จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2565 พบว่าตัวเลขการส่งออกยังอยู่ในเกณฑ์ดีขยายตัวได้ 16.2% คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 770,819 ล้านบาท ขณะที่การนำเข้าขยายตัวได้ 16.8% คิดเป็นมูลค่า 776,612 ล้านบาท โดยการที่อัตราการนำเข้ายังเป็นบวกสะท้อนถึงการนำเข้าสินค้าทุนเพื่อการผลิตนำไปสู่การส่งออกนำรายได้เข้าประเทศต่อไป สำหรับตัวเลขส่งออก 2 เดือนแรก (มกราคม-กุมภาพันธ์ 2565) เป็นบวก 12.2% คิดเป็นมูลค่า 1,479,131 ล้านบาท ซึ่งยังเป็นระดับที่สูงกว่าเป้าหมาย
สำหรับตลาดที่ขยายตัวในระดับสูง 10 อันดับแรกในเดือนกุมภาพันธ์ประกอบด้วย 1. รัสเซีย +33.4% 2. อาเซียน 5 ประเทศ +31.5% 3. ฮ่องกง +29.8% 4. เกาหลีใต้ +28.9% 5. สหรัฐฯ +27.2% 6. อินเดีย +23% 7. ไต้หวัน +17.7% 8. สหราชอาณาจักร +17.3% 9. CLMV +14.4% 10. ตะวันออกกลาง +13.8%
จุรินทร์กล่าวว่า ปัจจัยที่จะมีส่วนช่วยสนับสนุนการส่งออกของไทยในปี 2565 ประกอบด้วยหลายปัจจัย ได้แก่
- การเพิ่มศักยภาพการส่งออกสินค้าเกษตรตามยุทธศาสตร์ ‘เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด’ เช่น ข้าว ซึ่งปีนี้คาดว่าจะสามารถส่งออกข้าวบรรลุเป้าหมายได้ไม่ต่ำกว่า 7,000,000 ตัน และจะมีตลาดเพิ่มในตะวันออกกลาง
- ตลาดใหม่ที่ตั้งเป้าไว้ โดยเฉพาะตลาดตะวันออกกลาง เริ่มปรากฏผลคือซาอุดีอาระเบีย โดย อย. ซาอุฯ อนุญาตให้นำเข้าไก่จาก 11 โรงงานของไทยได้แล้ว และสัปดาห์หน้าจะมีการส่งออกไก่ล็อตแรกไปยังซาอุดีอาระเบีย
- กระทรวงพาณิชย์ประสานงานกับแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศในการบรรจุสินค้าและบริการของไทยลงบนแพลตฟอร์มประสบความสำเร็จ ล่าสุดแพลตฟอร์มไต้หวันสามารถนำสินค้าไทยไปขายบนแพลตฟอร์ม 3 แพลตฟอร์ม 1. PChome 2. PINKOI online marketplace เพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าไลฟ์สไตล์ สินค้า BCG และ 3. แพลตฟอร์มออนไลน์ของไปรษณีย์ไต้หวัน
- การส่งเสริมกิจกรรม Online Business Matching หรือ OBM จับคู่ค้าขายออนไลน์ และส่งเสริมการขายตามห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศ ที่เราดำเนินการต่อเนื่องประสบความสำเร็จ เช่น กลุ่มอาหารแห่งอนาคต สินค้า BCG สามารถสร้างมูลค่าได้ 3,450 ล้านบาท โดยคู่เจรจา 5 อันดับแรกประกอบด้วย อินเดีย เมียนมา ญี่ปุ่น เวียดนาม และฟิลิปปินส์ และมีการจัด In-store promotionที่ห้าง Donki ของญี่ปุ่น ประสบความสำเร็จในการขายสินค้าเกษตร เกษตรแปรรูป ผลไม้ และข้าว เป็นต้น
“ภาคการผลิตทั่วโลกยังขยายตัว ดูจากดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตโลก (Global Manufacturing PMI) อยู่เหนือระดับ 50 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 20 และสถานการณ์ค่าระวางเรือและการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์เริ่มมีสัญญาณดีขึ้น จะเป็นโอกาสสำหรับการส่งออกของไทย” จุรินทร์กล่าว
อย่างไรก็ดี ยอมรับว่าสถานการณ์สู้รบระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่เกิดขึ้นจะเป็นประเด็นที่กระทรวงพาณิชย์จะต้องติดตามกับภาคเอกชนเพื่อแก้ปัญหาร่วมกันต่อไปในรูปของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ซึ่งเดือนกุมภาพันธ์ยังไม่ได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน แต่เดือนมีนาคมและเมษายนต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และแก้ปัญหาร่วมกับเอกชนต่อไป และลงลึกจากข้อมูลของทูตพาณิชย์ทั่วโลกว่าจะมีผลกระทบด้านไหน