×

ตามคาด Fed อัดยาแรงขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ครั้งแรกในรอบเกือบ 30 ปี หวังสกัดเงินเฟ้อให้อยู่หมัด

16.06.2022
  • LOADING...
Fed ขึ้นดอกเบี้ย

เป็นไปตามความคาดหมายของนักวิเคราะห์และผู้เชี่ยวชาญหลายสำนักในช่วงต้นสัปดาห์ เมื่อคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มีมติเอกฉันท์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.75% ถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยที่สูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1994 หรือในรอบ 28 ปี ขณะที่ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed ส่งสัญญาณชัดเจน ระบุพร้อมใช้มาตรการจัดหนักจัดเต็ม ตั้งเป้าสู้วิกฤตเงินเฟ้ออย่างเต็มที่

 

สถานีโทรทัศน์ BBC ของอังกฤษ รายงานว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้จะทำให้อัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นมาอยู่ในช่วงระหว่าง 1.5-1.75% นับเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งที่ 3 ในรอบปีนี้ และมีขึ้นหลังจากที่ตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาปรับตัวเพิ่มขึ้นเกินคาด

 

ทั้งนี้ พาวเวลล์ให้สัมภาษณ์ระหว่างงานแถลงข่าวหลังการประชุม ยอมรับว่าจำเป็นต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับมากกว่าที่เคยให้สัญญาณเอาไว้ เป็นเพราะรายงานดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ล่าสุดที่ 8.6% แสดงให้เห็นว่า ภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ร้อนแรงมากกว่าที่คาด โดยมีปัจจัยความไม่แน่นอนในช่วง 4-5 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะสงครามความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครน

 

ยิ่งไปกว่านั้นพาวเวลล์ได้เน้นถึงความจำเป็นที่ต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวด ซึ่งรวมถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยชุดใหญ่ พร้อมย้ำว่า ความผิดพลาดร้ายแรงที่สุดจากการตัดสินใจครั้งนี้คือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ยไม่สามารถทำให้อัตราเงินเฟ้อลดลงได้

 

ในความเห็นของพาวเวลล์ การขยายตัวเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมอาจมีการปรับตัวลดลงเล็กน้อย ทว่าก็ยังอยู่ในระดับที่เหมาะสม เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมยังคงแข็งแกร่งและรักษาอัตราการเติบโตไปในทิศทางที่ดี พร้อมให้คำมั่นสัญญาว่า Fed จะพยายามใช้ทุกเครื่องมือที่มีจัดการเงินเฟ้อให้อยู่หมัด และจะทุ่มเทความพยายามอย่างสุดความสามารถไม่ให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย อันเนื่องมาจากการใช้ยาแรงของ Fed

 

พาวเวลล์ยังได้กล่าวอีกว่า การประชุมครั้งต่อไปในเดือนกรกฎาคมอาจขึ้นดอกเบี้ยอีกที่อัตรา 0.5 หรือ 0.75% จนกว่าเงินเฟ้อจะเริ่มกลับลงมาสู่ระดับปกติให้ได้ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้คือ 2% ขณะที่ตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ในเดือนพฤษภาคมพุ่งแตะระดับ 8.6% ทำสถิติสูงสุดในรอบกว่า 40 ปี ทั้งยังลุกลามเศรษฐกิจภาคต่างๆ ไม่หยุด แถมยังไม่มีสัญญาณจะชะลอตัวลง

 

ในรายงานของ Fed ที่มีการเปิดเผยหลังการประชุมนี้ยังแสดงให้เห็นว่า เจ้าหน้าที่คาดว่าอัตราที่ Fed เรียกเก็บจากธนาคารในการกู้ยืมจะสูงถึง 3.4% ภายในสิ้นปี โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นอีก ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่ดอกเบี้ยจำนอง ดอกเบี้ยบัตรเครดิต และสินเชื่ออื่นๆ

 

เกรกอรี ดาโก หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทที่ปรึกษากลยุทธ์ EY-Parthenon กล่าวว่า การตัดสินใจของ Fed ทำให้บรรดาธนาคารกลางในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและธนาคารกลางในตลาดเศรษฐกิจเกิดใหม่บางแห่งกำลังปรับนโยบายที่รัดกุมขึ้นกว่าเดิม

 

ดาโกกล่าวอีกว่า สถานการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นคือ สภาพแวดล้อมระดับโลกที่ค่อนข้างใหม่และไม่คุ้นเคยในช่วง 20-30 ปีที่ผ่านมา แต่ทั่วโลกก็จำเป็นต้องเผชิญหน้าร่วมกัน

 

ความเห็นของดาโกสอดคล้องกับนักวิเคราะห์อีกหลายสำนักที่ระบุตรงกันว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแรงของ Fed ในครั้งนี้จะส่งผลกระทบใน 3 ด้านด้วยกัน หนึ่งคือความเสี่ยงของการเกิดภาวะถดถอยของเศรษฐกิจโลก สองคือมหกรรมการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางนานาประเทศ ซึ่งขณะนี้มีธนาคารกลางยุโรป (ECB), ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ส่งสัญญาณเตรียมปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และสามคือปริมาณผลกำไรที่ลดลง (Profit Recession) ของภาคเอกชน

 

นอกจากนี้อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นยังกลายเป็นภาระหนักสำหรับประเทศในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นไปกระตุ้นความต้องการเงินดอลลาร์ ส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาเพิ่มขึ้น 10% แล้ว และทำให้ประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะตลาดเกิดใหม่ที่มีหนี้เป็นดอลลาร์จำนวนมาก อยู่ภายใต้แรงกดดัน

 

ทั้งนี้ พาวเวลล์ย้ำว่า เป้าหมายสูงสุดของ Fed ในเวลานี้คือ การควบคุมอัตราเงินเฟ้อ เพื่อทำให้เศรษฐกิจมีเสถียรภาพและสามารถขยายตัวเติบโตต่อไปได้

 

อ้างอิง: 

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH


Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X