ภาพยนตร์ หนังสือ และพอดแคสต์ ทำให้เรื่องราวของฆาตกรต่อเนื่องชายโด่งดัง และสร้างความเชื่อฝังหัวว่า ผู้หญิงคงไม่สามารถก่ออาชญากรรมที่โหดร้ายเช่นนี้ได้
แต่ความจริงแล้ว ในหน้าประวัติศาสตร์ โลกมีฆาตกรต่อเนื่องหญิงเกิดขึ้นหลายครั้ง พวกเธอมักถูกเรียกขานว่า ‘นักฆ่าเงียบ’ เพราะมีการวางแผนที่แยบยล ลงมือแบบไม่กระโตกกระตาก แต่รู้ตัวอีกทีก็มีคนที่ถูกสังหารไปแล้วหลายราย
เหมือนกับช่วงที่ผ่านมา คนไทยทั้งประเทศต้องสะเทือนขวัญ เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเปิดเผยถึงข้อมูลพฤติการณ์ของ ‘แอม’ หญิงสาวผู้ต้องสงสัยว่าเป็นผู้ก่อเหตุลงมือปลิดชีวิตเหยื่อ 14 รายด้วยสารไซยาไนด์
ท่ามกลางคำถามมากมายว่า บทสรุปของคดีแอมจะสิ้นสุดอย่างไร มาลองทำความรู้จักฆาตกรต่อเนื่องหญิงกันว่า เหตุใดผู้หญิงคนหนึ่งจึงเลือดเย็นได้มากกว่าที่เราคิด แรงจูงใจของเธอส่วนใหญ่มาจากอะไร และสังคมไทยจะเรียนรู้อะไรได้บ้างในวันที่เรามี ‘ฆาตกรต่อเนื่องหญิงคนแรก’
ฆาตกรต่อเนื่องหญิงไม่มีจริง?
เท็ด บันดี, เจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์ และ แจ็กเดอะริปเปอร์ ชื่อเหล่านี้เป็นชื่อที่คุ้นเคยกันดีในฐานะฆาตกรต่อเนื่องสุดอำมหิต แต่หากพูดถึง เคาน์เตสเอลิซาเบธ บาโธรี หรือ เจน ท็อปแพน เชื่อว่าหลายคนในที่นี้คงแทบไม่รู้เลยว่าพวกเธอเป็นใคร
มีตำนานเล่าขานกันว่า ฆาตกรต่อเนื่องทั้งหมดเป็นผู้ชาย และอดีตผู้จัดทำประวัติให้สำนักงานสอบสวนกลางของสหรัฐอเมริกา หรือ FBI ก็เคยพูดเอาไว้ในช่วงปี 1998 เหมือนกันว่า “ไม่มีฆาตกรต่อเนื่องหญิงเลย”
แม้แต่ในวันที่ประเทศเม็กซิโกต้องเผชิญกับฆาตกรต่อเนื่องที่สังหารหญิงชราอย่างเหี้ยมโหดไปทั่วเมือง ตำรวจก็ยังปักใจเชื่ออย่างแน่วแน่ว่าเป็นฝีมือของผู้ชาย ทั้งที่มีพยานอ้างว่า เห็นผู้หญิงคนหนึ่งอยู่รอบๆ ที่เกิดเหตุ แต่ตำรวจก็ยังเชื่อว่า อาจเป็นผู้ชายที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าของผู้หญิง จนกระทั่งทุกอย่างกระจ่างว่าเป็นฝีมือของ ฮวนนา บาร์ราซา อดีตนักมวยปล้ำหญิง
ดังนั้นความเชื่อที่ว่า ผู้หญิงไม่มีวันที่จะทำการฆาตกรรมที่น่าสยดสยองได้นั้น จึงเป็นเพียงแค่ภาพเหมารวมของสังคม และที่น่าสนใจคือ ผู้ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นฆาตกรต่อเนื่องที่สังหารเหยื่อมากที่สุดตลอดกาลก็เป็นผู้หญิง
เธอคนนั้นคือ เคาน์เตสเอลิซาเบธ บาโธรี สตรีผู้สูงศักดิ์แห่งฮังการี ที่ทรมานและฆ่าหญิงสาวมากกว่า 600 คนในช่วงศตวรรษที่ 16 เพื่อสังเวยให้กับความเชื่อเรื่องที่ว่า การอาบเลือดหญิงสาวบริสุทธิ์จะทำให้เธออ่อนเยาว์ชั่วนิรันดร์
แม้เรื่องจะแดงจนกษัตริย์ฮังการีในยุคนั้นต้องยื่นมือเข้ามาสืบสวน แต่ความเป็นชนชั้นสูงทำให้เคาน์เตสไม่ถูกตัดสินว่ามีความผิดใดๆ เพียงแค่ถูกสั่งกักบริเวณให้อยู่แต่ในปราสาท Csejte ตลอดชีวิตเท่านั้น
ความต่างของฆาตกรต่อเนื่องหญิง
สิ่งที่ชวนเชื่อให้คนเข้าใจผิดว่า ‘ฆาตกรต่อเนื่องหญิงไม่มีจริง’ อาจถูกหล่อหลอมจากนักข่าวหรือสื่อบันเทิงที่นำเสนอแต่ฆาตกรต่อเนื่องชายเป็นหลัก หรือไม่ก็อาจเป็นบทบาททางเพศที่ตีกรอบให้เชื่อว่า ‘ผู้หญิงเป็นเพศที่อ่อนโยน’ แต่อีกส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะฆาตกรต่อเนื่องหญิงมีความแตกต่างจากฆาตกรต่อเนื่องชายค่อนข้างมาก
มาริสสา แฮร์ริสัน รองศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาของ Penn State Harrisburg ใช้เวลาหลายปีในการศึกษาหาความแตกต่างระหว่างฆาตกรต่อเนื่องหญิงและฆาตกรต่อเนื่องชาย รวมถึงศึกษาเจาะลึกลงไปว่า ฆาตกรต่อเนื่องหญิงมีวิธีการและแรงจูงใจอะไร โดยใช้ข้อมูลฆาตกรต่อเนื่องที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกาตั้งแต่ช่วงปี 1856-2009 แบ่งเป็นชายและหญิงอย่างละ 55 คนเท่ากัน
เธอพบว่า ส่วนใหญ่แรงจูงใจของผู้ชายจะถูกกระตุ้นด้วยความต้องการทางเพศ ขณะที่ผู้หญิงมักเป็นเรื่องผลประโยชน์ทางการเงิน
ในแง่ของการเลือกเหยื่อ ผู้ชายมักจะเลือกคนแปลกหน้า โดยสะกดรอยตามเป้าหมายจากเมืองหนึ่งไปยังอีกเมืองหนึ่ง และรอเวลาที่เหมาะสมจะโจมตี ราวกับ ‘นักล่า’ (Hunters) ที่คอยออกตระเวนหาเหยื่อในที่โล่ง
ขณะที่ผู้หญิงถูกเปรียบว่าเหมือน ‘นักเก็บของป่า’ (Gatherers) เพราะมีแนวโน้มที่จะกำหนดเป้าหมายเป็นคนที่คุ้นเคย เช่น คู่สมรส ผู้สูงอายุ คนป่วย รวมถึงเด็กที่อยู่ในความดูแลของพวกเธอ และโดยทั่วไปฆาตกรต่อเนื่องหญิงมักจะลงมือเฉพาะสถานที่ที่พวกเธอรู้จักดี เช่น บ้าน หรือที่ทำงาน
ส่วนวิธีการสังหาร แม้ว่าตลอดปี 1900-2010 ฆาตกรต่อเนื่องหญิงจะมีสัดส่วนเพียงแค่ 11% จากทั้งหมด แต่การลงมือของพวกเธอมีศักยภาพสูง โดยมักเป็นไปอย่างเงียบๆ และใช้วิธีที่ยุ่งเหยิงน้อยกว่าผู้ชาย ‘การวางยาพิษ’ จึงถือเป็นวิธียอดนิยมที่ฆาตกรต่อเนื่องหญิงเลือกใช้ ขณะที่ผู้ชายจะใช้วิธีการทำให้ขาดอากาศหายใจ
นอกจากนี้ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะแต่งงานอย่างน้อยหนึ่งครั้ง แต่ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะเป็นโสดในช่วงเวลาก่อเหตุครั้งแรก อีกทั้งผู้ชายมีแนวโน้มที่จะมีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายหรือน้อยกว่านั้น แต่ผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะศึกษาในระดับวิทยาลัยหรือสูงกว่านั้น
การศึกษาของแฮร์ริสันยังแสดงให้เห็นว่า ฆาตกรต่อเนื่องหญิงประมาณ 40% มีอาการป่วยทางจิต อันเป็นผลมาจากการถูกกระทำความรุนแรงในวัยเด็กหรือวัยรุ่น ซึ่งถ้าหากพวกเธอได้รับความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิต บางทีอาจจะไม่กลายเป็นฆาตกรก็ได้
เมื่อฆาตกรต่อเนื่องหญิงลงมือ
ด้วยความที่ฆาตกรต่อเนื่องหญิงมีวิธีการสังหารเหยื่อที่แยบยล เต็มไปด้วยกลอุบายที่ช่วยในการปกปิดคดี อีกทั้งยังมักถูกมองข้ามเสมอ หลายครั้งกว่าจะมีคนเริ่มเอะใจถึงความผิดปกติบางอย่าง ก็มีผู้คนตกเป็นเหยื่อไปแล้วเป็นจำนวนมาก
ยกตัวอย่างกรณีของ เจน ท็อปแพน ฆาตกรต่อเนื่องหญิงที่โด่งดังมากคนหนึ่งของสหรัฐอเมริกา เธอใช้ชีวิตอยู่ในช่วงปลายทศวรรษ 1800 และบอกว่าเป้าหมายในชีวิตของเธอคือ ‘การได้ฆ่าพวกที่น่าสงสารให้ได้มากที่สุด’
ระหว่างเข้าฝึกงานด้านพยาบาลที่โรงพยาบาลเคมบริดจ์ เธอพยายามสร้างภาพลักษณ์ให้ตนเองเป็นคนจิตใจดีต่อเพื่อนร่วมงานและคนไข้ หลายคนจึงเรียกเธอว่า Jolly Jane หรือนางฟ้าเจน แต่ใครจะรู้ว่าฉากหลังของนางฟ้าผู้ใจดีคนนี้จะเป็นฆาตกรแสนเลือดเย็น ที่สังหารคนไข้ด้วยการฉีดมอร์ฟีนและอะโทรปีนเกินขนาดจนตาย อีกทั้งยังคอยเฝ้ามองดูเหยื่อดิ้นรนทรมานและกำลังจะตายอย่างมีความสุข ซึ่งทั้งหมดนี้รอดพ้นจากสายตาเพื่อนร่วมงานไปได้ด้วยการปลอมแปลงเวชระเบียนว่าคนไข้ทุกคนเป็นปกติดี
ต่อมาท็อปแพนได้ผันตัวไปทำงานเป็นพยาบาลส่วนตัวให้กับครอบครัวที่ร่ำรวยที่บอสตันเป็นเวลาหลายปี โดยไม่มีใครล่วงรู้เลยว่าเธอลงมือฆ่าสมาชิกในครอบครัวเหล่านี้ด้วยการวางยาและขโมยของพวกเขาไป
ท็อปแพนถูกจับกุมเมื่อปี 1902 คาดว่าเธอสังหารเหยื่อไปแล้วอย่างต่ำ 31 ราย แต่เธอยอมรับว่าอาจมีมากถึง 100 ราย และด้วยแรงจูงใจที่ว่าด้วยการได้เห็นเหยื่อค่อยๆ ตาย ทำให้เธอมีอารมณ์ทางเพศมากเป็นพิเศษ ศาลจึงพิพากษาว่าเธอวิกลจริต และส่งตัวไปบำบัดที่โรงพยาบาลจิตเวชตลอดชีวิต
แต่กรณีของท็อปแพนอาจแตกต่างจากฆาตกรต่อเนื่องหญิงส่วนใหญ่ตรงที่เธอทำเพื่อตอบสนองความพึงพอใจ ไม่ใช่แรงจูงใจทางการเงิน
หากพูดถึงแรงจูงใจทางการเงิน กรณีหนึ่งที่ลงมือได้อย่างแนบเนียนโดยใช้เล่ห์เหลี่ยมให้เหยื่อเชื่อสนิทใจคือ ฆาตกรต่อเนื่องหญิงรายแรกของอินเดีย
หญิงวัยกลางคนสวมใส่ชุดส่าหรีที่ทอด้วยผ้าไหมชั้นดี ในมือถือดอกไม้ และมีรอยยิ้มอยู่บนใบหน้าเสมอ นี่คือลักษณะภายนอกของ เคดี เคมปามมะ เจ้าของฉายา ‘ไซยาไนด์มัลลิกา’ ที่ลงมือสังหารเหยื่อ 5 รายในเวลาติดต่อกันเพียงแค่ 3 เดือน
เธอแฝงตัวไปตามศาสนสถานของฮินดู เพื่อมองหาผู้หญิงที่ดูภูมิฐานแต่อมทุกข์ ก่อนจะเข้าไปตีสนิทผู้หญิงเหล่านั้น ซักถามถึงปัญหาชีวิต และช่วยให้คำแนะนำ จนเหยื่อเริ่มไว้วางใจ จากนั้นเธอจะออกอุบายว่ามีความสามารถพิเศษในการประกอบพิธีกรรม Mandala Pooja ที่จะทำให้ความปรารถนาต่างๆ สัมฤทธิ์ผล และเมื่อเหยื่อหลงเชื่อ เธอจะพาพวกเขาไปยังวัดที่อยู่ห่างไกลผู้คน โดยให้แต่งกายด้วยเสื้อผ้าและเครื่องประดับที่ราคาแพงที่สุด เพื่อให้เทพเจ้าพอใจ ก่อนที่จะเริ่มพิธีด้วยการให้เหยื่อหลับตาลงและกินอาหารหรือเครื่องดื่มที่ผสมไซยาไนด์ ทันทีที่เหยื่อเริ่มทรุดตัว เธอก็จะขโมยสิ่งของมีค่านั้นไป
เคมปามมะถูกจับกุมระหว่างอยู่ที่ป้ายรถเมล์ในเมืองบังกาลอร์ และถูกสืบสาวไปว่ามีผู้เสียชีวิตอีก 2 รายที่เกี่ยวข้องกับเธอ สุดท้ายเมื่อปี 2012 ศาลได้ตัดสินให้เธอรับโทษประหารชีวิต แต่ก็ได้รับการลดหย่อนโทษให้จำคุกตลอดชีวิตแทน
กลับมาที่ประเทศไทย สังคมต้องตื่นตะลึง เมื่อ แอม-สรารัตน์ รังสิวุฒาภรณ์ อดีตภรรยานายตำรวจระดับรองผู้กำกับการในพื้นที่จังหวัดราชบุรี มีส่วนเกี่ยวพันกับการเสียชีวิตอย่างปริศนาของ ก้อย-ศิริพร ขันวงษ์
ภายหลังตำรวจได้พบไซยาไนด์อยู่ในบ้านของแอม ซึ่งตรงกับผลการผ่าพิสูจน์ศพของก้อยที่พบสารชนิดนี้อยู่ในร่างกาย ทั้งยังมีข้อมูลว่า มีผู้เสียชีวิตจากเหตุการณ์ในลักษณะเดียวกันถึง 4 รายหลังไปทำธุระกับแอม
พล.ต.อ. สุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้ามาดูแลคดีนี้โดยตรง และทำให้พบว่า ผู้ต้องหาใช้วิธีการแบบเดียวกันในหลายคดี หลายพื้นที่ และหลายปีต่อเนื่อง โดยผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มผู้ที่ถูกชักชวนให้ร่วมเล่นแชร์ จนนำไปสู่การจับกุมตัว
ข้อมูล ณ วันที่ 16 พฤษภาคม ตำรวจได้ออกหมายจับแอม ฐานเชื่อมโยงกับเหยื่อที่เสียชีวิตถึง 14 ราย รอดชีวิต 1 ราย และอาจมีเพิ่มเติมมากกว่านั้น ซึ่งเกือบทุกคดีมีความเกี่ยวข้องกับเรื่องของเงินและการสูญหายของทรัพย์สิน
เมื่อตรวจสอบเส้นทางการเงินของแอมพบว่า มีเงินหมุนเวียนอยู่ในบัญชีประมาณ 78 ล้านบาท โดยมีการโอนเงินเข้าออกอย่างต่อเนื่องและเกี่ยวข้องกับบุคคลอย่างน้อย 12 คน ระหว่างนี้ตำรวจกำลังเร่งรวบรวมพยานหลักฐาน และอาจมีการออกหมายจับคนใกล้ชิดเพิ่มเติม
ซึ่งก่อนหน้านี้ตำรวจได้จับกุมอดีตสามีของแอม 3 ข้อหาด้วยกัน คือ ร่วมกันยักยอกทรัพย์ ร่วมกันฉ้อโกง และใช้เอกสารราชการปลอมและปลอมแปลงเอกสาร
ส่วนสารไซยาไนด์ที่ใช้ก่อเหตุและกลายเป็นฉายา ‘แอม ไซยาไนด์’ มีข้อมูลว่า เธออาจผสมไซยาไนด์ลงในอาหารและเครื่องดื่ม หรือสิ่งที่เธออ้างว่าเป็นยาสมุนไพร เพราะหลังจากเหยื่อกินเข้าไปก็จะมีอาการผิดปกติเกิดขึ้น
โดยจากการตรวจสอบของทางการพบว่า มีผู้สั่งซื้อไซยาไนด์ทางออนไลน์มากกว่า 700 คน และอยู่ระหว่างเรียกมาสอบสวนเพิ่มเติมแล้ว พร้อมประสานกับอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรมในการออกข้อบังคับฉุกเฉิน ให้บังคับใช้การซื้อ-ขายสารไซยาไนด์ให้เข้มงวดมากขึ้นกว่านี้ เพราะที่ผ่านมาสามารถซื้อ-ขายได้โดยไม่ต้องขออนุญาตหากซื้อ-ขายไม่เกิน 1 ตัน
ผู้เชี่ยวชาญบางคนให้ความเห็นว่า คดีของแอมไม่เข้าข่ายฆาตกรต่อเนื่อง เพราะลักษณะของฆาตกรต่อเนื่องมักจะไม่ประสงค์ต่อทรัพย์ แต่ถ้าหากพิจารณาตามคำนิยามของ FBI ฆาตกรต่อเนื่องหมายถึง ฆาตกรที่ฆ่าเหยื่ออย่างน้อย 2 คนขึ้นไป เพื่อสนองความต้องการหรือความพึงพอใจทางจิตใจ โดยมีช่วงว่างเว้นระหว่างเหยื่อแต่ละราย และส่วนใหญ่เป็นการกระทำของบุคคลเดียว
ส่วนแรงจูงใจในการกระทำความผิด อาจมีได้ตั้งแต่ความโกรธ การแสวงหาความตื่นเต้น ผลประโยชน์ทางการเงิน และการเรียกร้องความสนใจ วิธีการในการกระทำมักจะเป็นรูปแบบเดิมๆ ซ้ำๆ และเหยื่อมักจะมีลักษณะบางอย่างร่วมกัน
หากสุดท้ายแล้วข้อมูลทุกอย่างพิสูจน์ได้ว่าแอมมีความผิดจริง เธอจะถูกเรียกได้ว่าเป็นฆาตกรต่อเนื่องหญิงคนแรกของประเทศไทย และติดอันดับการฆาตกรรมต่อเนื่องด้วยไซยาไนด์ที่มีเหยื่อมากที่สุดติดอันดับต้นๆ ของโลก
‘เหยื่อ’ คนสำคัญที่มักถูกลืม
เมื่อใดก็ตามที่มีการฆาตกรรมต่อเนื่องเกิดขึ้น คำถามสำคัญที่สังคมต้องการคำตอบก็คือ บทลงโทษของพวกเขาจะเป็นอย่างไร
ไซยาไนด์ มัลลิกา ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิต ส่วนหญิงม่ายชาวญี่ปุ่นที่ใช้ไซยาไนด์ฆ่าสามี 3 คนเพื่อเอาเงินประกัน ก็ต้องโทษประหารชีวิต ส่วนใหญ่ชะตากรรมของฆาตกรต่อเนื่องมักจะมีจุดจบไม่ต่างจากนี้มากนัก ซึ่งหลายคนก็คงคาดหวังว่า หากแอมผิดจริงเธอก็สมควรได้รับโทษอย่างสาสมเหมือนกัน
แต่ว่าความตายของฆาตกรอาจไม่ใช่จุดจบเสมอไปสำหรับเหยื่อและครอบครัว ความสูญเสียที่เกิดขึ้นอาจทิ้งบาดแผลบางอย่างให้กับพวกเขา โดยที่สังคมเองก็หลงลืมที่จะตั้งคำถามว่า แล้วชีวิตของครอบครัวเหยื่อหลังจากนั้นจะดำเนินต่อไปอย่างไร
การเยียวยาเหยื่อหรือครอบครัวของเหยื่อมีความแตกต่างกันออกไปในแต่ละประเทศ แต่โดยส่วนใหญ่จะเป็นการจ่ายเงินชดเชยความเสียหายหรือการเยียวยาโดยการให้ความช่วยเหลืออื่นๆ เพื่อให้ผู้เสียหายสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ปกติอีกครั้งหลังผ่านเหตุการณ์อันเลวร้ายมา ในที่นี้จึงรวมถึงการให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์ การดำเนินคดีความ ตลอดจนการให้ความปลอดภัยในชีวิต ร่างกาย และทรัพย์สิน
สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันเรามีพระราชบัญญัติค่าตอบแทนผู้เสียหายและค่าทดแทนและค่าใช้จ่ายแก่จำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2559 ที่เน้นการจ่ายเงินเยียวยาเป็นหลัก แต่ในส่วนของการเยียวยาด้านอื่นๆ ยังมีไม่มากนัก
ถ้าไปดูที่แคนาดา ก็มีการจ่ายเงินเยียวยาเช่นกัน แต่ความพิเศษอยู่ตรงที่จะมีการเรียกเก็บเงินเพิ่มเติมจากผู้กระทำความผิดทุกคนไม่ใช่แค่เฉพาะคดีอาชญากรรมเท่านั้น เพื่อนำเงินดังกล่าวไปสนับสนุนองค์กรช่วยเหลือเหยื่อคดีอาชญากรรม
ขณะที่ในสหรัฐอเมริกามีกฎหมาย ‘Son of Sam’ เพื่อป้องกันไม่ให้อาชญากรรับเงินจากการขายเรื่องราวของพวกเขาให้กับผู้จัดพิมพ์และผู้ผลิตภาพยนตร์ แต่ดูเหมือนกฎหมายนี้จะไม่ได้ป้องกันการแสวงหาผลประโยชน์ของบริษัทสื่อได้อย่างที่คิด
เรื่องราวของฆาตกรต่อเนื่องได้รับความสนใจจากสังคมเสมอ และเมื่อเสียชีวิตไปแล้ว พวกเขายังถูกจดจำหรือระลึกถึงในรูปแบบศิลปะต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ สารคดี ภาพยนตร์ และพอดแคสต์ ที่หยิบฉากฆาตกรรมอันน่าสยดสยองมาเล่าอย่างออกรส แต่สำหรับครอบครัวของเหยื่อแล้ว พวกเขาถูกบังคับให้หวนนึกถึงช่วงเวลาอันมืดมนอีกครั้ง ซ้ำยังต้องเห็นนักข่าวหรือประชาชนทั่วไปหยิบยื่นชื่อเสียงให้ฆาตกรเหล่านี้กลายเป็นคนดัง
ซีรีส์ Monster: The Jeffrey Dahmer Story ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม จนขึ้นแท่นซีรีส์ภาษาอังกฤษอันดับที่ 2 ที่มีผู้ชมมากที่สุดตลอดกาลบน Netflix
ถูกวิจารณ์ว่านำเสนอเรื่องราวของ เจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์ ฆาตกรที่เลื่องชื่อเรื่องความอำมหิต ทั้งฆ่า ข่มขืน และกินเนื้อมนุษย์ ในลักษณะที่มุ่งให้เกิดความเห็นอกเห็นใจต่อตัวละคร แต่ที่สำคัญที่สุดคือ ผู้ผลิตไม่ได้รับการอนุญาตหรือยินยอมจากครอบครัวของเหยื่อ
เอริค เพอร์รี ลูกพี่ลูกน้องของ เออร์รอล ลินด์เซย์ เหยื่อคนหนึ่งของดาห์เมอร์ ออกมาพูดว่า ซีรีส์เรื่องใหม่นี้ทำให้ครอบครัวเขาต้องเจ็บปวดซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเพื่ออะไร? เราต้องการภาพยนตร์ รายการ หรือสารคดีอีกกี่เรื่องกัน
โดยทั้งก่อนและหลังที่ดาห์เมอร์จะเสียชีวิตในปี 1994 ชีวิตของเขาถูกหยิบมาดัดแปลงเป็นหนังสือ ซีรีส์ ภาพยนตร์ ตลอดจนละครเวที มากกว่า 20 เวอร์ชัน
ในทางหนึ่ง แม้ว่ากฎหมาย Son of Sam จะห้ามไม่ให้ฆาตกรแสวงหาผลประโยชน์จากความผิดของตนเอง แต่ก็เป็นการละทิ้งสิทธิของครอบครัวเหยื่อไป พวกเขาไม่ได้รับการคุ้มครองและไม่ได้รับผลตอบแทนอะไรจากการที่บริษัทสื่อต่างๆ นำความเจ็บปวดของพวกเขาไปแสวงหาผลกำไร
และคงไม่อาจปฏิเสธได้ด้วยว่า การที่สื่อให้แสงกับฆาตกรต่อเนื่องในฐานะ Celebrity Monster ก็อาจเป็นแรงจูงใจให้ฆาตกรบางคนอยากแสวงหาชื่อเสียงในทางลบ
แต่ถึงอย่างนั้นเราก็เห็นสัญญาณที่ดีว่า มีการตระหนักรู้เรื่องการยกย่องฆาตกรมากกว่าในอดีต เห็นได้จากช่วงเทศกาลฮาโลวีนในปีที่ผ่านมา เว็บไซต์ eBay ได้ออกกฎห้ามขายเครื่องแต่งกายหรืออุปกรณ์ใดๆ ก็ตามที่คนจะเอาไปแต่งเลียนแบบ เจฟฟรีย์ ดาห์เมอร์ หลังยอดจับจองพุ่งสูงขึ้นเป็นอย่างมาก
โดยให้เหตุผลว่า การอนุญาตให้ซื้อ-ขายชุดของฆาตกรต่อเนื่องคนดังถือเป็นเรื่องที่ผิดนโยบายของบริษัท ซึ่งไม่สนับสนุนความรุนแรงและอาชญากรรมความรุนแรงทุกรูปแบบ
สังคมจำเป็นต้องถอดบทเรียนในหลายแง่มุมเกี่ยวกับฆาตกรต่อเนื่อง เพื่อไม่ให้อีกหลายครอบครัวต้องเผชิญกับโศกนาฏกรรมเช่นนี้อีก แต่เราอาจต้องกลับมาทบทวนด้วยว่า วิธีที่ทำอยู่นั้น เราเผลอให้คุณค่ากับฆาตกรต่อเนื่องมากกว่าคนที่ควรจะให้ความสำคัญที่สุดอย่างเหยื่อและครอบครัวของพวกเขาหรือเปล่า
อ้างอิง:
- https://www.thaipbs.or.th/news/content/327838
- https://www.psychologytoday.com/intl/blog/wicked-deeds/201906/the-unique-motives-female-serial-killers
- https://www.nationalgeographic.com/travel/article/the-bloody-legend-of-hungarys-serial-killer-countess
- https://psycnet.apa.org/record/2019-03051-001
- https://doi.org/10.1080/14789949.2015.1007516
- https://qz.com/1556745/the-differences-between-male-and-female-serial-killers
- https://www.discovermagazine.com/mind/female-serial-killers-exist-but-their-motives-are-different
- https://www.psu.edu/news/research/story/just-deadly-inside-mind-female-serial-killer/
- https://news.abplive.com/crime/crime-serial-killing-cyanide-karnataka-bengaluru-cyanide-mallika-kd-kempamma-1592591
- https://www.bbc.com/thai/articles/cxelv3lm0p3o
- https://www.sanook.com/news/8839542/
- https://tna.mcot.net/social-1161505
- https://www.fbi.gov/stats-services/publications/serial-murder
- https://www.canada.ca/en/department-justice/news/2016/10/federal-victim-surcharge.html
- https://cardozoaelj.com/2022/11/29/glorification-of-serial-killers-how-the-law-fails-to-protect-families-of-the-victims/