×

‘เฟทโก้’ ลุ้นปีหน้าหุ้นไทยยืนเหนือ 1,800 จุด ภายใต้เงื่อนไขเปิดประเทศ ดันท่องเที่ยวฟื้น เศรษฐกิจโต 4% ส่วนปีนี้มองดัชนีระดับ 1,650 จุด เหลืออัปไซด์จำกัด

06.09.2021
  • LOADING...
เฟทโก้

FETCO เชื่อว่าหุ้นไทยปีนี้มีโอกาสที่ดัชนีจะปรับเพิ่มขึ้นถึงระดับ 1,800 จุด ได้ อานิสงส์จากเม็ดเงินต่างชาติที่ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง การฟื้นตัวของ GDP ปีหน้าที่คาดว่าจะเติบโตในระดับ 4% และการเร่งกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศช่วยหนุน ส่วนปีนี้มองหุ้นไทยเหลืออัปไซด์จากระดับ 1,650 จุดไม่มาก พร้อมประเมินหุ้นขนาดกลางและเล็ก ปรับเพิ่มขึ้นร้อนแรงเพราะมีสภาพคล่องเยอะจากนักลงทุนรายบุคคลเข้ามามากขึ้น

 

ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ FETCO กล่าวว่า แนวโน้มดัชนีหุ้นไทยปี 2565 มีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นไปแตะที่ระดับ 1,800 จุด ภายใต้สมมติฐานว่าภาคการท่องเที่ยวของประเทศไทยฟื้นตัวขึ้นจากนโยบายการเปิดประเทศ และการออกมาตราการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวของภาครัฐ รวมถึงการจัดหาวัคซีนและฉีดวัคซีนให้ได้เป็นไปตามแผน และการเติบโตของ GDP ในปี 2565 ซึ่งคาดว่าน่าจะเติบโตได้ราว 4% 

 

ส่วนดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปี 2564 เหลืออัปไซด์จากระดับ 1,650 จุดไม่มากนัก โดยยังมีปัจจัยหนุนจากการควบคุมสถานการณ์โควิดในประเทศ และการเร่งกระจายวัคซีนที่รัฐบาลทำได้ดีขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลให้ตัวเลขยอดติดเชื้อใหม่รายวันอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 13,000 คนได้ รวมถึงเม็ดเงินต่างชาติที่น่าจะไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นไทย และทำให้ตัวเลขลงทุนสุทธิรายเดือนกลับเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาส 4 แต่มีปัจจัยที่ต้องติดตามคือการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวของไทย ซึ่งมีผลต่อ GDP ค่อนข้างมาก 

 

ทั้งนี้ แนะนำให้รัฐบาลเร่งใช้เงินจาก พ.ร.ก.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อนำมากระตุ้นให้เกิดกำลังซื้อในประเทศ และให้เกิดการจ้างงานที่มากขึ้นจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครัฐ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศให้ฟื้นตัว

 

ส่วนประเด็นที่กลุ่มหุ้นขนาดกลางและเล็กในช่วงนี้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นร้อนแรง เพราะด้วยปัจจัยที่ภาวะอัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำ และสภาพคล่องกระแสเงินในระบบมีสูง ประกอบกับมีปริมาณนักลงทุนหน้าใหม่เข้าสู่ตลาดหุ้นมากขึ้น จึงทำให้เกิดกระแสการเก็งกำไรหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กมากขึ้น

 

ไพบูลย์กล่าวเพิ่มว่า สำหรับการแก้ไขปัญหาของหุ้นที่มีสัดส่วนการถือหุ้นของผู้ถือหุ้นรายย่อย (Free Float) ในระดับต่ำที่มีผลต่อดัชนีตลาดหุ้นไทยนั้น เชื่อว่าขณะนี้ทางตลาดหลักทรัพย์กำลังอยู่ระหว่างการปรับแก้ไขหลักเกณฑ์ดังกล่าว และมีข้อเสนอแนะว่า อาจจะใช้วิธีจัดตั้งดัชนีที่เกี่ยวข้องกับ Free Float ขึ้นมาใหม่เพื่อเป็น Benchmark ให้กับนักลงทุนตัดสินใจในการเข้าลงทุน

 

ทั้งนี้ FETCO ได้สำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) พบว่า ผลสำรวจในเดือนสิงหาคม 2564 ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 144.37 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 124.3% จากเกณฑ์ซบเซาเดือนก่อนมาอยู่ในเกณฑ์ ‘ร้อนแรง’ นักลงทุนคาดหวังแผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์โควิด เป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและเงินทุนไหลเข้า 

 

สำหรับปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ สถานการณ์ระบาดของโควิดระลอกปัจจุบัน รองลงมาคือสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ และความขัดแย้งระหว่างประเทศ

 

โดยสรุปผลสำรวจมีดังนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (พฤศจิกายน 2564) อยู่ในเกณฑ์ ‘ร้อนแรง’ (ช่วงค่าดัชนี 120-159) ปรับตัวเพิ่มขึ้น 124.3% จากเดือนก่อนมาอยู่ที่ระดับ 144.37

 

ความเชื่อมั่นกลุ่มนักลงทุนบุคคลและกลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ ‘ร้อนแรง’ ส่วนนักลงทุนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับ ‘ร้อนแรงอย่างมาก’

 

หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุดือ หมวดธนาคาร (BANK)

 

หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุดคือ หมวดแฟชั่น (FASHION)

 

ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุดคือ แผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์โควิด

 

ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุดคือ สถานการณ์ระบาดของโควิดระลอกปัจจุบัน

 

ทั้งนี้ ในช่วงแรกของเดือนสิงหาคม 2564 SET Index ปรับตัวลงมากกว่าตลาดอื่นในภูมิภาคและในโลก จากจำนวนผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธ์เดลตาในประเทศที่เพิ่มขึ้นสูงกว่า 20,000 คนต่อวัน และจำนวนผู้เสียชีวิตกว่า 200 คนต่อวัน ในขณะที่การกระจายวัคซีนยังล่าช้าและไม่ทั่วถึง รวมถึงผลจากมาตรการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดมากขึ้น ซึ่งกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชนในประเทศ และความไม่สงบทางการเมืองในประเทศส่งผลให้ SET Index แกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบระหว่าง 1,521.72-1,553.18 จุด 

 

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้นทะลุ 1,600 จุดได้เป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน จากการที่ได้รับข่าวดีซึ่งช่วยหนุนตลาด อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด ความชัดเจนจากภาครัฐในการผ่อนคลายล็อกดาว์ และการที่ Fed ประกาศว่าอาจจะเริ่มลดอัตราการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE Taper) ในปีนี้ แต่จะยังไม่ปรับขึ้นดอกเบี้ย ส่งผลให้นักลงทุนต่างชาติซื้อสุทธิในตลาดทุนไทยเป็นเดือนแรกในรอบปี 2564 โดย SET Index ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2564 ปิดที่ 1,638.75 จุด ปรับตัวเพิ่มขึ้น 7.68% จากเดือนก่อนหน้า 

 

ในส่วนของปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การประชุม Fed รอบเดือนกันยายน ซึ่งหาก Fed มีการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ย อาจเป็นแรงกดดันต่อตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงผลการประชุมธนาคารกลางหลัก อาทิ ECB, BOJ และ BOE ที่คาดว่าจะคงนโยบายดอกเบี้ยตามเดิม สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ โดยเฉพาะในอัฟกานิสถานที่อาจบานปลาย 

 

ในขณะที่ปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ สถานการณ์โควิดภายหลังการผ่อนคลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งต้องเฝ้าระวังความเสี่ยงของสถานการณ์แพร่ระบาดที่อาจกลับมารุนแรงขึ้นอีกหลังคลายล็อกดาวน์ แผนการนำเข้าวัคซีนทางเลือกโดยเฉพาะวัคซีน mRNA ที่มีแนวโน้มจะนำเข้ามาได้เร็วขึ้น ผลการประชุมกรรมการนโยบายการเงินว่าจะยังคงนโยบายดอกเบี้ยตามเดิมหรือไม่ การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรี การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณฯ ประจำปี 2565 และการพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งอาจเพิ่มความร้อนแรงของความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ

 

อริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนกันยายน 2564 ว่า ผลจากดัชนีสะท้อนการคาดการณ์ของตลาดที่คงมุมมองเช่นเดียวกับครั้งที่แล้ว ว่า กนง. จะรักษาอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ในการประชุมเดือนกันยายนนี้ ส่วนอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลอายุ 5 ปี ณ สิ้นไตรมาส 3 มีแนวโน้มไม่เปลี่ยนแปลงจากการสำรวจเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2564 ในขณะที่อายุ 10 ปีมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น 

 

โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนมากขึ้นที่คาดการณ์ว่าอัตราผลตอบแทนอาจปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากมีโอกาสสูงที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะลด QE ภายในปีนี้ ทำให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบกับพันธบัตรรัฐบาลไทยด้วย 

 

นอกจากนี้หากสถานการณ์โควิดในประเทศดีขึ้นจากอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงขึ้น จะทำให้สินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้นมีความน่าสนใจเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สินทรัพย์ปลอดภัยอย่างพันธบัตรรัฐบาลมีความน่าสนใจน้อยลง ทำให้อัตราผลตอบแทนปรับตัวสูงขึ้น

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising