×

Fed เตือนผู้บริโภคชาวอเมริกันเตรียมตั้งรับสินค้าแห่ขึ้นราคา หลังภาคธุรกิจเริ่มหาวิธีผลักภาระภาษีให้ลูกค้าแล้ว เพื่อรับมือนโยบายทรัมป์

24.04.2025
  • LOADING...
Fed

ตามรายงานของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เมื่อวันพุธ เผยว่าธุรกิจต่างๆ ที่ต้องเผชิญกับผลกระทบในระยะแรกจากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าของประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ กำลังมองหาวิธีผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้บริโภค 

 

ขณะที่ทรัมป์สั่งให้เก็บภาษีนำเข้าแบบครอบคลุมจากทุกประเทศ และเพิ่มอัตราภาษีกับสินค้านำเข้าจากจีน Beige Book ซึ่งเป็นรายงานการประเมินภาวะเศรษฐกิจจากเจ้าหน้าที่ Fed ได้สะท้อนว่า บริษัทต่างๆ วางแผนจะรับมืออย่างไร โดยหลายบริษัทได้รับแจ้งจากซัพพลายเออร์ว่า ต้นทุนกำลังจะเพิ่มขึ้น และพวกเขากำลังหาวิธีหลีกเลี่ยงไม่ให้ต้องแบกรับภาระเอง ขณะเดียวกันก็ไม่แน่ใจว่าจะสามารถผลักต้นทุนไปยังลูกค้าได้มากน้อยแค่ไหน

 

โดยรวมแล้ว รายงานฉบับนี้ (เผยแพร่ทุกๆ 7 สัปดาห์) ได้อธิบายภาพรวมของการเติบโตทางเศรษฐกิจว่าแทบไม่เปลี่ยนแปลง จากรายงานเมื่อวันที่ 5 มีนาคม แม้ว่าจะเน้นย้ำว่าความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายการค้าระหว่างประเทศแผ่กระจายไปทั่วทั้ง 12 เขตเศรษฐกิจ

 

ราคาสินค้าโดยทั่วไปปรับตัวเพิ่มขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการประกาศ ‘วันปลดปล่อย’ เมื่อวันที่ 2 เมษายนของทรัมป์เกี่ยวกับมาตรการภาษี ส่วนการจ้างงานยังคงแทบไม่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคงานราชการซึ่งมีจำนวนพนักงานลดลง

 

รายงานระบุ “หลายบริษัทรายงานว่าพวกเขาได้เพิ่มค่าธรรมเนียมภาษีศุลกากร หรือปรับระยะเวลาการตั้งราคาสั้นลง เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนของนโยบายการค้า ธุรกิจส่วนใหญ่คาดว่าจะส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังลูกค้า อย่างไรก็ตาม ก็มีรายงานเกี่ยวกับการที่อัตรากำไรลดลงเนื่องจากต้นทุนที่สูงขึ้น ขณะที่ความต้องการยังซบเซาในบางภาคส่วน โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจที่ติดต่อโดยตรงกับผู้บริโภค”

 

ในพื้นที่นิวยอร์ก บริษัทต่างๆ รายงานว่า ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในกลุ่มอาหาร ประกันภัย และวัสดุก่อสร้าง โดยทางผู้ผลิตและผู้จัดจำหน่ายกล่าวว่า พวกเขาเริ่มเพิ่มค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมเนื่องจากค่าขนส่งที่สูงขึ้น

 

นอกจากนี้ ยังมีสัญญาณของปัญหาในข้อพิพาททางการค้ากับแคนาดา โดยนักท่องเที่ยวจองห้องพักโรงแรมน้อยลงในนิวยอร์กซิตี้ และมีอย่างน้อยหนึ่งบริษัทเทคโนโลยีที่รายงานว่าสูญเสียความสัมพันธ์ทางธุรกิจกับแคนาดา

 

รายงานยังระบุถึงผลกระทบที่เกิดจากกระทรวงประสิทธิภาพภาครัฐ (Department of Government Efficiency หรือ DOGE) ที่มีอีลอน มัสก์ เป็นผู้นำ ซึ่งส่งผลต่อการจ้างงานในพื้นที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดย DOGE มุ่งลดขนาดกำลังคนภาครัฐอย่างเข้มข้น โดยมีการเลิกจ้างพนักงานหลายพันราย และเสนอโครงการชดเชยให้ออกจากงานแก่พนักงานบางส่วน

 

แม้ภาพรวมของการจ้างงานในช่วงเวลาดังกล่าวจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก แต่รายงานระบุว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางจำนวนมากถูกเลิกจ้างหรือถูกให้ลาหยุดราชการในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา

 

ในส่วนอื่นของรายงาน องค์กรให้บริการที่พึ่งพาการสนับสนุนจากรัฐบาลกลางต่างประสบปัญหาตั้งแต่ทำเนียบขาวเริ่มดำเนินการตรวจสอบและปรับลดหน่วยงานที่ได้รับงบประมาณจากรัฐบาล รายงานระบุโดยเฉพาะว่า ธนาคารอาหารในนิวยอร์กกำลังเผชิญกับการตัดงบประมาณในหลายโครงการ รวมถึงต้องลดจำนวนบุคลากรลง

 

รายงานระบุเพิ่มเติมว่า “ผู้ติดต่อจากองค์กรไม่แสวงหากำไรและหน่วยงานชุมชนอื่นๆ แสดงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับอนาคตของเงินทุนจากรัฐบาลกลางและการสนับสนุนด้านบริการ ซึ่งสร้างความท้าทายในการจัดสรรบุคลากร การวางกลยุทธ์ และการวางแผนระยะยาว”  

 

ภาพ: SolStock / Getty Images 

อ้างอิง:

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising