เป็นไปตามความคาดหมายของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ สำหรับรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ระหว่างวันที่ 15-16 มิถุนายนที่ผ่านมา เนื่องจากประเด็นหลักของการพูดคุยคือความเป็นไปได้ที่ Fed อาจจะเริ่มชะลอการซื้อคืนพันธบัตร ซึ่งจะเป็นก้าวแรกในการที่ Fed จะถอนตัวออกจากนโยบายผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE)
การหารือสะท้อนให้เห็นมุมมองส่วนใหญ่ของบรรดาสมาชิก Fed ที่เห็นว่าแม้จะมีสัญญาณน่าเป็นห่วงจากปัญหาเงินเฟ้อที่อาจจะทนทานมากกว่าที่ Fed คาดการณ์ไว้ แต่ก็เชื่อว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ จะสามารถเดินหน้าต่อไปได้ และเพราะเรื่องของอัตราเงินเฟ้อกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยังคงมีปัจจัยอ่อนไหว ทำให้การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยหรือการลดการซื้อคืนพันธบัตรจะยังไม่เกิดขึ้นในเวลาอันใกล้นี้แน่นอน
อย่างไรก็ตาม Fed ก็มองว่าเงื่อนไขที่จะทำให้ Fed ต้องเริ่มดำเนินการลดการซื้อคืนพันธบัตรและปรับดอกเบี้ย อย่างอัตราเงินเฟ้อและตัวเลขการจ้างงาน บวกกับความเชื่อมั่นของผู้บริโภคในสหรัฐฯ อาจจะมาถึงเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งจะทำให้ Fed ต้องเร่งลด QE และขึ้นดอกเบี้ยเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้
ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและกดให้อัตราดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำเพื่อสะดวกต่อการกู้ยืมและใช้จ่าย Fed ได้ออกโครงการซื้อคืนพันธบัตรรัฐบาลมูลค่า 1.2 แสนดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน ภายใต้เงื่อนไขว่า Fed จะซื้อต่อไปจนกว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่องยั่งยืนตามเป้าหมาย คือมีการจ้างงานเต็มอัตรา และมีอัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ราว 2%
นอกจากนี้ที่ประชุมของ Fed ยังแตกเสียงออกเป็น 2 ฝั่ง คือฝ่ายที่เห็นว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ กำลังเติบได้ดี เป็นไปในทิศทางบวก กับฝ่ายที่ยังเห็นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังไม่มีสัญญาณชัดเจนเพียงพอที่จะทำให้เชื่อมั่นได้ว่า เศรษฐกิจของประเทศกำลังไปได้สวย ดังนั้นจึงอยากให้ Fed ใช้ความอดทน รอดูสถานการณ์ต่อไปอีกสักระยะ ก่อนที่จะตัดสินใจปรับเปลี่ยนนโยบายขึ้นอัตราดอกเบี้ย และลดแผน QE
ในส่วนความเห็นเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ ที่ประชุม Fed ส่วนใหญ่คาดว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ จะปรับตัวลดลงในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เมื่อปัญหาซัพพลายได้รับการแก้ไข ท่ามกลางเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่เริ่มกลับมาเปิดได้ตามปกติอีกครั้ง หลังสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดคลี่คลาย
นอกจากนี้ที่ประชุม Fed ส่วนใหญ่ต่างเห็นตรงกันว่าจะให้มีการหารือเรื่องการผ่อนคลาย QE อย่างจริงจังในการประชุม Fed ช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้
การประชุม Fed ในครั้งนี้มีขึ้นก่อนที่จะมีรายงานตัวเลขการจ้างงานของสหรัฐฯ ประจำเดือนพฤษภาคม โดยสำนักงานสถิติของกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยผลสำรวจการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (Job Openings and Labor Turnover Survey: JOLTS) พบว่า ตัวเลขการเปิดรับสมัครงาน ซึ่งเป็นมาตรวัดความต้องการในตลาดแรงงานในเดือนพฤษภาคม ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่เดือนธันวาคม ปี 2000
ทั้งนี้ตัวเลขเปิดรับสมัครงานเพิ่มขึ้น 9.2 ล้านตำแหน่ง ซึ่งแม้จะน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะอยู่ที่ 9.39 ล้านตำแหน่ง แต่การเพิ่มขึ้นของตำแหน่งงานในตลาดที่ต่อเนื่องจากเดือนเมษายนก่อนหน้าก็ชี้ให้เห็นว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เริ่มขยับไปข้างหน้าได้แล้ว ทำให้มีความต้องการแรงงานเกิดขึ้นตามมา
ขณะเดียวกันกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ยังพบว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ลาออกจากงานปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ 2.5% หรือราว 3.6 ล้านคน อีกทั้งปริมาณการไล่ออกของภาคธุรกิจยังลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ หลายบริษัทพยายามเสนอเงินเดือนในอัตราสูง พร้อมโบนัสและสวัสดิการอื่นๆ เพื่อจูงใจแรงงานให้มาสมัครงาน ทำให้แรงงานในสหรัฐฯ เริ่มมีความมั่นใจที่จะเปลี่ยนงานเพื่อโอกาสที่ดีขึ้น
ตลาดแรงงานที่สดใสครั้งนี้ได้อานิสงส์จากนโยบายการเร่งกระจายการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนของภาครัฐ บวกกับชาวสหรัฐฯ เริ่มออกมาหางานกันมากขึ้น หลังมาตรการสวัสดิการช่วยเหลือว่างงานของรัฐบาลจะหมดอายุในช่วงสิ้นสุดฤดูร้อนนี้
พิสูจน์อักษร: ชนเนตร ลอยครุฑ
อ้างอิง: