×

ครบ 1 ปี สหรัฐฯ เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย จับตา ‘Fed’ อาจหยุดดูดเงินออกจากระบบ แต่ยังไม่ถึงขั้นกลับลำมาทำ QE

20.03.2023
  • LOADING...
Fed ขึ้นดอกเบี้ย

HIGHLIGHTS

  • เมื่อ 1 ปีก่อน วันที่ 16 มีนาคม 2022 Fed ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกของขาขึ้นในรอบนี้ ก่อนที่จะปรับขึ้นต่อเนื่องกันมา 8 ครั้งการประชุม จากระดับ 0.5% ขึ้นมาเป็น 4.75%
  • อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นมา 4.5% พร้อมกับสภาพคล่องที่ถูกดึงออกไป 5.73 แสนล้านดอลลาร์ เริ่มส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเงินในเวลานี้ โดยเฉพาะธนาคารขนาดเล็ก
  • มีการตั้งข้อสังเกตว่า Fed กำลังกลับมาทำ QE อีกครั้ง หลังจากงบดุลของ Fed เพิ่มขึ้นราว 3 แสนล้านดอลลาร์ภายใน 1 สัปดาห์ ทำให้สินทรัพย์รวมของ Fed เพิ่มจาก 8.3 ล้านล้านดอลลาร์ มาเป็น 8.6 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เห็นมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2022 
  • ธนาคารสหรัฐฯ 11 แห่ง นำโดย JPMorgan Chase ยื่นมือเข้าช่วยธนาคาร First Republic ด้วยการฝากเงินรวม 3 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อบรรเทาปัญหาสภาพคล่อง
  • ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ มองว่า “ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นยังไม่ได้หมายความว่า Fed จะทำ QE ครั้งที่ 5 ความเหมือนของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับ QE คือการอัดฉีดเงินเข้าไปเหมือนกัน แต่เป็นคนละวัตถุประสงค์”
  • สรพล วีระเมธีกุล หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บล.กสิกรไทย มองว่า “Fed อาจยังไม่ถึงขั้นทำ QE ครั้งที่ 5 แต่อาจจะเห็นการชะลอการทำ QT ได้ หรือการชะลอการขึ้นดอกเบี้ย” แต่การขึ้นดอกเบี้ยของ Fed น่าจะพีคในเดือนพฤษภาคม ที่ระดับ 5.25%

หลังปัญหาสภาพคล่องปะทุขึ้นมาในระบบสถาบันการเงินของสหรัฐฯ และยุโรป ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางยุโรป (ECB) ต่างตอบสนองต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการประกาศคุ้มครองเงินฝากเพื่อยุติปัญหา Bank Run รวมถึงการอัดฉีดเม็ดเงินช่วยเหลือผ่านการปล่อยกู้ระยะสั้นเพื่อสกัดไม่ให้ปัญหาลุกลาม 

 

อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาเหล่านี้อาจเป็นเพียงแค่การบรรเทาระยะสั้น ปัญหาทั้งหมดยังไม่ได้จบลง ธนาคารกลางต่างๆ ยังมีสิ่งที่ต้องดำเนินการอีกมากเพื่อยุติปัญหา และปัญหาที่ว่านี้ก็ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องของสถาบันการเงิน แต่ยังมีเรื่องของเงินเฟ้อและสภาพคล่องของอุตสาหกรรมอื่นๆ 

 

ครบรอบ 1 ปี ‘Fed’ เดินหน้าขึ้นดอกเบี้ย

 

ย้อนกลับไปเมื่อ 16 มีนาคม 2022 ธนาคารกลางสหรัฐฯ Fed ตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกของขาขึ้นในรอบนี้ ก่อนที่จะปรับขึ้นต่อเนื่องกันมา 8 ครั้งการประชุม จากระดับ 0.5% ขึ้นมาเป็น 4.75% โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการควบคุมเงินเฟ้อให้ลดลงมาอยู่ในระดับเป้าหมาย


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


แม้ว่าอัตราเงินเฟ้อที่เคยพุ่งขึ้นไปถึง 8.5% จะลดลงมาอยู่ในระดับ 6% และมีแนวโน้มจะลดลงต่อเนื่อง แต่ก็ยังมีช่องว่างอย่างมากจากเป้าหมายของ Fed ที่ระดับ 2%

 

Gus Faucher หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ PNC Financial Services Group กล่าวว่า “Fed จะรู้ตัวว่าพวกเขาขยับตัวช้าสำหรับเกมนี้ เงินเฟ้อยังคงค้างอยู่สูงนานกว่าที่เราคาดคิด ดังนั้น Fed อาจจะต้องถอนสภาพคล่องเร็วกว่านี้” 

 

แต่หลังจากผ่านมาหนึ่งปี เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังค่อนข้างแข็งแกร่ง ส่วนหนึ่งสะท้อนจากตัวเลขการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก แต่เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาก็ได้สะท้อนให้เห็นว่า Fed กำลังเผชิญกับปัญหาอื่นเพิ่มเติมด้วย 

 

จากนโยบายการเงินแบบตึงตัวที่ดำเนินมาทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ยมาแล้ว 4.5% และถอนสภาพคล่องออกจากระบบ 5.73 แสนล้านดอลลาร์ ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเงินในเวลานี้ โดยเฉพาะธนาคารขนาดเล็ก

 

Peter Boockvar ประเจ้าหน้าที่บริหารการลงทุนของ Bleakley Advisory Group กล่าวว่า “หลักประกันจำนวนมากได้รับความเสียหายเมื่ออัตราดอกเบี้ยไม่ได้แค่ถูกปรับขึ้นจาก 0% แต่ความเร็วในการขึ้นยังได้ส่งผลกระทบอย่างมาก”

 

อัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นกระทบต่อสินทรัพย์ที่ธนาคารต่างๆ ถือครองอยู่ ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาล ตราสารหนี้สินเชื่อที่อยู่อาศัย และหุ้นกู้ เพราะราคาของสินทรัพย์เหล่านี้จะลดลงเมื่อดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น อย่างกรณีของ SVB ที่จำเป็นจะต้องขายสินทรัพย์ที่ถืออยู่หลายพันล้านดอลลาร์ออกมาพร้อมกับผลขาดทุน และสร้างความตื่นตระหนกไปทั่ว

 

‘Fed’ กำลังกลับมาทำ QE อีกครั้งจริงหรือ

 

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา งบดุลของ Fed กลับมาขยายตัวอีกครั้ง โดยเพิ่มขึ้นราว 3 แสนล้านดอลลาร์ ทำให้สินทรัพย์รวมของ Fed เพิ่มจาก 8.3 ล้านล้านดอลลาร์ มาเป็น 8.6 ล้านล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เห็นมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2022 

 

และล่าสุดเมื่อวานนี้ (19 มีนาคม) ธนาคารสหรัฐฯ 11 แห่ง นำโดย JPMorgan Chase & Co., Bank of America Corp., Citigroup Inc. และ Wells Fargo & Co. ได้ยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือธนาคาร First Republic ในด้านสภาพคล่อง โดยฝากเงินเข้ามาคิดเป็นมูลค่ารวม 3 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็นเวลาอย่างน้อย 120 วัน เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาลุกลาม

 

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า Fed กำลังกลับมาผ่อนคลายทางการเงิน ผ่านการทำ QE เป็นครั้งที่ 5 ใช่หรือไม่ ทั้งจากตัวเลขงบดุลที่เพิ่มขึ้น และการใส่เงินของธนาคารต่างๆ เข้ามาช่วยเหลือ ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าได้รับการหนุนหลังจาก Fed 

 

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ช่วง 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา สินทรัพย์รวมในงบดุลของ Fed กระโดดขึ้นมาเพราะโครงการ Bank Term Funding Program ที่เข้ามาช่วยเหลือกรณีการล้มของธนาคารอย่าง Silvergate Capital และ Silicon Valley Bank รวมทั้งป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา Bank Run ไปมากกว่านี้ในอุตสาหกรรมการเงิน

 

โครงการช่วยเหลือของ Fed เป็นการปล่อยกู้ระยะสั้นให้กับสถาบันการเงินที่มีปัญหา เพื่อรองรับการไถ่ถอนเงินฝากระยะสั้น แต่ไม่ใช่เพื่อให้แบงก์นำไปปล่อยกู้เพิ่มอีกทอดหนึ่ง ซึ่งธนาคารที่จะมากู้ยืมระยะสั้นจาก Fed ก็ต้องนำสินทรัพย์ ซึ่งเป็นพวกตราสารทางการเงินต่างๆ มาวางเป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน ส่งผลให้ตัวเลขสินทรัพย์ของ Fed เพิ่มขึ้น 

 

“ตัวเลขที่เพิ่มขึ้นยังไม่ได้หมายความว่า Fed จะทำ QE ครั้งที่ 5 แต่ก็สามารถพูดได้ว่าเป็นการขยายขนาดงบดุลของ Fed ความเหมือนของสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นกับ QE คือการอัดฉีดเงินเข้าไปเหมือนกัน แต่เป็นคนละวัตถุประสงค์” 

 

หากดูในรายละเอียดจะเห็นว่าตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอยู่ในส่วนของธุรกรรม Repurchase Agreement (Repo) คือการที่ธนาคารต่างๆ กู้ยืมเงินจาก Fed โดยนำตราสารที่มีคุณภาพมาวางไว้เป็นหลักประกัน โดยมีข้อตกลงว่าไม่เกิน 1 ปี 

 

ขณะที่ส่วนของพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน (Mortgage Backed Securities) ยังคงลดลงต่อเนื่อง และไม่ได้กลับมาสูงขึ้นในช่วงนี้ สะท้อนว่า Fed ยังคงเดินหน้าดูดสภาพคล่องออกจากระบบ (QT) แทนที่จะเป็นการทำ QE 

 

ด้าน สรพล วีระเมธีกุล หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ยังเรียกว่า Fed กลับมาทำ QE ได้ไม่เต็มปาก เพราะโดยปกติแล้วการทำ QE จะทำผ่านทุกธนาคาร ไม่ใช่แค่เพียงธนาคารใดธนาคารหนึ่ง แต่สิ่งที่กำลังเกิดขึ้นคือการอัดฉีดเงินเฉพาะส่วนของธนาคารที่มีปัญหา 

 

“ส่วนตัวมองว่า Fed อาจยังไม่ถึงขั้นทำ QE ครั้งที่ 5 แต่อาจจะเห็นการชะลอการทำ QT ได้ หรือการชะลอการขึ้นดอกเบี้ย” 

 

ขณะเดียวกันสิ่งที่ต้องติดตามหลังจากนี้คือ ปัญหาสภาพคล่องที่เกิดขึ้นกับกลุ่ม Venture Capital ซึ่งเป็นลูกค้าของ SVB จะเกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ด้วยหรือไม่ เช่น กลุ่มยานยนต์ที่เผชิญแรงกดดันจากราคารถยนต์ที่ลดลงมา 10% ทำให้ Fed ต้องกลับมาพิจารณาอีกครั้งว่าจะดูดสภาพคล่องต่อเนื่อง หรือจะอัดฉีดสภาพคล่อง

 

