ถือเป็นการตัดสินใจที่เป็นไปตามที่นักวิเคราะห์หลายสำนักคาดการณ์ไว้ เมื่อคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติเป็นเอกฉันท์เมื่อวันพุธที่ 31 กรกฎาคม ในการตรึงอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นที่ระดับ 5.25-5.50% ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายของ Fed ยังคงอยู่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 23 ปี
การตรึงอัตราดอกเบี้ยติดต่อกันเป็นครั้งที่ 8 หลังจากที่ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 11 ครั้งนับตั้งแต่ที่เริ่มวัฏจักรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนมีนาคม 2022 ส่งผลให้ Fed ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยรวม 5.25%
กระนั้นถ้อยแถลงของ Fed หลังการประชุมก็ระบุชัดว่า มีโอกาสที่ Fed จะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมคณะกรรมการ FOMC ครั้งหน้า ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 17-18 กันยายน โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญอย่างความก้าวหน้าของการลดอัตราเงินเฟ้อตามเป้าหมาย 2% ที่วางไว้
นอกจากนี้ถ้อยแถลงของคณะกรรมการ FOMC ยังระบุด้วยว่า คณะกรรมการไม่คาดว่าจะเป็นเรื่องที่เหมาะสมในการปรับลดเป้าหมายอัตราดอกเบี้ย จนกว่าจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้นว่าเงินเฟ้อจะปรับตัวสู่ระดับ 2% อย่างยั่งยืน
เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมเสร็จสิ้นเมื่อวันพุธที่ผ่านมา (31 กรกฎาคม) ว่า Fed ยังไม่มีการตัดสินใจใดๆ ในการประชุมครั้งหน้าเดือนกันยายน
แม้จะไม่มีการฟันธงอย่างชัดเจน แต่พาวเวลล์ก็ส่งสัญญาณแง้มว่า Fed มีความเชื่อมั่นมากขึ้นต่อการชะลอตัวลงของเงินเฟ้อ บวกกับทิศทางเศรษฐกิจที่กำลังขยับเข้าใกล้ระดับที่เหมาะสมที่ Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย และการตัดสินใจปรับเปลี่ยนใดๆ ยังคงยึดมั่นอยู่กับข้อมูลในช่วงเวลา ณ ขณะนั้นเป็นหลัก
ทั้งนี้ พิจารณาจากข้อมูลเศรษฐกิจในปัจจุบัน เศรษฐกิจสหรัฐฯ ถือว่ากำลังขยายตัวในอัตราที่แข็งแรง ส่วนอัตราการว่างงานแม้จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่โดยรวมก็ยังถือว่าอยู่ในระดับต่ำ
ความชัดเจนของ Fed ที่ตัดสินใจคงอัตราดอกเบี้ยไว้ตามเดิม แต่บ่งชี้ว่าจะเริ่มผ่อนคลายนโยบายทางการเงินในเดือนกันยายนหากว่าเงินเฟ้อชะลอตัวลง ส่งผลให้บรรยากาศตลาดหุ้น Wall Street เมื่อวันพุธที่ผ่านมา (31 กรกฎาคม) ปิดตลาดส่งท้ายเดือนกรกฎาคมในแดนบวก อีกทั้งยังได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มผู้ผลิตชิป ทำให้ดัชนีทั้ง 3 ตลาดขยับพุ่งขึ้น
อ้างอิง: