×

‘ลอร์กา’ กวีและนักเขียนเมื่อ 85 ปีที่แล้ว เขาถูกฆ่าจากสงครามกลางเมืองสเปนและการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์

โดย THE STANDARD TEAM
27.03.2021
  • LOADING...
‘ลอร์กา’ กวีและนักเขียนเมื่อ 85 ปีที่แล้ว เขาถูกฆ่าจากสงครามกลางเมืองสเปนและการต่อสู้เพื่ออุดมการณ์

ในคืนหนึ่งของเดือนสิงหาคมเมื่อ 85 ปีที่แล้ว เฟเดริโก การ์เซีย ลอร์กา (Federico García Lorca) กวี นักเขียนบท และผู้กำกับละครเวที ถูกสังหารในทุ่งหญ้าแห่งหนึ่งที่เมืองกรานาดา (Grenada) ประเทศสเปน เหตุผลของผู้ที่สังหารคือ เพราะเห็นว่าเขาฝักใฝ่ฝ่ายซ้ายและนิยมการปกครองแบบสาธารณรัฐ อีกเหตุผลคือเขารักเพศเดียวกัน ผู้สังหารยังคุยโม้ว่ายิงเขาที่ทวารหนักเพื่อเป็นการสั่งสอน ตอนนั้นเฟเดริโกอายุเพียง 38 ปี และก็กำลังตกหลุมรักกับ ฆวน รามิเรซ ลูกัส (Juan Ramírez Lucas) ซึ่งอาจจะเป็นคนรักที่ดีที่สุดของเขา

 

ในด้านผลงาน เขากำลังอยู่ในช่วงที่รุ่งโรจน์ในการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะของเขา ในปีที่เขาเสียชีวิต มาร์การิตา ชีร์กู (Margarita Xirgú) ได้นำผลงานเรื่อง ‘Yerma’ (แล้งเข็ญ) ของเฟเดริโกไปแสดงที่ฮาวานาและประสบความสำเร็จอย่างมาก ส่วนตัวเขามีเพิ่งเขียนบทละครเวทีเรื่อง La Casa de Bernarda Alba (บ้านของเบร์นาร์ดา อัลบา) ซึ่งถูกยกย่องว่าเป็นบทละครที่ดีที่สุดของเขา ในเรื่องนี้เขาตั้งใจสะท้อนความรู้สึกและอารมณ์ของผู้หญิงที่ถูกกดทับในสังคมที่ล้าสมัย สะท้อนความผิดหวังในการโหยหาอิสรภาพผ่านตัวละครแม่และลูกสาว 5 คนที่ขังตนเองอยู่ในบ้าน

 

ราว 5 ปีก่อนถูกสังหาร (1930) ลอร์กาสร้างสรรค์บทละครเวทีแนวใหม่ชื่อ El Público (ผู้ชม) เป็นงานเขียนแนวเหนือจริง (Surrealism) ที่แตกต่างจากทุกผลงานที่เขาเคยเขียน งานชิ้นนั้นเขาพยายามสะท้อนภาพความเป็นจริงทางกายภาพที่ผสานกับภาพหลอนของจิตใจ ผ่านเรื่องราวที่เล่าถึงการถูกกดของคนรักเพศเดียวกัน

 

และอีกชิ้นคือเรื่อง Así Que Pasen Cinco Años (ดังนั้นที่ผ่านมาห้าปี) ซึ่งว่าด้วยเรื่องของเวลา ความคับข้องใจ ความรัก การเดินทางภายในจิตใจ ความเป็นหมันและความตาย เขาเขียนผลงานชิ้นนี้เสร็จในเดือนสิงหาคม 1931 และเริ่มซ้อมเพื่อเปิดหารแสดงในเดือนกรกฎาคม 1936 แต่ละครเรื่องนั้นก็ไม่ได้เกิดขึ้น จนกระทั่งปี 1975

 

ลอร์กาถูกยิงเสียชีวิตพร้อมกับอาจารย์หนึ่งคน และนักสู้วัวที่นิยมอนาธิปไตยอีกสองคน พวกเขาดูเป็นเพื่อนร่วมทางที่เหมาะเจาะสำหรับคืนสุดท้ายในชีวิตของกันและกัน กวีหนึ่งคน ครูหนึ่งคน และนักสู้วัวกระทิงสองคน

 

ที่กล่าวว่าดูเหมาะเจาะ เพราะลอร์กาให้ความสำคัญกับการศึกษาของประชาชนเสมอ ในปี 1931 เขาจึงสร้างคณะละครชื่อลาบารากา (La Barraca) เพื่อให้ผู้คนได้เข้าถึงการละครเวทีคลาสสิกที่ดีที่สุดของสเปน ลอร์กายังหลงใหลในการสู้วัวกระทิง การแสดงที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน การต่อสู้ระหว่างคนและสัตว์ที่ซึ่งความตายมักจะซุ่มรอจังหวะเข้าหาอยู่เสมอ

 

ลอร์กามักจะพูดว่าเขาเป็นคนของพรรค ‘คนยากจนคนดีที่น่าสงสาร’ แต่ตัวเขาเป็นกวีที่ไม่รับตำแหน่งในพรรคการเมืองใดๆ เพราะเขาพูดว่า “เมื่อกวีเปลี่ยนอุดมการณ์ ก็ไม่ได้เป็นกวีอีกต่อไป”

 

ทุกชีวิตที่โดนปลิดทิ้งเร็วเกินไป ทำให้เกิดความคิดถึงชนิดหนึ่งถึงสิ่งที่ไม่มีอีกแล้ว เป็นความสิ้นหวังเพราะไม่อาจจะรู้ได้ว่าหากชีวิตนั้นได้ดำเนินต่อไป ชีวิตนั้นอาจจะมอบสิ่งที่เป็นประโยชน์อันใดได้บ้าง

 

เมื่อลอร์กาถูกสังหาร เขากำลังเขียนบทละครเวทีซึ่งจะมีทั้งสิ้นสามองก์ แต่ทำสำเร็จเพียงแค่องก์แรกเท่านั้น แม้แต่ชื่อเรื่องเขาก็ยังไม่ได้ตั้ง บทละครเรื่องนี้จะเป็นงานสะท้อนสังคมที่ลอร์กาต้องการให้ผู้ชมไม่เพียงแต่ได้เห็นสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น แต่ได้รู้สึกไปกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นด้วย เป็นชิ้นงานที่ชีวิตและละครหล่อหลอมเข้าด้วยกัน แต่สุดท้ายเราก็ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าหากเขาได้ทำงานชิ้นนั้นลุล่วง มันจะเปิดประตูการละครเวทีรูปแบบใหม่อย่างไรบ้าง

 

“ผมอยากฝันไปว่าเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 1936 เฟเดริโก การ์เซีย ลอร์กาไม่ได้ขึ้นรถไฟไปเมืองกรานาดา แต่อยากจะไปดูงานแสดงมวยปล้ำกับปาโบล เนรูดา (Pablo Neruda) แทน ผมฝันให้เขาไม่ได้ชื่อว่าเฟเดริโก ผู้ที่ฉลองวันเกิดของเขาในวันที่ 18 กรกฎาคม แต่ว่าเป็นเฟร์นันโดซึ่งเกิดวันที่ 30 พฤษภาคม เพื่อที่เขาจะได้ไม่ต้องเดินทางกลับไปหาครอบครัวที่กรานาดา เพื่อฉลองวันนักบุญประจำวันเกิดของเขา และหากสงครามเริ่มปะทุขึ้นเสียก่อน เขาก็คงยังอยู่ที่มาดริดเพื่อเคียงข้างฝ่ายสาธารณรัฐ

 

“ผมจินตนาการถึงลอร์กา ว่าถ้าช่วงสงครามกลางเมืองเขานำผลงานของโรงละครลาบารากาของเขาไปสู่นักรบและผู้คนทั้งหลายจะดีสักแค่ไหน เพราะแม้แต่ในสนามรบที่น่ากลัวที่สุด พวกเราก็ไม่ควรจะลืมความเป็นมนุษย์ของพวกเรา หากไม่มีศิลปะเราก็ไม่ใช่มนุษย์

 

“ผมอยากนึกภาพไปว่าลอร์กาลี้ภัยการเมืองในปี 1939 ได้สำเร็จ และที่เม็กซิโกกับคณะละครของฆวน รามิเรซ ลูกัส อย่างมีความสุข ผมยังพยายามจิตนาการว่าบทกวีของเขาจะเป็นอย่างไรในประเทศนี้ เพราะเขามักจะใส่ใจความเป็นไปตามจังหวะของผู้คน โดยเฉพาะในประเทศเม็กซิโก ที่ที่ไม่มีชาวยิปซีและไม่มีตำรวจ ที่ที่มีวัฒนธรรมสามวัฒนธรรมผสมผสานกัน

 

“ท้ายที่สุดนี้ผมฝันว่าเขาได้กลับมาประเทศสเปนหลังจากการเสียชีวิตของเผด็จการฟรังโก และได้ไปร่วมงานเปิดตัวผลงานที่เขาไม่เคยได้ตั้งชื่อ

 

“ทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงแค่จินตนาการของผม แต่ความเป็นจริงคือ ความเกลียดชังและความต้องการรักษาสังคมที่ล้าสมัย และการปิดกั้นการแสดงออก ทำให้ลอร์กาไม่สามารถมีชีวิตของเขาได้

 

“การแก้แค้นเล็กๆ ที่ผมผุดคิดขึ้นมาได้ก็คือ ทุกวันนี้เราทุกคนรู้จักลอร์กา แต่ว่าไม่มีใครที่อยากจดจำชื่อคนที่ฆ่าเขา” เอมิลิโอ เด มิเกล กาลาเบีย เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสเปนประจำประเทศไทย

 

สำหรับชาวกรุงเทพฯ ที่ไม่คุ้นเคยกับงานของลอร์กา สามารถร่วมชมการแสดงสดดนตรี Weeping Guitar ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศไทย และเป็นการรวมตัวกันหลายแขนง ทั้งนักดนตรีคลาสสิกจาก Pro Musica, Hockhacker จาก Rap Against Dictatorship, นักกีตาร์ พงษ์พัฒน์ พงษ์ประดิษฐ์ และนักออกแบบภาพเคลื่อนไหวชื่อ ดังศรัณย์ เย็นปัญญา, อาจารย์ภาษาตะวันตก ไปจนถึงนักการทูต จะมารวมตัวบนเวทีนี้ครั้งแรกและครั้งเดียวเท่านั้น 

 

ศิลปินหลายคนสร้างผลงานใหม่ขึ้นมาโดยได้รับแรงบันดาลใจมาจากผลงานกวี La Guitarra ของลอร์กา ที่เป็นภาพของศิลปินของแนวคิดสาธารณรัฐที่ฟาสซิสต์จงเกลียดจงชัง ทั้งความคิดทางการเมืองฝ่ายซ้าย ทั้งการทะลายความเชื่อทางศาสนา และการสำรวจเพศสภาวะ การสังหารเขากลายเป็นสัญลักษณ์แห่งอาชญากรรมจากสงครามกลางเมืองสเปนและการต่อสู้กระเสือกกระสนดิ้นรนอย่างยาวนานเพื่อประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นในขณะนี้ทั่วโลก

 

Weeping Guitar จัดขึ้นโดย WTF Gallery, Pro Musica และสถานเอกอัครราชทูตสเปนประจำประเทศไทย สนับสนุนโดยสถาบันเกอเธ่และสาขาวิชาภาษาสเปน ภาควิชาภาษาตะวันตก คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 2 รอบ ในวันอาทิตย์ที่ 28 และวันจันทร์ที่ 29 มีนาคม 2564 ที่สถาบันเกอเธ่ประเทศไทย

 

บัตรเข้าชมราคา 600 บาท สำหรับการจองและสอบถามเพิ่มเติม โปรดส่งอีเมลมาที่ [email protected] หรือติดต่อ 0 2662 6246, 08 9926 5474

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

FYI
  • ข้อเขียนนี้มาจาก ฯพณฯ เอมิลิโอ เด มิเกล กาลาเบีย เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรสเปนประจำประเทศไทย
  • แปลโดยนิรชร เกิดกฤษฎานนท์
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X