หลังจากนี้ Fed จะให้ความสำคัญกับมิติอื่นนอกเหนือจากเรื่องเงินเฟ้อมากขึ้น แต่การขึ้นดอกเบี้ยยังน่าจะดำเนินต่อไปสำหรับอีก 2 ครั้งการประชุม ในเดือนมีนาคมและพฤษภาคม ทำให้อัตราดอกเบี้ยนโยบายไปพีคที่ระดับ 5.25% และหลังจากนั้นเราจะเริ่มเห็นอัตราเงินเฟ้อลดลงมาต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ย ส่วนจะมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินหรือไม่ โดยปกติแล้วหากเกิดขึ้นมักจะเกิดขึ้นในเดือนสิงหาคมหรือเดือนธันวาคม

 

ธนาคารกลางทั่วโลกอาจใช้แนวทางเดียวกับ ECB

 

ณัฐชาตกล่าวว่า อีกประเด็นหนึ่งที่หลายฝ่ายจับตามองคือ ปัญหาสภาพคล่องของธนาคารในยุโรป แต่ล่าสุดที่ ECB ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ตามคาด เป็นการส่งสัญญาณว่าธนาคารกลางจะจัดการปัญหาโดยแยกเรื่องราว 

 

“เรื่องดอกเบี้ยยังต้องเข้มงวดต่อไป เพราะภาพ Macro ที่เป็นอยู่ ส่วนเรื่องปัญหาสภาพคล่องของธนาคารก็จะใช้วิธีการเสริมสภาพคล่อง ซึ่งเป็นสิ่งที่ตลาดตอบรับในเชิงบวก” 

 

ฉะนั้นเราน่าจะเห็น Fed ใช้แนวทางเดียวกันสำหรับการประชุมวันที่ 22 มีนาคมนี้ ทำให้ Fed น่าจะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย 0.25% แทนที่จะถึงขั้นหยุดขึ้นดอกเบี้ยหรือลดดอกเบี้ย 

 

ส่วนปัญหาเรื่องสภาพคล่องของธนาคารต่างๆ จะลุกลามหรือไม่นั้น เรายังไม่เห็นความเสี่ยงที่กระจายทั้งระบบ สิ่งที่เกิดขึ้นยังเป็นปัญหาเฉพาะตัวของแต่ละแบงก์ จนกว่าจะเห็นความเชื่อมโยงในลักษณะที่ว่า ตราสารต่างๆ มีการรับประกันต่อเนื่องกัน หรือการผิดนัดชำระหนี้เพราะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ 

 

ตลาดหุ้นจะตอบสนองอย่างไร

 

ณัฐชาตกล่าวต่อว่า ภาพรวมตลาดหุ้นโลกผ่อนคลายมากขึ้น สำหรับหุ้นไทยในระยะสั้นมีโอกาสจะวิ่งกลับสู่พื้นฐานที่ 1,590 จุด แต่หาก ธปท. ตัดสินใจไม่ขึ้นดอกเบี้ย จะทำให้ดัชนี SET มีอัปไซด์เพิ่มขึ้นไปถึง 1,620 จุด

 

“การฟื้นตัวรอบนี้อาจไม่ได้รุนแรงรวดเดียว เพราะราคาพลังงานอ่อนลงมา โดยกลุ่มหุ้นที่อิงกับเศรษฐกิจในประเทศจะสนับสนุนการขึ้นของ SET”

 

สรพลมองว่า ในระยะสั้นนักลงทุนคลายกังวลมากขึ้น เป็นเพราะธนาคารกลางต่างๆ ตอบสนองได้เร็วกว่าในอดีตที่ผ่านมาค่อนข้างมาก ทำให้ตลาดหุ้นน่าจะยืนอยู่ได้ในระยะสั้น ส่วนระยะกลางอาจต้องเห็นการลดดอกเบี้ยเพื่อช่วยแก้ปัญหา

 

“หุ้นไทยปีนี้ติดลบไปถึง 7% ลงมากกว่าภูมิภาค และระดับดัชนี 1,550 จุด คิดเป็นระดับ -1SD ของค่าเฉลี่ย 5 ปีย้อนหลัง มองว่าเป็นโอกาสของการสะสมหุ้น” 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X