แม้ เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะยืดอกออกมายอมรับว่าการบรรเทาปัญหาเงินเฟ้อเป็นภาระหน้าที่หลักของธนาคารกลาง และเชื่อมั่นว่าธนาคารกลางจะสามารถบรรลุภารกิจนี้ได้อย่างลุล่วง
อย่างไรก็ตาม ในเวทีการประชุมเดียวกันที่ Jackson Hole ในไวโอมิงนี้ ผู้เชี่ยวชาญส่วนหนึ่งได้เปิดเผยรายงานผลการศึกษาที่ชี้ชัดว่า ลำพังแค่ Fed ไม่สามารถจัดการปัญหาเงินเฟ้อได้ แถมยังจะทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจทั่วโลกเลวร้ายมากยิ่งขึ้นจากการเดินหน้าปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- เศรษฐกิจโลก กำลังเข้าสู่ภาวะถดถอย แต่มี 7 ปัจจัย ที่รอบนี้แตกต่างจากวิกฤตการเงินปี 2008
- เปิด 5 สัญญาณอันตรายเศรษฐกิจ บ่งชี้โลกเสี่ยงเผชิญภาวะถดถอย
- นักเศรษฐศาสตร์ฟันธง เงินเฟ้อ ทั่วโลกผ่านจุดพีค แต่จะไม่กลับไปต่ำเท่ากับช่วงก่อนโควิด
รายงานของสองนักวิจัยอย่าง ฟรานเซสโก เบียนคี จากมหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์ และ ลีโอนาร์โด เมโลซี จากสำนักงาน Fed สาขาชิคาโก ระบุว่า ในกรณีปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อส่วนใหญ่ได้รับแรงหนุนจากการใช้จ่ายทางการคลังเพื่อตอบสนองต่อวิกฤตโควิด ดังนั้นเพียงแค่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยจึงไม่เพียงพอที่จะดึงตัวเลขเงินเฟ้อให้ลงมา
สองนักวิจัยกล่าวว่า การแทรกแซงทางการคลังเมื่อเร็วๆ นี้เพื่อตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ของโควิด ได้เปลี่ยนความเชื่อของภาคเอกชนเกี่ยวกับกรอบการคลัง แม้จะเร่งให้มีการฟื้นตัว แต่แนวทางดังกล่าวยังมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อด้วย ดังนั้นอัตราเงินเฟ้อที่เป็นอยู่ในทุกวันนี้จึงไม่สามารถหลีกเลี่ยงเพียงแค่นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้
ผลการศึกษาแนะว่า Fed จะสามารถลดอัตราเงินเฟ้อได้ก็ต่อเมื่อหนี้สาธารณะสามารถทรงตัวได้สำเร็จด้วยแผนการเงินที่น่าเชื่อถือ ก่อนชี้ว่าหากไม่มีข้อจำกัดในการใช้จ่ายทางการคลัง และนโยบายการเงินที่เข้มงวดรัดกุม การขึ้นอัตราดอกเบี้ยจะทำให้ต้นทุนหนี้แพงขึ้นและผลักดันการคาดการณ์เงินเฟ้อให้สูงขึ้น
นอกจากนี้ ความเห็นของนักวิจัยยังสอดคล้องกับบรรดานักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ที่มองว่า Fed จะสามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างเต็มที่ เมื่อทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในการสร้างปัจจัยต่างๆ เพื่อช่วยลดอัตราเงินเฟ้อลง
วันเดียวกัน ด้วยแนวโน้มที่ Fed จะยังคงเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป ส่งให้นักวิเคราะห์ในตลาดวอลล์สตรีทส่วนหนึ่งออกมาคาดการณ์ทิศทางแนวโน้มของตลาดเทคโนโลยีว่ามีสิทธิ์เป็นในทางลบมากกว่าบวก แม้ว่าเดือนกรกฎาคม ดัชนี Nasdaq จะขยับปรับตัวเพิ่มขึ้นให้บรรดานักลงทุนใจชื้นมากขึ้นก็ตาม
เหตุผลเพราะภาคเทคโนโลยีมีความอ่อนไหวเป็นพิเศษต่อการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อ เมื่อราคาลดลง การประเมินมูลค่าของบริษัทเทคโนโลยีจะเพิ่มขึ้น ดึงดูดนักลงทุนให้เข้ามาเสี่ยง แต่เมื่ออัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น นักลงทุนก็จะลดลงเพื่อต้นทุนความเสี่ยงสูง ทำให้มูลค่าหุ้นเทคโนโลยีในตลาดปรับตัวลดลง
แม้ดัชนี Nasdaq จะขยับมาอยู่ในช่วงขาขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ แต่ถ้าเทียบเป็นอัตรารายปีจะพบว่า ดัชนี Nasdaq ปรับตัวลดลงมาแล้วประมาณ 23% ท่ามกลางความกังวลว่าการขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่ยาวนานจะส่งผลเสียต่อธุรกิจ โดยขณะนี้การใช้จ่ายด้านเทคโนโลยีต่างๆ ในระดับองค์การเริ่มลดลง
นอกจากนี้ บริษัทเทคโนโลยีบางแห่งก็เริ่มปลดพนักงานบ้างแล้ว โดยมีรายงานว่าในปี 2022 จนถึงขณะนี้ มีคนงานในภาคเทคโนโลยีทั่วสหรัฐฯ โดนปลดแล้วประมาณ 40,000 คน
ส่วนบริษัทต่างๆ ที่พึ่งพาการใช้จ่ายของผู้บริโภคและรายได้จากโฆษณา เช่น Amazon, Facebook และ Twitter มีแนวโน้มที่จะประสบปัญหาหนักกว่าเพื่อน
อย่างไรก็ตาม ซาเมียร์ ซามานา นักยุทธศาสตร์การตลาดอาวุโสระดับโลกของ Wells Fargo Investment Institute กล่าวว่า ไม่ใช่ทุกบริษัทเทคโนโลยีที่จะเผชิญปัญหา เพราะบริษัท Cisco และ Microsoft ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ ฮาร์ดแวร์ และเซมิคอนดักเตอร์ มีโอกาสที่ยังสามารถเติบโตได้ดี และคุ้มค่าที่นักลงทุนจะเข้าซื้อ เพราะการพัฒนาระบบอัตโนมัติและอินเทอร์เน็ตของสิ่งต่างๆ ทำให้บริษัทเหล่านี้มีอายุยืนยาว
กระนั้นบรรดานักวิเคราะห์เตือนว่า ตราบใดที่เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง การลงทุนก็ยังคงจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังอย่างมาก
อ้างอิง: