วันนี้ (18 กุมภาพันธ์) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวถึงนโยบายเบื้องต้นเกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ระหว่างแถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวในประเทศไทยว่า มีการหารือกันในที่ประชุม ศบค.ชุดเฉพาะกิจว่า การกระจายวัคซีน เป้าหมายที่สำคัญคือ ทุกคนในประเทศไทยเข้าถึงวัคซีนที่มีคุณภาพ ปลอดภัย มีประสิทธิภาพป้องกันโควิด-19 จึงเน้นย้ำว่าไม่เฉพาะคนไทย แต่รวมถึงชาวต่างชาติที่อาศัยในประเทศไทยถาวร หรือแม้กระทั่งแรงงานต่างด้าวที่เราต้องดูแลเขาในมาตรฐานเดียวกัน
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า เป้าหมายการฉีดวัคซีนคือ 1. ลดอัตราป่วยและเสียชีวิต 2. ป้องกันระบบสุขภาพของประเทศ ได้แก่ บุคลากรสาธารณสุขทั้งภาครัฐและเอกชน บุคลากรด่านหน้า เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ตำรวจ ทหาร และ 3. การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของสังคม
โดย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. รับประกันว่าภาคเศรษฐกิจ ท่องเที่ยว จะได้รับวัคซีนโควิด-19 อย่างแน่นอน อย่างไรก็ตาม วัคซีนจะต้องมีการสำรองสำหรับกรณีฉุกเฉินด้วย ซึ่งใน 2-3 วัน จะมีแผนรายละเอียดออกมารายงานให้ทราบอีกครั้ง
พญ.อภิสมัยกล่าวว่า วัคซีนล็อตแรกที่ประเทศไทยจะได้รับในวันที่ 24 กุมภาพันธ์นี้ เป็นการอนุมัติให้ใช้วัคซีนในภาวะฉุกเฉินเช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก โดยองค์การอนามัยโลกยอมรับให้ใช้ได้ในความจำเป็นภาวะฉุกเฉิน เนื่องจากการศึกษาวัคซีนในภาวะปกติจะต้องใช้เวลาวิจัยอย่างละเอียด เพื่อเก็บตัวอย่างและเฝ้าระวังความปลอดภัย
“เหตุผลหลักการใช้วัคซีนเพื่อลดความรุนแรงและการป้องกันตนเอง แต่ไม่ได้หมายความว่าลดการแพร่เชื้อได้ เพราะอาจมีหลายท่านเกิดความสบายใจว่าได้รับวัคซีนแล้วจะไม่ต้องระมัดระวังตัว ไม่สวมหน้ากากอนามัย ไม่เว้นระยะห่าง แต่จริงๆ แล้วเริ่มมีรายงานว่า การฉีดวัคซีนยังไม่สามารถยืนยันได้ว่าลดการแพร่เชื้อ เป็นเพียงการป้องกันผู้ฉีดและลดความรุนแรง ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ฉีดแล้วจะไม่สามารถเป็นผู้แพร่เชื้อได้” พญ.อภิสมัยกล่าว
พญ.อภิสมัยกล่าวอีกว่า ทางกระทรวงการต่างประเทศได้หารือว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้ว จะต้องได้รับใบรับรองการฉีดวัคซีนเพื่อการเดินทางระหว่างประเทศ เหมือนที่เคยทำในการรับรองวัคซีนโรคไข้เหลือง โดยจะมีรายละเอียดในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้
ส่วนกรณีที่ภาคเอกชนหรือผู้ที่มีความพร้อมจะสามารถนำเข้าวัคซีนได้หรือไม่ พญ.อภิสมัยกล่าวว่า หลักการคร่าวๆ ศบค. เห็นด้วยในการที่จะให้ภาคเอกชนสามารถจัดหาวัคซีนได้ แต่มีสิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจคือ ใครเป็นผู้ที่จัดหาได้ ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เน้นย้ำว่า ต้องเป็นสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน ลักษณะเป็นโรงพยาบาล สถานบริการที่มีแพทย์ และให้บริการในภาวะฉุกเฉินได้ เช่น การช่วยเหลือหรือกู้ชีพในผู้ที่มีอาการแพ้หลังได้รับวัคซีน จึงจำเป็นต้องทบทวนว่า 1. เอกชนนั้นๆ ได้มาตรฐานที่ สธ. กำหนดหรือไม่ 2. วัคซีนต้องมีที่มา ได้รับการขึ้นทะเบียนกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่ามีความปลอดภัยก่อนนำไปฉีดให้ประชาชน
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล