×

ผลประชุม Fed ชี้เริ่มลด QE กลางเดือนพฤศจิกายน พร้อมจับตาเงินเฟ้อใกล้ชิด หวั่นยืดเยื้อกว่าคาด

14.10.2021
  • LOADING...
ประชุม Fed

สถานีโทรทัศน์ CNBC เปิดเผยรายงานผลสรุปการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ในช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ซึ่งสมาชิกในที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้เริ่มกระบวนการลดปริมาณซื้อคืนพันธบัตรรายเดือนตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ หลังเห็นตรงกันว่าเป้าหมายเศรษฐกิจของ Fed ทั้งอัตราเงินเฟ้อและการจ้างงานเป็นไปในทิศทางที่ Fed ตั้งใจไว้

 

ทั้งนี้กระบวนการลด QE หรือ Tapering นี้ ที่ประชุม Minutes ชี้ว่า Fed น่าจะเริ่มด้วยการลดการซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ ลง 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน และลดการซื้อคืนตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (MBS) 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน จากระดับปัจจุบันที่ 80,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐตามลำดับ

 

โดยตามแผนการของ Fed จะยุติโครงการซื้อคืนพันธบัตรทั้งหมดภายในช่วงกลางปี 2022 หากว่าไม่มีสถานการณ์พลิกผันใดๆ ซึ่งที่ประชุม Fed เมื่อเดือนกันยายนส่วนใหญ่เห็นตรงกันว่า จะสามารถประกาศลดการซื้อคืนพันธบัตรรายเดือนในช่วงกลางเดือนหน้า หลังการประชุม Fed ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 พฤศจิกายน หรือกลางเดือนธันวาคมได้

 

อย่างไรก็ตาม ประเด็นเศรษฐกิจที่ยังน่าวิตกกังวลก็คือสถานการณ์เงินเฟ้อในสหรัฐฯ เนื่องจากมีหลายปัจจัยบ่งชี้ว่าภาวะเงินเฟ้ออาจจะรุนแรงและยืดเยื้อมากกว่าที่ Fed คาดการณ์กันไว้ก่อนหน้านี้ โดย Fed จะจับตาติดตามความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด

 

อีกทั้งสถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบันทำให้สมาชิกในที่ประชุมส่วนหนึ่งเห็นชอบให้ Fed เร่งมือลดปริมาณซื้อคืนพันธบัตรให้เกิดขึ้นภายในสิ้นปีนี้ เพื่อเปิดทางให้ Fed สามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อในปี 2022 ได้

 

ท่าทีของ Fed เมื่อวานนี้ (13 ตุลาคม) ส่งผลให้ตลาดหุ้น Wall Street ปิดผสมผสาน โดยดัชนีอุตสาหกรรม Dow Jones เคลื่อนไหวในกรอบแคบก่อนปิดตลาดที่ 34,377.81 จุด ขณะที่ดัชนี S&P 500 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 13.15 จุด หรือ 0.30% ปิดที่ 4,363.80 จุด และดัชนี Nasdaq เพิ่มขึ้น 105.71 จุด หรือ 0.73% ปิดที่ 14,571.64 จุด

 

โดยความเคลื่อนไหวของตลาดได้รับแรงผลักดันจากสถานการณ์เงินเฟ้อที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น หลังดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ปรับตัวขึ้น 0.4% ในเดือนกันยายน เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.3% อยู่เล็กน้อย ขณะที่ เมื่อเทียบอัตรารายปี ดัชนี CPI ปรับตัวขึ้น 5.4% ในเดือนกันยายน สูงกว่าที่คาดการณ์กันไว้ที่ระดับ 5.3%

 

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังได้ข่าวดีจากรายงานผลประกอบการไตรมาส 2 ของบริษัทต่างๆ ซึ่งรวมถึง เจพีมอร์แกน เชส, แบล็กร็อก และ เดลตา แอร์ไลน์ส ที่มีผลประกอบการดีเกินคาด ดันให้หุ้นในตลาดปิดบวกเล็กน้อย

 

ขณะเดียวกันท่าทีของ Fed บวกกับรายงานดัชนี CPI ของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้นักลงทุนจำเป็นต้องหาสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ หนึ่งนั้นก็คือพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ

 

ทั้งนี้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 1.542%  

 

ในส่วนของอีกหนึ่งสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำ เมื่อวานนี้ (13 ตุลาคม) ก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดในรอบ 1 เดือน โดยราคาทองคำโคเม็กซ์ งวดส่งมอบเดือนธันวาคม เพิ่มขึ้น 35.40 ดอลลาร์สหรัฐ ปิดตลาดที่ 1,794.70 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์

 

ขณะที่ราคาน้ำมันปิดตลาดปรับตัวลดลงจากแรงเทขายทำกำไรของนักลงทุนและความกังวลต่ออุปสงค์โลกชะลอตัว โดยราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส งวดส่งมอบเดือนพฤศจิกายน ลดลง 20 เซนต์ ปิดที่ 80.44 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ด้านน้ำมันดิบเบรนต์ทะเลเหนือ งวดส่งมอบเดือนธันวาคม ลดลง 24 เซนต์ ปิดที่ 83.18 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล

 

ปิดท้ายด้วยสถานการณ์ในแวดวงพลังงาน สินค้าโภคภัณฑ์ชั้นนำ ที่ล่าสุด Fatih Birol กรรมการผู้อำนวยการสำนักงานพลังงานระหว่างประเทศ หรือ IEA ที่ออกมาคาดการณ์ว่าความต้องการบริโภคน้ำมันทั่วโลกจะแตะระดับสูงสุดในปี 2025 ก่อนค่อยๆ ปรับตัวลดลง ท่ามกลางความพยายามของนานาประเทศที่หันไปพึ่งพาพลังงานสะอาดหรือพลังหมุนเวียนมากขึ้น เพื่อบรรลุเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ทำลายชั้นบรรยากาศเป็นศูนย์ภายในปี 2050

 

อย่างไรก็ตาม พิจารณาจากความต้องการใช้พลังงานอย่างมากในปัจจุบันเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจจากวิกฤตโควิด ตัวแทนจาก IEA กล่าวว่า รัฐบาลทั่วโลกจำเป็นจะต้องมีแผนรับมือกับภาวะโลกร้อนที่เข้มงวดจริงจังมากกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ซึ่ง IEA ประเมินว่าแผนที่ดำเนินงานจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนลงที่ 40% ภายในปี 2050 เท่านั้นยังห่างจากเป้าหมาย 0% ที่ตั้งใจกันไว้ ขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันยังคงสูงอยู่ที่ 75 ล้านบาร์เรลต่อวัน ปริมาณน้อยกว่าการบริโภคน้ำมันในขณะนี้ 25 ล้านบาร์เรลต่อวัน กระนั้นในช่วง 1-2 ปีนี้ ความต้องการบริโภคน้ำมันมีสิทธิ์พุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์

 

ในส่วนของความต้องการใช้ถ่านหิน IEA คาดว่าน่าจะลดลงได้ 10% ภายในปี 2030 หากนานาประเทศสามารถปฏิบัติตามแผนโลกร้อนได้ตามที่รับปากไว้ กระนั้นตามเป้าหมายเพื่อป้องกันหายนะภัยด้านสภาพภูมิอากาศ และจำกัดไม่ไห้อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส ทั่วโลกจำเป็นต้องลดความต้องการใช้ถ่านหินให้ได้ 55% ภายในปี 2030

 

ความเห็นของ IEA ครั้งนี้มีขึ้นก่อนที่ผู้นำทั่วโลกจะเข้าประชุม COP26 ที่เมืองกลาสโกว์ สกอตแลนด์ในเดือนพฤศจิกายนนี้

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X