×

‘กอบศักดิ์’ ฉายภาพโอกาสลงทุนในปี 2567 แนะโฟกัสบริษัทที่มุ่งปรับตัวรับ The Great Disruption 4 ด้าน

10.01.2024
  • LOADING...

กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) กล่าวว่า ปี 2566 ดัชนี SET ของตลาดหุ้นไทยติดลบ 15.2% จากปี 2565 สวนทางกับตลาดหุ้นใหญ่ทั่วโลกอย่างดัชนี Nasdaq ของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นถึง 43%  

 

ปัจจัยหลักที่กดดันหุ้นไทยคือกำไรของบริษัทจดทะเบียนไทยติดลบไปประมาณ 12% ทำให้ราคาหุ้นปรับลดลงด้วย ส่วนปี 2565 ที่หุ้นไทยเคยแข็งแกร่งกว่าตลาดหุ้นส่วนใหญ่ เพราะเราเป็นเหมือน Safe Haven ในยามที่ตลาดหุ้นโลกผันผวน แต่เมื่อทั่วโลกกลับมาดี ทำให้เงินทุนไหลออกจาก Safe Haven ทำให้เงินทุนต่างชาติไหลออกจากหุ้นไทยราว 2 แสนล้านบาท เมื่อปีก่อน หลังจากที่เคยไหลเข้าราว 2 แสนล้านบาท เมื่อปี 2565 

 

บริบทการลงทุนปี 2567 

 

จากมุมมองส่วนตัวยังเป็นเช่นเดิม คือเรากำลังเข้าสู่ช่วงสุดท้ายของ Perfect Storm 

 

ช่วงแรก ปี 2565 นักลงทุนเทขายสินทรัพย์เสี่ยง ทำให้ตลาดหุ้นใหญ่ปรับตัวลดลงแรง 

 

ช่วงที่สอง Fed ขึ้นดอกเบี้ยสู้กับเงินเฟ้อ จนเงินเฟ้อเริ่มลดลง 

 

ช่วงที่สาม การชะลอตัวของเศรษฐกิจ และเริ่มเห็นผลชัดในครึ่งปีแรกนี้ เกิดวิกฤตในบางจุด ก่อนที่เงินเฟ้อจะเข้าสู่ระดับ 2% 

 

ช่วงที่สี่ Fed กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดดอกเบี้ยช่วงปลายปีนี้ 

 

เงินเฟ้อในสหรัฐฯ ที่เคยพุ่งขึ้นไปถึง 9% ปัจจุบันลดลงมาเหลือ 3% ซึ่งใกล้กับช่วงปี 2561 ทำให้ Fed ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 5.5% ในการประชุมครั้งสุดท้ายของปี 2566 

 

“ที่ผ่านมาหลังจากอัตราดอกเบี้ยพีคแล้ว Fed มักจะคงดอกเบี้ยไว้ 3-5 ไตรมาส ซึ่งครั้งนี้น่าจะคล้ายกับปี 2549-2550 ที่ Fed จะคงดอกเบี้ยไว้ระยะหนึ่ง เพื่อให้เชื้อต่างๆ ของเงินเฟ้อหายไป Fed จะไม่เขย่าตลาดอีกต่อไป และน่าจะเห็นการประชุม Fed ที่น่าเบื่อไปอีก 8 เดือน”​ 

 

ปัจจัยบวกที่กำลังจะเกิดขึ้น คือการเข้าสู่ช่วงของการกระตุ้นเศรษฐกิจพร้อมๆ กันของธนาคารกลางหลายแห่งทั่วโลก ตั้งแต่ช่วงกลางปีเป็นต้นไป ทำให้ทุกคนเห็นว่าการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจกำลังจะเกิดขึ้น และปัญหาเงินเฟ้อได้จบลงไปแล้ว 

 

โดยปีนี้เราเริ่มเห็นบางประเทศลดดอกเบี้ยบ้างแล้ว เช่น สาธารณรัฐเช็กที่เริ่มลดดอกเบี้ยตั้งแต่ปลายปี 2566 

 

โอกาสการลงทุนในปี 2567 และต่อจากนี้

 

กอบศักดิ์นิยามโอกาสในช่วงถัดไป ซึ่งจะเป็น ‘Next Normal’ โดยเรียกว่า Decade of the Great Disruption ซึ่งจะเห็นใน 4 ส่วน 

 

  1. เทคโนโลยี – ในแง่ของการลงทุน ต้องดูว่าบริษัทนั้นๆ พูดเรื่องของดิสรัปชัน หรือการปรับตัวเพื่อรับกับเทรนด์เทคโนโลยีมากน้อยเพียงใด
  2. เศรษฐกิจ – จะกระทบต่อทุกคน เพราะศูนย์กลางของเศรษฐกิจโลกจะเปลี่ยนมาสู่เอเชีย การส่งออกสู่เอเชียจะเพิ่มสูงขึ้น แทนที่สหรัฐฯ และยุโรป เราต้องจับตาดูบริษัทที่ขยายออกไปยังต่างประเทศ 
  3. ภูมิรัฐศาสตร์ – วันนี้มีสงครามในหลายพื้นที่ การเมืองโลกจะเข้าสู่ยุคใหม่ แต่ละประเทศเผชิญหน้ากันมากขึ้น 
  4. สภาพภูมิอากาศ – จาก Global Warming มาสู่ Global Boiling ทำให้แต่ละประเทศมีมาตรการที่จริงจังมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการประชุมในระดับนานาชาติ หรือมาตรการ CBAM ของยุโรป หากบริษัทใดที่ส่งออกสินค้าไม่สนใจเรื่องนี้ พูดได้ว่าอนาคตของบริษัทนั้นริบหรี่ 

