×

คณะกรรมการ วลพ. สั่งให้สภาทนายความฯ และเนติบัณฑิตยสภา แก้ระเบียบให้ทนายความหญิงใส่กางเกงว่าความได้

โดย THE STANDARD TEAM
02.12.2022
  • LOADING...
สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน

วันนี้ (2 ธันวาคม) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (สนส.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า นับตั้งแต่ปี 2529 ที่ข้อบังคับสภาทนายความว่าด้วยมรรยาททนายความในเรื่องการแต่งกายระบุไว้ในข้อที่ 20 ที่ให้ทนายความหญิงต้อง ‘แต่งตามแบบสากลนิยม กระโปรงและเสื้อสีไม่ฉูดฉาด รองเท้าหุ้มส้น’ รวมทั้งข้อบังคับเนติบัณฑิตยสภาฯ หมวด 3 สิทธิของสมาชิก ข้อ 17 ที่กำหนดให้ทนายความหญิงต้องแต่งกายด้วยกระโปรง โดยถูกเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ สำหรับทนายหญิงในการว่าความ

 

ส่งผลให้ทนายความหญิงซึ่งเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภาและสภาทนายความ ถูกผู้พิพากษาตักเตือน ถูกตำหนิติเตียน ถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากเหตุแห่งการแต่งกาย หรือถูกห้ามว่าความ เนื่องจากสวมใส่กางเกงไปศาล เกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง เนื่องจากกฎเกณฑ์ที่ไม่ชัดเจนของสภาทนายความ

 

ในช่วงเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนได้นำรายชื่อของนักกฎหมายและประชาชนกว่า 16,500 รายชื่อที่ร่วมลงชื่อสนับสนุนแคมเปญ ‘ทนายความหญิงมีสิทธิสวมใส่กางเกงไปศาล’ ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและสาธารณะ อาทิ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประธานศาลฎีกา สภาทนายความฯ และเนติบัณฑิตยสภา  

 

ต่อมาทนายความหญิงที่เป็นผู้เสียหาย ได้ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ (วลพ.) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2565 เพื่อให้วินิจฉัยว่า ข้อบังคับของสภาทนายความและเนติบัณฑิตยสภา ทั้ง 2 ฉบับ เป็นการเลือกปฏิบัติไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ โดยเรียกร้องให้แก้ไขข้อบังคับดังกล่าว

 

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 คณะกรรมการ วลพ.  มีคำวินิจฉัยโดยอาศัยอำนาจตามความมาตรา 14 แห่งพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 วินิจฉัยว่าการบังคับใช้ข้อบังคับฯ หรือการกำหนดวิธีปฏิบัติของทั้ง 2 หน่วยงาน ต้องบังคับใช้ข้อบังคับในลักษณะที่ไม่เป็นการขัดหรือแย้งกับหลักการห้ามเลือกปฏิบัติเพราะเหตุแห่งเพศตามที่พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ได้บัญญัติรับรองไว้ การกระทำภายใต้ข้อบังคับหรือวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการแต่งกายของผู้หญิงเมื่อสวมเสื้อครุยขณะว่าความในศาลจะต้องไม่กำหนดข้อบังคับในลักษณะเป็นการจำกัดสิทธิ แบ่งแยก กีดกัน หรือจำกัดสิทธิประโยชน์อื่นใดๆ ที่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ตามมาตรา 17 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 

 

จึงมีคำสั่งให้ทั้ง 2 หน่วยงาน ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ด้วยวิธีใดที่เห็นเหมาะสมปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับ กฎ ระเบียบ ประกาศ หรือแนวปฏิบัติให้สอดคล้องตามมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 และไม่ขัดหรือแย้งกับหลักการห้ามเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ เพื่อรับรองสิทธิทนายความหญิงให้สามารถสวมกางเกงหรือกระโปรงเมื่อสวมเสื้อครุยขณะว่าความในศาลได้ เพื่อระงับและป้องกันมิให้มีการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน และเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ และสร้างความเข้าใจให้กับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทราบ

 

ทั้งนี้ สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชนจะดำเนินการยื่นหนังสือร้องขอให้สภาทนายความฯ และเนติบัณฑิตยสภา เร่งดำเนินการตามคำวินิจฉัยของทางคณะกรรมการวินิจฉัยการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมทางเพศต่อไป เพื่อให้เกิดการแก้ไขข้อบังคับและมีผลบังคับใช้โดยเร็วที่สุด

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising