ในการสัมมนาวิชาการ Jackson Hole Symposium ในรูปแบบออนไลน์ในวันที่ 27-29 สิงหาคม เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ Fed ได้ประกาศปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินครั้งสำคัญ โดยมีประเด็นน่าสนใจ 4 เรื่อง ดังนี้
(1) ตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อเฉลี่ยที่ 2% บ่งชี้ว่าจะยอมให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเกิน 2% ได้
(2) มองว่าความสัมพันธ์ระหว่างเงินเฟ้อและอัตราว่างงานลดลง บ่งชี้ว่าอัตราว่างงานอาจลดต่ำลง ขณะที่เงินเฟ้อไม่จำเป็นต้องปรับเพิ่มขึ้นได้
(3) Fed จะไม่ผูกมัดตัวเองกับสมการเป้าหมายเงินเฟ้อ แต่จะเพิ่มความยืดหยุ่น และ
(4) Fed ส่งสัญญาณว่า อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำเกินไปเป็นความเสี่ยงรุนแรงของเศรษฐกิจ
มีอะไรเปลี่ยนแปลง
SCBS ประเมินว่าการส่งสัญญาณของ Fed ในครั้งนี้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่ง ในเรื่องการดำเนินนโยบายทางการเงินของ Fed โดยเฉพาะอย่างยิ่งในมิติของการนำตัวเลขอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงานมาเป็นตัวกำหนดทิศทางของนโยบายทางการเงิน
ทั้งนี้ สัญญาณที่ชัดเจนคือ Fed เลิกกลัวอัตราเงินเฟ้อที่เกิน 2% แต่กลัวอัตราเงินเฟ้อที่ต่ำเกินไป รวมถึงปรับมุมมองในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเงินเฟ้อและอัตราการว่างงาน (SCBS ประเมินว่าสาเหตุสำคัญคือโครงสร้างเศรษฐกิจเปลี่ยนไป) ซึ่งถือเป็นข้อมูลที่สำคัญที่สุดของ Fed ในการนำมาใช้กำหนดนโยบายการเงินมาตลอด
ทั้งนี้ สามารถตั้งข้อสังเกตได้ว่าในช่วงหลังวิกฤตการเงินสหรัฐฯ จนถึงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 พบว่า อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ ไม่เคยปรับขึ้นไปได้ถึง 2% ตามเป้าหมายของ Fed แม้ Fed พยายามจะใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายแค่ไหนก็ตาม
ในขณะที่อัตราการว่างงานกลับลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ไปถึง 3% ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่ Fed จะมีมุมมองใหม่ว่าความสัมพันธ์ระหว่างอัตราการว่างงานและอัตราเงินเฟ้อมีอัตราที่ลดลง
ท้ายที่สุดที่ SCBS อยากจะชี้ให้เห็น คือการที่ Fed ระบุว่าจะเพิ่มความยืดหยุ่นไม่ยึดติดกับเงินเฟ้อ (ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่าอัตราเงินเฟ้อไม่เคยเพิ่มขึ้นถึงเป้าหมายของ Fed ที่ 2%) สะท้อนว่า Fed จะประเมินสภาพเศรษฐกิจจากปัจจัยอื่นๆ ประกอบด้วย ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่ตลาดกำลังจับตาว่าคืออะไร เพื่อจะได้สามารถคาดการณ์ทิศทางของนโยบายการเงินของ Fed ได้
Fed กำลังจะทำอะไรต่อไป
การส่งสัญญาณครั้งล่าสุดของ Fed นี้ SCBS มีความเห็นว่า Fed จะยังคงนโยบายดอกเบี้ยต่ำจนกว่าอัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเกิน 2% ไปอีกระยะหนึ่ง โดยมีประเด็นน่าสนใจ 2 ประการ คือ
(1) ในการคาดการณ์เศรษฐกิจของ Fed ณ เดือนมิถุนายน 2020 Fed คาดว่า Core PCE จะอยู่ที่ 1.7% ในปี 2022
(2) ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมา เงินเฟ้อเฉลี่ยอยู่ที่ 1.6% บ่งชี้ว่าเป็นไปได้น้อยที่เงินเฟ้อจะพุ่งขึ้นเกิน 2% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ดังนั้นจึงเป็นไปได้สูงที่ดอกเบี้ย FFR จะอยู่ในระดับปัจจุบันที่ 0-0.25% ในช่วง 5 ปีข้างหน้าเป็นอย่างน้อย หรือจนกว่า Fed จะใช้ข้อมูลอื่นๆ มาประกอบในการพิจารณา
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์