นักลงทุนทั่วโลกต่างเฝ้ารอผลการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายการเงิน (FOMC) ของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 พฤศจิกายนนี้ โดยหลายฝ่ายคาดการณ์ Fed น่าจะประกาศปรับลดวงเงินในโครงการซื้อพันธบัตรตามมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) ในการประชุมครั้งนี้ ก่อนที่จะปรับลดจริงในการประชุมเดือนธันวาคม ซึ่งจะทำให้ Fed ยุติมาตรการ QE โดยสิ้นเชิงในกลางปี 2022
การคาดการณ์ดังกล่าวเป็นไปตามความคิดเห็นของคณะกรรมการ FOMC ของ Fed ส่วนในการประชุมช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ที่ระบุว่า คณะกรรมการส่วนใหญ่เห็นควรให้เริ่มปรับลดวงเงินมาตรการ QE ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนหรือกลางเดือนธันวาคมปีนี้
อย่างไรก็ตาม ประเด็นปัญหาหลักๆ ที่นักลงทุนให้ความสนใจมากกว่า ก็คือท่าทีของ Fed ที่มีต่อภาวะเงินเฟ้อ หลังขยับพุ่งสูงขึ้นมากกว่าเป้าหมายที่ Fed วางไว้ โดยตัวเลขเงินเฟ้อล่าสุดในเดือนกันยายน อยู่ที่ 4.4% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า นับเป็นอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งเร็วที่สุดในรอบ 12 เดือนนับตั้งแต่ปี 1991
ผู้เชี่ยวชาญหลายสำนัก รวมถึง ไดแอน สวองก์ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Grant Thornton ระบุว่า สหรัฐฯ ในขณะนี้ ไม่มีแผนแม่บททางเศรษฐกิจหรือโรดแมปใดๆ ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน ทำให้ เจอโรม พาวเวลล์ ประธาน Fed อยู่ในภาวะที่ไม่ต่างอะไรกับการเดินไต่เชือก ที่จะต้องสร้างสมดุลระหว่างการฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยที่ต้องระวังไม่ให้มากเกินไปจนกระตุ้นให้เงินเฟ้อพุ่ง
ยิ่งไปกว่านั้น พาวเวลล์ยังมีความท้าทายที่ต้องพิสูจน์ตัวเองว่า มีความพร้อมที่จะทำหน้าที่ต่ออีกสมัย หลังวาระงานประธาน Fed ของตนเองจะหมดอายุลงในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้านี้ ซึ่งแม้หลายฝ่ายจะเชื่อว่า ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะเซ็นให้ พาวเวลล์ได้ไปต่อ แต่อย่างน้อยที่สุด พาวเวลล์จะต้องเรียกความเชื่อมั่นจากบรรดาสมาชิกสภาให้กลับคืนมาอีกครั้ง หลังมีข้อครหาว่าพาวเวลล์ดำเนินนโยบายเอื้อกลุ่มทุนในตลาดมากเกินไป รวมถึงข่าวอื้อฉาวกรณีใช้ประโยชน์จากตำแหน่งใน Fed เข้าซื้อหุ้นโกยกำไรเข้ากระเป๋า เพื่อให้อย่างน้อยที่สุด การดำเนินการกระตุ้นเศรษฐกิจของ Fed หลังจากนี้จะสามารถได้รับเสียงสนับสนุนจากสภาและรัฐบาลได้อย่างราบรื่นอีกครั้ง
ขณะเดียวกัน ก่อนที่จะมีรายงานเปิดเผยยืนยันท่าทีของธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ชัดเจนเกี่ยวกับแผนกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ได้ออกมายืนยันแล้วว่า ทางกระทรวงการคลังสหรัฐฯ มีแผนที่จะกู้ยืมเงินในช่วงไตรมาสปัจจุบันที่ 1.02 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นวงเงินที่สูงที่สุดนับตั้งแต่รัฐบาลได้ผ่านร่างกฎหมายแพ็กเกจกอบกู้วิกฤตเศรษฐกิจมูลค่า 2.75 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในเดือนมีนาคมปี 2020 ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประเมินว่า ปริมาณการกู้ยืมระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคมนี้จะเป็นไปตามการกู้ยืมเงินจริง และเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนหน้า (กรกฎาคม-กันยายน) ซึ่งมีมูลค่าอยู่ที่ 103,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเป็นช่วงเวลาที่วงเงินกู้กลับมามีผลบังคับใช้อีกครั้งหลังถูกระงับไปเป็นเวลา 2 ปี
พร้อมกันนี้ ทางคลังสหรัฐฯ ยังคาดการณ์ตัวเลขเงินกู้ในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า คือระหว่างเดือนมกราคม-มีนาคม ว่าจะอยู่ที่ 476,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตาม รายงานระบุว่า การกู้ยืมจริงดังกล่าวจะขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงที่ว่าทางสภาคองเกรสสามารถจัดการกับการปรับขยายเพดานหนี้ได้หรือไม่ โดย เจเน็ต เยลเลน รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวว่า การขยายเพดานหนี้มูลค่า 480,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐของสภาคองเกรสเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ กู้ยืมเงินมาใช้จ่ายได้ถึงวันที่ 3 ธันวาคมนี้เท่านั้น
เจ้าหน้าที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ระบุว่า แผนการกู้ยืมเงินที่ทางกระทรวงเปิดเผยเมื่อวันจันทร์ (1 พฤศจิกายน) นี้ว่า จะสามารถดำเนินไปได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับการที่สภาคองเกรสจะสามารถขยายเพดานหนี้ได้อีกหรือไม่ โดยเยลเลนได้กล่าวเตือนให้สหรัฐฯ เลี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ที่จะทำให้สหรัฐฯ เสี่ยงเข้าสู่ภาวะถดถอย
ขณะเดียวกัน เยลเลนยังใช้โอกาสนี้ยืนกรานว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในเวลานี้ ไม่ได้ในอยู่ในสถานะที่ ‘ร้อนแรงจนเกินไป’ ตามที่หลายฝ่ายวิตกกังวล และแม้อัตราเงินเฟ้อจะขยับสูงขึ้นมากในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนมีสาเหตุหลักๆ มาจากการระบาดของโรคโควิด ดังนั้นเยเลนเชื่อว่า เมื่อสถานการณ์โควิดได้รับการควบคุมดีขึ้น ปัจจัยที่จำกัดอุปทานด้านแรงงานและปัญหาห่วงโซ่อุปทานที่ดำเนินอยู่นี้ก็จะเริ่มคลี่คลาย
อ้างอิง: