ผลการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ที่ระดับ 0.00-0.25% โดยเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์กันไว้ก่อนหน้า พร้อมยังคงแผนซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 120,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (คิวอี) ต่อไป เนื่องจากเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงมีความเปราะบางจากปัญหาไวรัสโควิดระบาด ทำให้เฟดยังต้องใช้เครื่องมือทุกอย่างในการสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจเพื่อให้มีเสถียรภาพและเกิดการจ้างงานอย่างเต็มที่
ขณะเดียวกัน ถ้อยแถลงของเฟดยังแสดงความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่จะสามารถเดินหน้าไปได้อย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะเผชิญกับการระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่พุ่งสูงขึ้น เพราะเฟดมั่นใจว่าการเดินหน้าเร่งฉีดวัคซีนให้ประชาชนจะช่วยลดผลกระทบของวิกฤตสาธารณสุขต่อเศรษฐกิจได้ และยังเอื้ออำนวยต่อการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ ต่อไปด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้เศรษฐกิจจะมีความคืบหน้าไปยังเป้าหมายที่เปิดทางให้เฟดสามารถปรับลดวงเงินในการซื้อพันธบัตรตามมาตรการคิวอี ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อ แต่เฟดก็ยังคงต้องการเวลามากกว่านี้ในการประเมินความคืบหน้าทางเศรษฐกิจในการประชุมครั้งต่อๆ ไป
นอกจากนี้ เฟดยังคงยืนกรานว่า อัตราเงินเฟ้อของประเทศที่เพิ่มสูงขึ้นอยู่ในขณะนี้เป็นผลมาจากการฟื้นตัวจากวิกฤตใหญ่ ซึ่งจะมีผลระยะสั้นๆ และไม่ใช่ปัจจัยเร่งด่วนที่น่าวิตกกังวลแต่อย่างใด
ผลการประชุมเฟดส่งผลให้ตลาดหุ้นวอลล์สตรีทเมื่อวานนี้ (28 กรกฎาคม) ปิดตลาดปรับตัวในกรอบแคบ โดยดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับตัวลดลง 127.59 จุด หรือ 0.36% ปิดที่ 35,930.93 จุด ดัชนี S&P 500 ลดลง 0.82 จุด หรือ 0.02% ปิดที่ 4,400.64 จุด ขณะที่ดัชนีแนสแด็กปรับตัวเพิ่มขึ้น 102.01 จุด หรือ 0.70% ปิดที่ 14,762.58 จุด เนื่องจากได้อานิสงส์รายงานผลประกอบการรายไตรมาสของหุ้นบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ที่เพิ่มสูงขึ้น
รายงานระบุว่า กำไรของ Apple เพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว มาอยู่ที่ 21,700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากยอดขายไอโฟน 5G ส่วน Microsoft กำไรเพิ่มขึ้น 47% ที่ 16,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะดีมานด์ด้านบริการคลาวด์และเกม และกำไรของ Alphabet บริษัทแม่ของกูเกิล เพิ่มขึ้นทุบสถิติใหม่ ทำให้หุ้นพุ่งขึ้น 3.1% และแพลตฟอร์ม YouTube ทำรายได้เพิ่มขึ้น 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากรายได้จากการโฆษณา
หุ้นเทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการล็อกดาวน์ในหลายประเทศ บวกกับการที่สถานการณ์โควิดยังระบาด ทำให้ผู้คนหันมาทำกิจกรรมออนไลน์เพิ่มมากขึ้น โดยนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งประเมินว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นของบริษัทเทคโนโลยีเหล่านี้ อาจส่งผลให้ทางการและหน่วยงานรัฐหันมาจับตามอง และปรับเปลี่ยนนโยบายเพื่อจัดการกับความ ‘ใหญ่’ ของธุรกิจเหล่านี้
นอกจากบริษัทเทคโนโลยีแล้ว บริษัทอื่นๆ ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยหุ้นของโบอิ้งเพิ่มขึ้นเกือบ 4.2% หลังบริษัทพลิกกลับมากำไรเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ไตรมาส 3 ปี 2019 ทำให้บริษัทประกาศยกเลิกแผนปลดคนงาน ส่วนหุ้นของไฟเซอร์พุ่งขึ้น 3.2% เพราะรายได้จากวัคซีนสูงเกินกว่าที่คาดการณ์กันไว้
ทั้งนี้ ภาพรวมของตลาดแสดงให้เห็นว่าหลายบริษัทต่างมีรายได้เพิ่มสูงขึ้นในช่วงไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ อีกหนึ่งปัจจัยบ่งชี้ต่อการฟื้นตัวทางเศรฐษกิจของสหรัฐฯ โดยพิจารณาจากการออกมาเปิดเผยรายได้ของบรรดาบริษัททั้งหลาย พบว่า 89% ของบริษัทใน S&P 500 มีรายได้ทุบสถิติสูงสุด ขณะที่อีก 86% ทำรายได้มากกว่าที่คาดการณ์ไว้
โดยมีการคาดการณ์ว่าดัชนี S&P 500 ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ย 2.4% ในเดือนกรกฎาคมนี้ ส่วนดัชนีแนสแด็กและดัชนีอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 1.8% และ 1.2% ตามลำดับ
ด้านราคาน้ำมัน ขยับขึ้นเมื่อวานนี้ (28 กรกฎาคม) หลังคลังน้ำมันสำรองในสหรัฐฯ ลดลงถึง 4.1 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 กรกฎาคม บ่งชี้ถึงอุปสงค์แข็งแกร่ง ในขณะที่สต๊อกเบนซินและน้ำมันกลั่นก็ลดลงเช่นกัน โดยสัญญาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส งวดส่งมอบเดือนกันยายน เพิ่มขึ้น 74 เซนต์ ปิดที่ 72.39 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ด้านเบรนต์ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนกันยายน เพิ่มขึ้น 26 เซนต์ ปิดที่ 74.74 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล
ส่วนราคาทองคำในวันพุธที่ผ่านมา (28 กรกฎาคม) ปิดลบเล็กน้อย ก่อนเฟดมีคำแถลงทางนโยบาย และทรุดลงไปอีกในกระดานซื้อขายทางอิเล็กทรอนิกส์ หลังเฟดออกถ้อยแถลง โดยราคาทองคำโคเม็กซ์ งวดส่งมอบเดือนสิงหาคม ลดลง 10 เซนต์ ปิดที่ 1,799.70 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์
อ้างอิง: