×

Fed ส่งสัญญาณชัด! เริ่มหั่นดอกเบี้ยครั้งแรกรอบประชุม 17-18 ก.ย. นี้ ฉุดดอลลาร์อ่อนต่อเนื่อง ดัน Fund Flow ไหลเข้า Emerging Markets

27.08.2024
  • LOADING...

วิเคราะห์ Fed จากการประชุม Jackson Hole ส่งสัญญาณชัดเจนเริ่มลดดอกเบี้ยครั้งแรก คาดเป็นผลบวกต่อตลาดหุ้นในกลุ่ม Emerging Markets รวมทั้งตลาดหุ้นไทยระยะสั้น ลุ้นแตะ 1,400 จุด

 

ชาตรี โรจนอาภา CFA, FRM, Head of Investment Consultant SCB CIO ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ผ่านรายการ Morning Wealth ว่า หลังการประชุม Jackson Hole เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ถือเป็นครั้งแรกที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ได้ออกมาส่งสัญญาณชัดเจนว่า คณะกรรมการนโยบายการเงินของ Fed (FOMC) มีโอกาสลดดอกเบี้ยลงในการประชุมวันที่ 17-18 กันยายนนี้ โดย เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ระบุว่า แนวโน้มการลดดอกเบี้ยค่อนข้างชัดเจน ซึ่งการลดดอกเบี้ยจากนี้ไปจะปรับลดลงเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่จะทยอยออกมา ทั้งตัวเลขการจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อ

 

อย่างไรก็ดี หลังจากแถลงการณ์ของพาวเวลล์ พบว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond Yield) ของสหรัฐฯ ตอบรับในเชิงบวก โดยปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 3.8% และยืนอยู่ที่ระดับดังกล่าว ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงทันที รวมถึงค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอยู่ที่ราว 34 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และภาพรวมของตลาดหุ้นส่วนใหญ่ในช่วงวันจันทร์ที่ผ่านมา (26 สิงหาคม) ปรับตัวเพิ่มขึ้น

 

นอกจากนี้ ชาตรีประเมินว่าการส่งสัญญาณของ Fed ในรอบนี้จะเป็นการส่งสัญญาณไปยังธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกอีกด้วย เนื่องจากก่อนหน้านี้ธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกต่างรอติดตามท่าทีของ Fed เพื่อนำมาใช้พิจารณาดำเนินงานนโยบายทางการเงิน ยกเว้นธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เพียงประเทศเดียวที่ดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับขึ้น

 

คาดแบงก์ชาติทั่วโลกหั่นดอกเบี้ยตาม 0.5-1%

 

แนวโน้มดอกเบี้ยที่มีทิศทางปรับลดลงทั่วโลกถือเป็นปัจจัยบวกต่อภาพรวมตราสารหนี้ โดยเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงก่อนหน้านี้คาดว่าจะมีทิศทางอ่อนค่าลงต่อเนื่อง เพราะแม้ธนาคารกลางอื่นๆ ทั่วโลกจะปรับลดดอกเบี้ยลง แต่อัตราการลดลงจะยังช้ากว่า Fed ซึ่งในช่วง 1 ปีข้างหน้า ตลาดคาดว่า Fed จะลดดอกเบี้ยลงประมาณ 2%

 

ขณะที่ธนาคารกลางอื่นๆ คาดว่าจะลดดอกเบี้ยลงในระดับ 0.5-1% ส่งผลให้ในระยะสั้นค่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มอ่อนค่าลงต่อเนื่อง อีกทั้งปัจจัยเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าจะเป็นปัจจัยบวกต่อประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Market: EM) ด้วย ส่งผลให้มีโอกาสที่เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ (Fund Flow) จะย้ายออกจากตลาดพัฒนาแล้ว (Developed Market: DM) มาลงทุนในกลุ่ม EM เพิ่มมากขึ้น รวมถึงเข้ามาลงทุนสินค้าโภคภัณฑ์ ทั้งน้ำมันและทองคำ ซึ่งให้ประโยชน์ตามไปด้วย

 

SCB CIO มองว่าการลงทุนในกลุ่ม EM เริ่มมีความน่าสนใจมากกว่ากลุ่ม DM เนื่องจากแนวโน้มค่าเงินดอลลาร์สหรัฐที่อ่อนค่าลงจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ Fund Flow มีโอกาสย้ายจากกลุ่ม DM มาลงทุนในกลุ่ม EM มากขึ้น ประกอบกับในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การลงทุนในตลาดหุ้นกลุ่ม DM ให้ผลตอบแทนไปค่อนข้างมากแล้ว ดังนั้นจึงมองว่าตลาดหุ้นกลุ่ม EM โดยเฉพาะประเทศที่เศรษฐกิจมีโอกาสเติบโตได้จากการบริโภคภายในประเทศ เช่น อินเดีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม จะได้ประโยชน์จาก Fund Flow ที่ไหลเข้า

 

มองหุ้นไทยเริ่มน่าสนใจช่วงสั้น มีลุ้นพุ่งแตะ 1,400 จุด

 

นอกจากนี้มีมุมมองว่าตลาดหุ้นไทยเริ่มกลับมาน่าสนใจ หลังปัจจัยการเมืองมีแนวโน้มนิ่งขึ้น ส่งผลให้มี Fund Flow ไหลกลับเข้ามาลงทุนตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยปัจจุบันขึ้นมาอยู่เหนือระดับ 1,350 จุด ซึ่งในระยะสั้นประเมินว่ามีโอกาสที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้นไปถึงระดับ 1,400 จุดได้

 

ส่วนหุ้นขนาดใหญ่ในต่างประเทศน่าสนใจน้อยลง ส่วนหนึ่งเนื่องจากในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา หุ้นขนาดใหญ่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ในระดับสูงมาก โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีต่างๆ ในขณะที่ทิศทางดอกเบี้ยที่ปรับลดลงจะเป็นประโยชน์กับหุ้นกลุ่มขนาดเล็ก รวมถึงหุ้นขนาดเล็กที่มีภาระหนี้สูงซึ่งจะได้รับประโยชน์มากกว่ากลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ดีไปแล้วช่วงก่อนหน้านี้

 

ดังนั้นจึงแนะนำให้ทยอยย้ายเงินลงทุนออกจากหุ้นขนาดใหญ่ในกลุ่มเทคโนโลยีที่สร้างผลตอบแทนได้ดีก่อนหน้านี้ไปลงทุนในหุ้นขนาดกลางหรือขนาดเล็กมากขึ้น

 

สำหรับการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ในกลุ่ม DM เช่น สหรัฐฯ หรือยุโรป มีมุมมองว่าน่าสนใจน้อยลง เนื่องจาก Bond Yield ปัจจุบันที่ระดับ 3.8% ได้ตอบรับประเด็นปรับลดดอกเบี้ยล่วงหน้าไปมากพอสมควรแล้ว

 

ดังนั้นประเมินว่าจากนี้ไป การปรับลดลงของ Bond Yield สหรัฐฯ น่าจะมีอัตราไม่สูงมากนักเมื่อเปรียบเทียบกับดอกเบี้ยนโยบายของสหรัฐฯ จึงมองว่ามีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในการลงทุนตราสารหนี้ในกลุ่ม DM ขณะที่นโยบายการเงินของ BOJ ดอกเบี้ยยังมีทิศทางแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ดังนั้นโดยภาพรวมของ DM การลงทุนในตราสารหนี้จึงยังไม่น่าสนใจ

 

ชาตรีกล่าวต่อว่า มีมุมมองที่ว่าการลงทุนในตราสารหนี้ของกลุ่ม EM เริ่มน่าสนใจมากขึ้น โดยช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา Bond Yield ของไทยอายุ 10 ปีอยู่ที่ระดับ 2.7% แต่ปัจจุบันปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 2.54% ซึ่งถือว่ามีผลกระทบต่ำเมื่อเทียบกับ Bond Yield ของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวลดลงมาในอัตราที่สูงกว่า ยกเว้นจีนที่มี Bond Yield ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 2.1% ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับต่ำมาก อีกทั้งตลาดตราสารของจีนจะมีความเสี่ยงในประเด็นการผิดนัดชำระหนี้ของภาคเอกชนอีกด้วย

 

กองทุนรวมอสังหา-โครงสร้างพื้นฐาน รับอานิสงส์ดอกเบี้ยขาลง

 

นอกจากนี้ยังมีสินทรัพย์ที่น่าสนใจในการลงทุนกลุ่มกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมาถือว่าให้ผลตอบแทนที่ค่อนข้างต่ำ ทั้งนี้คาดว่าสินทรัพย์ลงทุนดังกล่าวจะเริ่มน่าสนใจมากขึ้น ด้วยปัจจัยบวกจากจุดเริ่มต้นของดอกเบี้ยขาลงที่ไม่เกิดขึ้นอย่างยาวนานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยการลดดอกเบี้ยหรือ Bond Yield ถือเป็นปัจจัยบวกโดยตรงต่อสินทรัพย์ลงทุนกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และโครงสร้างพื้นฐาน เพราะการประเมินมูลค่าโครงการโดยปกติจะใช้วิธีคิดลดกระแสเงินสด (DCF) เมื่อดอกเบี้ยลดลงจะมีผลเชิงบวกค่อนข้างมาก ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าของโครงการปรับเพิ่มสูงขึ้นจากอัตราดอกเบี้ยที่ลดลง

 

ดังนั้นจึงแนะนำนักลงทุนเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์กลุ่มอสังหาริมทรัพย์เพิ่มขึ้น เช่น กลุ่ม Global REITs ซึ่งจะได้ประโยชน์จากแนวโน้มดอกเบี้ยที่ลดลงมาช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายให้ปรับตัวดีขึ้น

 

อีกสินทรัพย์ที่มองว่าน่าสนใจคือทองคำ ซึ่งได้รับประโยชน์ทั้งจากประเด็นที่เงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าและประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในตะวันออกกลาง

 

อีกทั้งธนาคารกลางต่างๆ ทั่วโลกยังทยอยซื้อสะสมทองคำเพื่อเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ธนาคารกลางจีน (PBOC) ที่เคยหยุดซื้อไปก่อนหน้านี้ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมาก็เริ่มกลับมาทยอยซื้อทองคำอีกครั้ง ดังนั้นในระยะยาวประเมินว่าราคาทองคำยังอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยเริ่มมีนักวิเคราะห์หลายแห่งประเมินว่าราคาทองคำมีโอกาสปรับเพิ่มขึ้นไปแตะระดับ 3,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อทรอยออนซ์ได้ในระยะกลางถึงระยะยาว

 

อย่างไรก็ดี มีปัจจัยที่ต้องติดตามคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนปีนี้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการลงทุนในหลายมิติ จึงแนะนำให้เพิ่มความระมัดระวังในการลงทุน โดยเฉพาะในตลาดหุ้นของกลุ่ม DM ที่ปรับเพิ่มขึ้นแรงก่อนหน้านี้ในช่วงต้นปี ขณะที่ตลาดหุ้นกลุ่ม EM ให้เน้นการลงทุนในประเทศที่มีการบริโภคภายในที่เติบโตได้ดี รวมถึงการลงทุนในตลาดหุ้นไทยที่เริ่มน่าสนใจ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X