ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือนสิงหาคม 2562 สำรวจช่วงวันที่ 10-25 กรกฎาคม 2562 ว่า
“ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่ 2 อยู่ในเกณฑ์ร้อนแรง (Bullish) เป็นเดือนแรกในรอบ 5 เดือน โดยผลสำรวจพบว่า เงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศและแนวโน้มนโยบายทางการเงินสหรัฐฯ เป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ขณะที่ความขัดแย้งสงครามทางการค้าและแนวโน้มผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน เป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุน ขณะที่ดัชนีหลักทรัพย์ที่ลดลงในช่วงนี้มาจากปัจจัยต่างประเทศในทิศทางการเจรจาทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่มีแนวโน้มพลิกกลับไปมา กระทบต่อการลงทุนในระยะสั้นมีความผันผวนสูง”
ในช่วงเดือนกรกฎาคม ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ปรับตัวเคลื่อนไหว Sideway ในช่วง 1706-1748 จุด จากระดับสูงสุดช่วงต้นเดือนเคลื่อนไหวลดลงสลับกับการพักตัว โดยดัชนีมาอยู่ระดับต่ำสุดของเดือนที่ 1,706 จุด ในช่วงปลายเดือน
โดยทิศทางการลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุดคือการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศจากนักลงทุนต่างประเทศเข้าซื้อสุทธิในตลาดหุ้น รองลงมาคือนโยบายทางการเงินของสหรัฐฯ จากการส่งสัญญาณการลดอัตราดอกเบี้ยในช่วงครึ่งปีหลัง 2562 และการคาดหวังนโยบายภาครัฐ ภายหลังการแถลงนโยบายต่อรัฐสภา
ขณะที่สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศโดยการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนยังมีการเปลี่ยนแปลงไม่สามารถคาดการณ์ได้ เป็นปัจจัยฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด รองลงมาคือความกังวลผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว การส่งออกที่ลดลงและค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เป็นปัจจัยที่นักลงทุนจับตามอง
สำหรับปัจจัยทางเศรษฐกิจโลกที่ต้องติดตามได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวท่ามกลางปัญหาทางการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ จากการประกาศปรับขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ 10% ในสินค้านำเข้าจากจีนในส่วนที่เหลือ และการงดนำเข้าสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯ ของจีน ค่าเงินหยวนที่อ่อนค่ามาที่ 7 หยวนต่อดอลลาร์ นโยบายทางการเงินของธนาคารกลางทั่วโลก ภายหลังธนาคารกลางสหรัฐประกาศลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% เป็นครั้งแรกในรอบ 11 ปี แนวโน้มการเก็บภาษีนำเข้าภาษีรถยนต์ของสหรัฐฯ ที่ส่งผลต่อยุโรปและญี่ปุ่น การเจรจา Brexit ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีอังกฤษท่านใหม่ที่ประกาศออกจากอียูในวันที่ 31 ตุลาคม 2562 ไม่ว่าสามารถได้ข้อตกลงหรือไม่ก็ตาม สัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติมของอียูจากปัจจัยเงินเฟ้อต่ำกว่าเป้าหมาย 2% ทิศทางนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนจากตัวเลข GDP ไตรมาส 2 ปี 2562 อยู่ที่ 6.2% ต่ำสุดในรอบ 30 ปี รวมถึงปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ในตะวันออกกลาง เป็นปัจจัยที่นักลงทุนจับตามอง
อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนสิงหาคม 2562 ว่า ผลจากดัชนีคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับ 1.75% ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี และอายุ 10 ปีมีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงในอีก 7 สัปดาห์ข้างหน้านับจากวันที่ทำการสำรวจ (19 ก.ค.) เนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยและอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงิน
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า