ทองคำถือได้ว่าเป็นสินทรัพย์ที่ยังคงถูกใช้อย่างกว้างขวางโดยนักลงทุนเพื่อป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ สะท้อนจากข้อมูลของ World Gold Council ที่บ่งชี้ว่าผลตอบแทนของทองคำสูงกว่าดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ในระยะยาว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูงอย่างมาก โดย World Gold Council พบว่าในปีที่อัตราเงินเฟ้อสูงกว่าระดับ 3% ทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้น 15% โดยเฉลี่ย
ปัจจุบันเริ่มมีการคาดการณ์เกี่ยวกับเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่
- ราคาน้ำมันและเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้น การกระจายวัคซีนที่ส่งผลให้เกิดการคาดการณ์ว่าอุปสงค์การใช้นำมันอาจเพิ่มสูงขึ้นหลังเศรษฐกิจฟื้นตัว
- ปัจจุบันอัตราการออมส่วนบุคคลในสหรัฐฯ อยู่ในระดับสูง เมื่อมีการผ่อนคลายข้อจำกัดจะกลับมากระตุ้นอุปสงค์ในหมู่บริโภค
- กลับกันในฝั่งของอุปทานกลับเผชิญปัญหาขาดแคลนสินค้าและวัตถุดิบสำหรับการผลิต รวมถึงแรงงาน ทำให้ภาคการผลิตไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันตามอุปสงค์ที่เพิ่มสูงขึ้น
- รัฐบาลสหรัฐฯ ยังคงเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจผ่านการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลัง ซึ่งจะเป็นกระตุ้นการใช้จ่ายซึ่งนำไปสู่ภาวะเงินเฟ้อเช่นกัน
ล่าสุดดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐฯ ดีดตัวขึ้น 0.8% ในเดือนเมษายน เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.2% เมื่อเทียบรายปี ดัชนี CPI พุ่งขึ้น 4.2% ซึ่งเป็นการดีดตัวขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 2008 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 3.6% สะท้อนแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นชัดเจน ขณะที่การคาดการณ์เงินเฟ้อผ่านทาง 10-year Breakeven Inflation Rate พุ่งขึ้นแตะ 2.54% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2013 เช่นกัน
การพุ่งขึ้นแรงของเงินเฟ้อทำให้ตลาดสงสัยในจุดยืนของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ที่มองว่าการพุ่งขึ้นของเงินเฟ้อจะเกิดขึ้นแค่ชั่วคราวเท่านั้น จนกระตุ้นการคาดการณ์ที่ว่า “Fed จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย รวมถึงลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) เร็วกว่าที่คาดไว้” เพื่อสกัดเงินเฟ้อ ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าวหนุนให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปีปรับตัวเพิ่มขึ้น พร้อมกับหนุนดัชนีดอลลาร์ให้แข็งค่าขึ้น จนกดดันราคาทองคำให้ร่วงลงทดสอบระดับต่ำสุดบริเวณ 1,808 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในระหว่างการซื้อขายของวันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคมที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี เมื่อเจ้าหน้าที่ Fed ออกมาเน้นย้ำถึงจุดยืนในการผ่อนคลายนโยบายการเงิน ประกอบกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าคาด ก็เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้นักลงทุนลดการคาดการณ์เกี่ยวกับเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยของ Fed และเป็นที่มาสำคัญที่อยู่เบื้องหลังการทะยานขึ้นของราคาทองคำในช่วงปลายสัปดาห์ที่แล้วต่อเนื่องมาถึงสัปดาห์นี้
นี่สะท้อนให้เห็นว่าตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะตัวเลขที่เกี่ยวข้องกับเงินเฟ้อและตลาดแรงงาน รวมไปถึงการคาดการณ์เกี่ยวกับการดำเนินนโยบายการเงินของ Fed ถือว่ามีบทบาทสำคัญที่จะกำหนดทิศทางราคาทองคำในระยะถัดไป จึงเป็นสิ่งที่นักลงทุนทองคำต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
“หากเงินเฟ้อพุ่งขึ้นแรง แต่ Fed ไม่เร่งคุมเข้มนโยบายการเงินเพื่อสกัดเงินเฟ้อ จะเป็นสภาพแวดล้อมที่เป็นบวกต่อราคาอย่างมาก กลับกันหากเงินเฟ้อพุ่งขึ้นจนกระตุ้นให้ Fed เร่งคุมเข้มนโยบายการเงินเพื่อสกัดเงินเฟ้อ จะเป็นสภาพแวดล้อมที่เป็นลบต่อราคาเช่นกัน จึงแนะนำนักลงทุนติดตามปัจจัยดังกล่าวอย่าใกล้ชิด”
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล