×

FETCO เผย ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนเข้าเกณฑ์ ‘ร้อนแรง’ ปีนี้ลุ้นพุ่งแตะ 1,460 จุด รับอานิสงส์รับแรงหนุนเม็ดเงินกองทุนวายุภักษ์ – Thai ESG เข้ารวม 2 แสนล้านบาท – การเมืองคลี่คลาย

10.09.2024
  • LOADING...
FETCO

นักลงทุนเชื่อมั่นตลาดหุ้นไทยเข้าเกณฑ์ ‘ร้อนแรง’ ได้แรงหนุนเงินกองทุนวายุภักษ์ – Thai ESG เข้ารวม 2 แสนล้านบาท – การเมืองคลี่คลาย รัฐบาลเดิมบริหารต่อ ทำนโยบายเดิมต่อเนื่อง ด้าน ‘พิชัย’ ชี้ นักลงทุนเชื่อมั่นหลังตั้ง ครม. ได้เร็ว

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ผลสำรวจในเดือนสิงหาคม 2567 (สำรวจระหว่างวันที่ 20-31 สิงหาคม 2567) พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 132.51 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ในเกณฑ์ ‘ร้อนแรง’ 

 

โดยนักลงทุนมองว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐเป็นปัจจัยหนุนความเชื่อมั่นมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ และสัญญาณบวกจากความชัดเจนของการเมืองในประเทศ ในขณะที่ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศ รองลงมาคือการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศ และภาวะเงินเฟ้อ 

 

ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน สำรวจในเดือนสิงหาคม 2567 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้

 

  • ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (พฤศจิกายน 2567) อยู่ในเกณฑ์ ‘ร้อนแรง’ (ช่วงค่าดัชนี 120-159) ที่ระดับ 132.51
  • ความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มนักลงทุนบุคคล กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ กลุ่มนักลงทุนสถาบัน และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ อยู่ในเกณฑ์ ‘ร้อนแรง’
  • หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดพาณิชย์ (COMM)
  • หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดยานยนต์ (AUTO)
  • ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
  • ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมืองในประเทศ

 

โดยผลสำรวจ ณ เดือนสิงหาคม 2567 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่า ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลปรับเพิ่ม 73.6% มาอยู่ที่ระดับ 144.26 กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับเพิ่ม 28.4% มาอยู่ที่ระดับ 144.44 กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับเพิ่ม 32.0% มาอยู่ที่ระดับ 120.00 และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศปรับเพิ่ม 275% อยู่ที่ระดับ 125

 

สำหรับในช่วงครึ่งแรกของเดือนสิงหาคม 2567 SET Index มีความผันผวนและปรับตัวลดลงต่ำกว่า 1,300 จุด จากความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศจากผลการตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญต่อการยุบพรรคก้าวไกลและการถอดถอนนายกรัฐมนตรี ถึงแม้ว่าจะได้รับข่าวดีจากการประกาศ GDP ไทยในไตรมาส 2/67 เติบโตสูงกว่าคาด โดยขยายตัวที่ 2.3% ซึ่งได้แรงหนุนจากภาคการท่องเที่ยว การบริโภคภาคเอกชน และการส่งออก อย่างไรก็ตาม SET Index ในช่วงครึ่งเดือนหลังปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากการเมืองเริ่มมีความชัดเจน 

 

โดยมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนที่ 31 และออกแนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐในการแจกเงินสด 10,000 บาท แก่กลุ่มเปราะบางในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต รวมถึงท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ต่อการลดดอกเบี้ย 

 

 

บรรยายภาพ: ผลสำรวจ FETCO Investor Confidence Index ในเดือนสิงหาคม 2567

 

‘กอบศักดิ์’ มองหุ้นไทยดีต่อเนื่อง รับเม็ดเงิน ‘วายุภักษ์’ – การเมืองคลี่คลาย

 

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวเพิ่มว่า ตลาดหุ้นไทยในระยะต่อไปยังมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง หนึ่งในปัจจัยสนับสนุนคือแรงซื้อของกองทุนวายุภักษ์ หนึ่ง ที่เตรียมเสนอขายหน่วยลงทุน ซึ่งคาดว่าได้รับการตอบรับที่ดีจากนักลงทุนรายย่อย เพราะให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดี โดยจะมีเงินลงทุนเข้ามาประมาณ 1.5 แสนล้านบาท 

 

รวมทั้งมีโอกาสที่จะมีเม็ดเงินลงทุนจากกองทุน Thai ESG ที่ปรับเงื่อนไขให้จูงใจเพิ่มขึ้น โดยสามารถนำไปลดหย่อนภาษีเพิ่มจาก 1 แสนบาท เป็น 3 แสนบาท ซึ่งคาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาประมาณ 6 หมื่นล้านบาท และเมื่อรวมเม็ดเงินลงทุนจากทั้งกองทุนวายุภักษ์ หนึ่ง กับกองทุน Thai ESG จะมีเม็ดเงินลงทุนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นรวมกันอีกราว 2 แสนล้านบาท 

 

และเมื่อประเมินจากพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย คาดว่าดัชนีหุ้นไทย (SET Index) มีโอกาสไปถึงระดับ 1,460 จุดได้ หลังข้อมูลจากสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) คาดว่า ณ สิ้นไตรมาส 3/67 SET Index จะอยู่ที่ระดับ 1,379 จุด แต่ตอนนี้ (9 กันยายน) กลับทะลุ 1,420 จุดแล้ว จึงประเมินปลายปีนี้ SET Index จะอยู่ที่ระดับ 1,462 จุด อย่างไรก็ตาม มุมมองเช่นนี้ประเมินจากสถานการณ์เดือนกรกฎาคม 2567 จึงอาจมีการคาดการณ์ดัชนีปีนี้ใหม่ 

 

นอกจากนี้ ยังได้รับแรงหนุนจากปัจจัยการเมืองของไทยที่คลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนได้ หลังจากจัดตั้งคณะรัฐมนตรีได้สำเร็จ อีกทั้งความต่อเนื่องของการขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ เนื่องจากยังเป็นรัฐบาลชุดเดิมที่เข้ามาบริหารประเทศ

 

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับเศรษฐกิจโลก ประเมินว่าในช่วง 2-3 ปีข้างหน้าจะเข้าสู่ช่วงการฟื้นตัวเฟสใหม่ (The Beginning of a New Phase of Economic Recovery) จึงเป็นช่วงที่นักลงทุนจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีการหรือกลยุทธ์การลงทุนใหม่อีกครั้ง หลังจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจต้องเผชิญกับปัญหา Perfect Storm โดยการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางทั่วโลกต้องปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อต่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นในช่วงที่ผ่านมา

 

ทั้งนี้ ประเมินว่าประเด็นที่สำคัญที่สุดในปัจจุบันคือ การใช้นโยบายการเงินเพื่อทำสงครามต่อสู้กับเงินเฟ้อของธนาคารกลางทั่วโลกกำลังใกล้จะจบแล้ว หลังจากแนวโน้มเงินเฟ้อทั่วโลกทั้งในอังกฤษ, ยุโรป และสหรัฐฯ ที่เคยขึ้นไปถึงระดับ 9-14% เริ่มมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องเข้าใกล้ระดับปกติ

 

ขณะที่ทิศทางดอกเบี้ยของโลกกำลังจะเข้าสู่แนวโน้มการปรับลดลงแบบพร้อมเพรียงกันในทุกตลาดทั่วโลก โดยขณะนี้เริ่มเห็นธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกเตรียมปรับลดดอกเบี้ย หรือบางแห่งเริ่มลดดอกเบี้ยไปแล้ว ทั้งธนาคารกลางในอเมริกาใต้, ธนาคารกลางยุโรป (ECB), ธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์ (SNB), ธนาคารกลางแคนาดา (BOC) รวมถึงธนาคารกลางเอเชียที่มีโอกาสลดดอกเบี้ย 

 

คาดปี 69 Fed หั่นดอกเบี้ยเหลือ 3.1%

 

อีกทั้งในการประชุมของ Fed วันที่ 17-18 กันยายนนี้ คาดว่าจะเริ่มปรับลดดอกเบี้ยลง ที่สำคัญยังคาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลา 1 ปี หรือ 1 ปี 6 เดือน หลังจากเริ่มลดดอกเบี้ยครั้งแรก ซึ่งยังต้องติดตามว่าการลดดอกเบี้ยของ Fed ต่อครั้งจะเป็นอัตรา 0.25% หรือ 0.50% โดยจากข้อมูล Fed’s Dot Plot ในปี 2567 ดอกเบี้ยมีโอกาสจะลดลงได้ 2 ครั้ง จบที่ 5.1% จากนั้นในปี 2568 จะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 4.1% และในปี 2569 จะลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.1% โดยมีรูปแบบการลดดอกเบี้ยในอัตรา 0.25% ต่อไตรมาส หรือลดลงประมาณ 1% ต่อปี 

 

“ปัจจัยดอกเบี้ยทั่วโลกที่มีแนวโน้มปรับลดลงในช่วง 2 ปีข้างหน้านี้ จะเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่พร้อมเพรียงกันทั่วโลก

โดยการฟื้นที่ดีขึ้นจะนำไปสู่เฟสใหม่ของเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวพร้อมกันทั่วโลก ซึ่งจะมีแรงกระตุ้นจากนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลก ซึ่งจะเป็นบวกต่อภาพบรรยากาศการลงทุนของตลาดสินทรัพย์ลงทุนทั่วโลก รวมถึงของไทย”

 

พร้อมทั้งประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปัจจุบันได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว สะท้อนจากดัชนี PMI ของหลายประเทศขนาดใหญ่ที่เริ่มฟื้นตัวขึ้น ทั้งยุโรป, สหราชอาณาจักร, สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ที่ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้ ประเมินว่าจากการที่เศรษฐกิจของโลกกำลังอยู่ในช่วงการฟื้นตัวในเฟสใหม่จะสนับสนุนต่อตลาดส่งออกทั่วโลกให้ขยายตัวดีขึ้น รวมทั้งการส่งออกของไทยที่จะได้ประโยชน์ด้วย ซึ่งคาดว่าเครื่องยนต์ส่งออกจะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของโลกในระยะถัดไป

 

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวต่อว่า แนวโน้มดอกเบี้ยที่กำลังปรับลดลงจะเกิดขึ้นท่ามกลางสภาพคล่องที่สูงของโลกจากมาตรการอัดฉีดสภาพคล่องของสหรัฐฯ โดยช่วงปีก่อนวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์มีการอัดฉีดสภาพคล่องวงเงิน 1 ล้านล้านดอลลาร์ โดยหลังจากวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ มีการทำ Quantitative Easing (QE) โดยทยอยปรับขึ้นมาเป็น 9 ล้านล้านดอลลาร์ ในช่วงโควิดระบาด ส่งผลผลักดันให้ตลาดหุ้นโลกเข้าสู่ขาขึ้น ซึ่งหลังโควิดคลี่คลายเริ่มมีการดูดสภาพคล่องออก แต่ปัจจุบันก็ยังมีสภาพคล่องอยู่ในระดับประมาณ 7 ล้านล้านดอลลาร์ ยังสูงกว่าภาวะปกติที่เคยอยู่ที่ระดับ 1 ล้านล้านดอลลาร์

 

จับตาเกิด Asset Inflation 

 

อย่างไรก็ดี จากสภาพคล่องที่ยังเหลืออยู่ในระบบที่สูงในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว จะมีผลบวกต่อสินทรัพย์ลงทุนมากกว่าในช่วงที่เศรษฐกิจโลกซบเซา อีกทั้งในระยะต่อไปมีความท้าทายจากประเด็น Asset Inflation เนื่องจากปัจจุบันสภาพคล่องที่มีจำนวนมากในโลกจะแย่งเข้าซื้อสินทรัพย์จนส่งผลให้ราคาปรับขึ้นแรง ดังนั้นในระยะต่อไปจะเป็นปัจจัยกดดัน Fed หลังจากเริ่มดำเนินนโยบายในการลดดอกเบี้ย แต่อาจกระตุ้นให้เกิดความเสี่ยงภาวะฟองสบู่ในสินทรัพย์ลงทุน โดยถือเป็นปัจจัยที่ยังต้องติดตามต่อว่า Fed จะตัดสินใจจัดการในประเด็นดังกล่าวอย่างไร

 

ปัจจัยความท้าทายของเศรษฐกิจโลกในช่วงการฟื้นตัวเฟสใหม่)

 

‘พิชัย’ มองวอลุ่มหุ้นไทยทะลุ 1 แสนล้านต่อวัน เหตุนักลงทุนเชื่อมั่น

 

ด้าน พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวถึงมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไทยที่ทะลุ 1 แสนล้านบาทว่า มูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ที่สูงขึ้น เกิดจากความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มีต่อประเทศไทย ทั้งการจัดตั้งรัฐบาลที่รวดเร็ว และนโยบายต่างๆ ที่มีความชัดเจนตอบโจทย์ปัญหาของประเทศ

 

FETCO

พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

รวมทั้งที่ผ่านมารัฐบาลปรับกติกาการลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนต่างประเทศ ในการแก้ไขปัญหาเรื่อง Short Sell ซึ่งก็ทำได้ในระดับหนึ่ง รวมทั้งการจัดตั้งกองทุนใหม่ที่จะได้รับการตอบรับจากความเชื่อมั่นที่เพิ่มมากขึ้น ประกอบกับแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของโลกที่มีแนวโน้มเข้าสู่ขาลง จะส่งผลดีต่อตลาดทุน ทำให้วอลุ่มปรับเพิ่มขึ้นเยอะ ก็ไม่ได้เป็นข้อผิดสังเกตแต่อย่างใด 

 

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยจะต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าจะปรับปรุงแก้ไขเศรษฐกิจไทยอย่างไรบ้าง รวมทั้งบริษัทในตลาดหลักทรัพย์จะต้องดำเนินธุรกิจให้มีความเข้มแข็ง รองรับการแข่งขันในตลาดโลก

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X