 

“บริษัทใดที่คิดเกี่ยวกับ 4 ธีมนี้ ลงทุน ส่วนบริษัทใดที่ไม่คิด ก็ถามเขาว่าจะคิดเมื่อไร” กอบศักดิ์กล่าว 

 

ความท้าทายระยะสั้นสำหรับปี 2567 

 

การชะลอตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจโลก โดย IMF คาดการณ์ว่าปี 2567 การเติบโตของเศรษฐกิจโลกจะต่ำที่สุดในรอบ 3 ปีที่ระดับ 2.9% แต่ในฝั่งเอเชียและตลาดเกิดใหม่ยังเห็นการเติบโตที่ดีในระดับ 4.8% 

 

วิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีนเป็นปัญหาที่ลุกลามมากว่า 1 ปี ทำให้บริษัทอสังหาอันดับ 1 อย่าง Country Garden ซึ่งจะมีหุ้นกู้ครบกำหนดชำระวันที่ 27 มกราคม 2567 โดยหุ้นกู้ชุดดังกล่าวเคยมีมูลค่าหน้าตั๋วที่ระดับ 105 หยวน ลงมาเหลือเพียง 8 หยวน ลดลงไป 92% สะท้อนว่านักลงทุนเชื่อว่ามีแนวโน้มจะไม่ได้รับเงินคืนสูงมาก ขณะที่ราคาหุ้น Country Garden ที่เคยสูงถึง 17.5 ดอลลาร์ฮ่องกง ลดลงมาเหลือเพียง 0.7 ดอลลาร์ฮ่องกง 

 

ปัจจัยถัดมาคือสงครามในตะวันออกกลาง ซึ่งกระทบต่อเส้นทางการเดินเรือทั่วโลก และอีกประเด็นเสี่ยงที่สำคัญคือวิกฤตเศรษฐกิจของตลาดเกิดใหม่ อย่างในอาร์เจนตินาและ สปป.ลาว ซึ่งค่าเงินอ่อนค่าอย่างมาก หรือวิกฤตหนี้ในแอฟริกา เช่น เอธิโอเปีย 

 

แนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 2567 

 

กอบศักดิ์ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ราว 3-4% ขึ้นอยู่กับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐว่าจะทำได้มากน้อยเพียงใด ในแง่บวก ดูเหมือนว่าการส่งออกจะเริ่มทรงตัวได้และพลิกกลับมาเป็นบวก หลังจากลดลงราว 20% ขณะที่การบริโภคและการลงทุนเริ่มทรงตัว 

 

สิ่งที่มีปัญหาคือภาคการผลิต ปัจจุบันลดลงราว 10% จากช่วงก่อนโควิด เนื่องจากการไหลเข้ามาของสินค้าจีนที่ปรับราคาขายลง 

 

ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวยังน่าจะเติบโตได้ดี ซึ่งปีที่ผ่านมาน่าจะมีนักท่องเที่ยวเข้ามา 28 ล้านคน ส่วนปีนี้น่าจะเห็นตัวเลขในระดับ 35 ล้านคน เพียงแต่อัตราการเพิ่มจะชะลอตัวลงจากปีก่อน ทำให้แรงส่งจากภาคท่องเที่ยวต่อเศรษฐกิจจะไม่ได้มากเท่าเดิม 

 

ส่วนการลงทุนทางตรง (FDI) ยังเห็นการเพิ่มขึ้น หลังจากปี 2566 มีมูลค่าโครงการรวมกันสูงถึง 5 แสนล้านบาท 

 

ผลสำรวจ FETCO ชี้ นักลงทุนเชื่อมั่นหุ้นไทยมากขึ้น

 

กอบศักดิ์เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) จากการสำรวจในเดือนธันวาคม 2566 (สำรวจระหว่างวันที่ 20-31 ธันวาคม 2566) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 137.00 ปรับขึ้น 38.9% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ในเกณฑ์ ‘ร้อนแรง’ 

 

โดยนักลงทุนมองว่า การไหลเข้าของเงินทุนเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ในขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ การถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ รองลงมาคือการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และการไหลออกของเงินทุน

 

โดยความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลและกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์อยู่ในเกณฑ์ ‘ทรงตัว’ กลุ่มนักลงทุนต่างประเทศอยู่ในเกณฑ์ ‘ร้อนแรง’ ในขณะที่กลุ่มนักลงทุนสถาบันอยู่ในเกณฑ์ ‘ร้อนแรงอย่างมาก’ ขณะที่หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุดคือ หมวดธนาคาร (BANK) ส่วนหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุดคือ หมวดปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X