กระทรวงแรงงานสหรัฐฯ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้น 6.8% ในเดือนพฤศจิกายน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งถือเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 40 ปี และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 6.7%
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมปรับเพิ่มขึ้น 0.8% สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.7% เช่นกัน โดยเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นได้รับแรงหนุนจากราคาอาหารและพลังงาน ซึ่งทะยานขึ้นสูงสุดในรอบ 13 ปี
สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน ซึ่งไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ปรับเพิ่มขึ้น 0.5% จากเดือนก่อนหน้าและพุ่งขึ้น 4.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 30 ปี
ทั้งนี้นักวิเคราะห์ต่างประเมินว่า ตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดของสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูงจะเป็นแรงกดดันให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ต้องเร่งลดวงเงินการซื้อคืนพันธบัตรในการประชุมที่กำลังจะมาถึงในสัปดาห์หน้า เพื่อเปิดทางต่อการขึ้นดอกเบี้ยในระยะต่อไป
“ตัวเลขเงินเฟ้อที่ออกมาถือเป็นแรงกดดันโดยตรงต่อ Fed พวกเขากำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ยากต่อการตัดสินใจ เพราะเงินเฟ้อยังมีแนวโน้มจะร้อนแรงต่อเนื่องไปถึงไตรมาสแรกของปีหน้า” Kathy Bostjancic หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Oxford Economics กล่าว
ความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐฯ ทำให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ต้องออกมาให้คำมั่นว่าเงินเฟ้อจะเป็นปัญหาอันดับแรกๆ ที่รัฐบาลของเขาจะให้ความสำคัญในการแก้ไข โดยที่ผ่านมาไบเดนได้พยายามแก้ปัญหาซัพพลายเชนที่ตึงตัวด้วยการผ่อนคลายเกณฑ์สำหรับผู้ประกอบการธุรกิจขนส่งไปแล้ว
Beth Ann Bovino หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ S&P Global Ratings กล่าวว่า ตลาดกำลังจับตาดูท่าทีของ Fed ว่าจะลดการซื้อคืนพันธบัตรเร็วกว่าที่คาดไว้หรือไม่ จากแรงกดดันเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น
“Fed จะเคลื่อนไหวแน่นอน โดยเราคาดว่า Fed จะเร่งความเร็วในการลดวงเงินซื้อคืนพันธบัตรจนเหลือศูนย์ภายในเดือนมีนาคม และ Fed จะมีการปรับขึ้นดอกเบี้ยอย่างน้อยหนึ่งครั้งในปีหน้า” Bovino กล่าว
อ้างอิง:
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-12-10/consumer-prices-in-u-s-climb-at-fastest-annual-rate-since-1982?sref=CVqPBMVg
- https://www.bbc.com/news/business-59573145
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP