สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 135.16 ปรับตัวลดลง 19.9% จากเดือนก่อนหน้า มาอยู่ในเกณฑ์ร้อนแรง หลังจากเผชิญความเสี่ยงโควิดสายพันธุ์โอไมครอนเพิ่ม ยันแนวโน้มหุ้นไทยปีหน้ายังเป็นขาขึ้นสู่เป้าหมายดัชนี 1,800 จุด จาก 3 ปัจจัยบวกในประเทศ คือ เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวดีกว่าประเทศอื่น, เงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ, กำไร บจ. เติบโตน่าพอใจ
ไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index: ICI) ผลสำรวจในเดือนพฤศจิกายน 2564 พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 135.16 ปรับตัวลดลง 19.9% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ในเกณฑ์ร้อนแรง
นักลงทุนคาดหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือแผนการฉีดวัคซีนเพื่อคลี่คลายสถานการณ์โควิด และการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว
ในขณะที่ปัจจัยซึ่งฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุด ได้แก่ ความกังวลต่อสถานการณ์ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่ รองลงมาคือสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศ และการไหลออกของเงินทุน
ดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน สำรวจในเดือนพฤศจิกายน 2564 ได้ผลสำรวจโดยสรุป ดังนี้
- ดัชนีความเชื่อมั่นรวมทุกกลุ่มนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (กุมภาพันธ์ 2565) อยู่ในเกณฑ์ ‘ร้อนแรง’ (ช่วงค่าดัชนี 120-159) ปรับตัวลดลง 19.9% จากเดือนก่อนหน้ามาอยู่ระดับ 135.16
- ความเชื่อมั่นนักลงทุนกลุ่มนักลงทุนบุคคล กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศ และกลุ่มนักลงทุนต่างประเทศ อยู่ในระดับ ‘ร้อนแรง’ ส่วนกลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ อยู่ในระดับ ‘ทรงตัว’
- หมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT)
- หมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดแฟชั่น (FASHION)
- ปัจจัยหนุนที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ
- ปัจจัยฉุดที่มีอิทธิพลต่อตลาดหุ้นไทยมากที่สุด คือ ความกังวลต่อสถานการณ์ระบาดของโควิดสายพันธุ์ใหม่
ผลสำรวจ ณ เดือนพฤศจิกายน 2564 รายกลุ่มนักลงทุน พบว่าความเชื่อมั่นนักลงทุนทุกกลุ่มปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยนักลงทุนบุคคลปรับลด 16.2% อยู่ที่ระดับ 135.48, กลุ่มบัญชีบริษัทหลักทรัพย์ปรับลด 37.5%% มาอยู่ที่ระดับ 100, กลุ่มนักลงทุนสถาบันในประเทศปรับลด 5% อยู่ที่ระดับ 150 และกลุ่มนักลงทุนต่างชาติปรับลด 22.2% อยู่ระดับ 140
ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 SET Index ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยมีปัจจัยหนุนจากการเปิดประเทศ การผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค ความคืบหน้าในการฉีดวัคซีน รวมถึงผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3 ที่ประกาศออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้
อย่างไรก็ตาม ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือน SET Index ปรับตัวลดลงในทิศทางเดียวกับตลาดต่างประเทศ จากความกังวลต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่พบในแอฟริกาใต้ซึ่งกำลังระบาดอย่างรวดเร็ว ซึ่งส่งผลให้หลายประเทศกลับมาใช้นโยบายปิดประเทศและจำกัดการเดินทาง รวมถึงการปรับลดน้ำหนักหุ้นไทยในการคำนวณดัชนี MSCI ส่งผลให้ในเดือนพฤศจิกายน นักลงทุนต่างชาติกลับมาขายสุทธิในตลาดทุนไทยกว่า 10,182 ล้านบาท โดย SET index ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2564 ปิดที่ 1,568.69 จุด ปรับตัวลดลง 3.4% จากเดือนก่อนหน้า
ปัจจัยต่างประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ การกลับมาระบาดของโควิดรอบใหม่ในยุโรป ความกังวลต่อการระบาดและกลายพันธุ์อย่างรวดเร็วของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอน ซึ่งวัคซีนที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอที่จะช่วยควบคุมการระบาด และหลายประเทศเริ่มประกาศการจำกัดการเดินทางเข้าประเทศอีกครั้ง
รวมถึงปัจจัยด้านแรงกดดันอัตราเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางในหลายประเทศ อีกทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจากการควบคุมไฟฟ้าในภาคอุตสาหกรรมและผลกระทบจากภาคอสังหาริมทรัพย์ ในส่วนของปัจจัยในประเทศที่น่าติดตาม ได้แก่ แผนการป้องกันและควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดภายในประเทศให้อยู่ในวงจำกัด และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ๆ จากภาครัฐ ซึ่งจะส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากภาคอุปสงค์ในประเทศ
ไพบูลย์กล่าวเพิ่มว่า แนวโน้มตลาดหุ้นไทยปี 2565 ยังคงเป็นแนวโน้มขาขึ้น ส่วนตัวยังเชื่อว่าเป้าหมายดัชนีที่ระดับ 1,800 จุด ยังเป็นระดับที่คาดหวังได้ โดยมีปัจจัยบวกมาจาก
- การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ ที่น่าจะเติบโตในอัตราที่ดีกว่าประเทศอื่นๆ ที่ GDP ทยอยฟื้นตัวได้ตามศักยภาพกันไปหมดแล้ว ขณะเดียวกัน ในปีหน้าประเทศไทยจะมีการยุบสภาและนำไปสู่การเลือกตั้ง ทำให้คาดหวังได้ว่าจะมีการผลักดันมาตรการสนับสนุนและกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาอีกระลอก ซึ่งเชื่อว่า GDP ไทยปีหน้าน่าจะเติบโตได้ราว 4%
- อัตราเงินเฟ้อในประเทศ ซึ่งอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนักเมื่อเทียบกับต่างประเทศ โดยต้นทุนเงินเฟ้อของไทยคือราคาพลังงาน ซึ่งในปี 2565 มีการคาดการณ์ว่าราคาพลังงานน่าจะปรับลดลง จะส่งผลดีต่อเงินเฟ้อของไทยเช่นกัน
การที่เงินเฟ้อทรงตัวเช่นนี้สะท้อนว่าไทยยังไม่มีความจำเป็นต้องเร่งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยได้เปรียบหุ้นต่างประเทศ
- การเติบโตของกำไรบริษัทจดทะบียนในปี 2565 ที่มีการคาดการณ์ว่าน่าจะเติบโตได้ราว 12% และส่งผลให้ PE ตลาดหุ้นไทยอยู่ที่ 16 เท่า ซึ่งยังใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย 4-5 ปีย้อนหลัง
“ปีหน้าแน่นอนว่าสภาพคล่องในระบบจะลดลง การเร่งทำ Taper ของ Fed ไม่เป็นผลดีกับตลาดเกิดใหม่ รวมถึงตลาดหุ้นไทย แต่ว่าด้วยปัจจัยพื้นฐานของประเทศไทย ทั้งการเติบโตของเศรษฐกิจที่จะฟื้นตัวได้เต็มศักยภาพ สวนทางกับเศรษฐกิจต่างประเทศที่เริ่มฟื้นตัวไปแล้วและอาจเข้าสู่การชะลออีกครั้ง รวมถึงอัตราเงินเฟ้อที่ยังอยู่ระดับที่ยอมรับได้ ดอกเบี้ยนโยบายที่น่าจะทรงตัวระดับต่ำต่อไป รวมถึงค่าเงินบาทที่ไม่น่าจะอ่อนค่าไปมากกว่านี้แล้ว ทำให้เชื่อว่า Fund Flow ปีหน้าจะเป็นทิศทางไหลเข้า”