป็นครั้งแรกรอบ 9 เดือน นักลงทุนคาดหวังแผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์โควิดและฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่กังวลกับสถานการณ์ระบาดของโควิดและความขัดแย้งระหว่างประเทศ
ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนกรกฎาคม 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ตุลาคม 2564) อยู่ในเกณฑ์ ‘ซบเซา’ (ช่วงค่าดัชนี 40-79) ปรับตัวลดลง 39.3% จากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 64.37
ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของโควิดระลอกปัจจุบันที่รุนแรงขึ้น รองลงมาคือความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ
ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือแผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์โควิด
โดยหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุดคือ หมวดชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (ETRON) หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุดคือ หมวดแฟชั่น (FASHION)
ผลสำรวจ ณ เดือนกรกฎาคม 2564 รายกลุ่มนักลงทุนพบว่า ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับตัวลดลง 40.1% อยู่ที่ระดับ 65.79 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับตัวลดลง 40% อยู่ที่ระดับ 50.00 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวลดลง 55.5% อยู่ที่ระดับ 57.89 และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับตัวลดลง 33.3% อยู่ระดับ 66.67 ซึ่งเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือนที่ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มลดลงมาอยู่ระดับซบเซา
ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2564 สถานการณ์โรคระบาดโควิดในประเทศที่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่และผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นมาก รวมถึงความไม่ชัดเจนของการจัดหาและกระจายฉีดวัคซีน เป็นปัจจัยหลักที่กดดันต่อการเคลื่อนไหวของ SET Index ตลอดทั้งเดือน และปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของเดือน หลังจากมีการออกมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการระบาดของโควิด และค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบให้กระแสเงินลงทุนของกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศทยอยไหลออกจากตลาดหุ้นไทยกว่า 1.77 หมื่นล้านบาทในเดือนกรกฎาคม
อย่างไรก็ตาม ตลาดทุนไทยยังได้แรงหนุนจากปัจจัยภายใน อาทิ การประกาศมาตรการเยียวยากลุ่มแรงงานและผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ในพื้นที่ 10 จังหวัดสีแดงเข้ม และมาตรการลดค่าไฟฟ้าและน้ำประปา วงเงินรวม 4.2 หมื่นล้านบาทจากรัฐบาล อีกทั้งปัจจัยภายนอก เช่น การประกาศคงดอกเบี้ยนโยบายของ Fed และ ECB เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจท่ามกลางความเสี่ยงที่ยังมีอยู่สูง ส่งผลให้ SET Index ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2564 ปิดที่ 1,521.92 จุด ปรับตัวลดลง 4.15% จากเดือนก่อนหน้า
“ตอนนี้เท่าที่สอบถามจากบริษัทหลักทรัพย์หลายๆ แห่ง ยังคงเชื่อว่าสิ้นปีดัชนีหุ้นไทยน่าจะถึงระดับ 1,600 จุดได้ โดยมีโอกาสที่จะได้เห็นเงินทุนต่างชาติไหลกลับเข้าตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง หากรัฐบาลสามารถจัดหาและกระจายวัคซีนได้ตามเป้าหมายที่เคยระบุไว้ หรือฉีดวัคซีนได้ราว 4-5 แสนโดสต่อวัน รวมถึงรัฐบาลต้องผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่สามารถฟื้นกำลังซื้อในประเทศได้อย่างแท้จริง” ไพบูลย์กล่าว
แนวโน้มเงินลงทุนต่างชาติยังเป็นประเด็นที่น่ากังวล โดยข้อมูลล่าสุดของเงินที่เข้าสู่กองทุนรวม FIF พบว่ามีสูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท ซึ่งสูงสุดเป็นประวัติการณ์ และเมื่อแยกเฉพาะเงินที่ไหลเข้ากองทุนหุ้นต่างประเทศในปี 2021 มีสูงถึง 5.8 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัวจากปี 2019 ที่อยู่ในระดับ 2.2 แสนล้านบาท ซึ่งหากรัฐบาลไม่สามารถฟื้นความเชื่อมั่นได้ก็มีโอกาสน้อยมากที่เม็ดเงินต่างชาติจะกลับเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย
ปัจจัยในประเทศที่อาจกระทบต่อการลงทุน ได้แก่ การบริโภคภาคเอกชนที่อาจจะถูกกระทบอย่างหนักจากมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดขึ้น สภาวการณ์ของเศรษฐกิจไทยที่น่าจะฟื้นตัวได้ยากเนื่องจากแผนการเปิดประเทศเต็มรูปแบบภายในปีนี้ตามเป้าหมายรัฐบาลที่อาจจะไม่เป็นไปตามแผน ดังนั้นแนวทางการกระตุ้นการดำเนินนโยบายการคลังของภาครัฐเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่น่าติดตามซึ่งจะส่งผลต่อการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
สำหรับปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตามต่อจากนี้ ได้แก่ การประชุม Jackson Hole Symposium วันที่ 26-28 สิงหาคม ซึ่ง Fed อาจมีการส่งสัญญาณการทำ QE Tapering การควบคุมและการออกกฎระเบียบจากทางการจีน ซึ่งกระทบต่อ Sentiment ในการลงทุนหุ้นจีนโดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ความขัดแย้งใน OPEC ซึ่งอาจส่งผลต่อความผันผวนของราคาน้ำมันโลก
อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนสิงหาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 47 ไม่เปลี่ยนแปลงจากครั้งที่แล้ว และยังอยู่ในเกณฑ์ ‘ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)’ สะท้อนมุมมองของตลาดที่คาดว่าการประชุม กนง. ในเดือนสิงหาคมนี้ กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5% เนื่องจากเศรษฐกิจมีแนวโน้มฟื้นตัวช้าลงจากการระบาดของโควิด และ ธปท. ได้กระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจ SMEs และหนี้ครัวเรือน ความจำเป็นในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยจึงลดลง
ดัชนีคาดการณ์อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล 5 ปี และ 10 ปี ณ สิ้นไตรมาส 3 ยังคงอยู่ในเกณฑ์ ‘ไม่เปลี่ยนแปลง (Unchanged)’ โดยดัชนีอยู่ในระดับเดียวกับครั้งที่แล้ว จากการมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากขึ้นคาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนอาจปรับตัวสูงขึ้น ในขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามบางส่วนคาดว่าอัตราผลตอบแทนอาจปรับลดลง สะท้อนมุมมองของตลาดที่ว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตร 5 ปี และ 10 ปีน่าจะไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับ 0.82% และ 1.66% ตามลำดับ ณ วันที่ทำการสำรวจ (16 กรกฎาคม 2564) โดยปัจจัยที่มีผลต่อการคาดการณ์ ได้แก่ อุปสงค์และอุปทานในตลาดตราสารหนี้ ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลก รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศเป็นหลัก