ในเรื่องของความสัมพันธ์ บางครั้งอะไรๆ ก็ไม่ได้เป็นไปตามใจเราทุกอย่าง บางคนพบเจอคนถูกใจแต่ดันผิดที่ผิดเวลา กว่าจะรู้ว่ารักก็สายไปเสียแล้ว หรือพบเจอคนที่ถูกใจแต่เขาดันมีเจ้าของ หลากหลายปัญหาเกิดขึ้นให้เราว้าวุ่นใจได้เสมอในจักรวาลของความสัมพันธ์
แต่สังเกตุหนึ่งสิ่งจากตัวอย่างของปัญหาที่เกริ่นมาข้างต้น ทุกครั้งความ ‘ไม่เป็นไปตามใจ’ ล้วนเกิดจากตัวเรากับปัจจัยภายนอก หรือก็คือความรู้สึกของคนอีกคน แตกต่างจากปัญหาคาใจที่เราหยิบยกขึ้นมาเป็นคำถามประจำสัปดาห์นี้ เพราะว่าไม่เป็นไปตามใจที่ว่า เกิดขึ้นจากภายในของตัวเราเอง หรือภาวะที่เรียกว่า เมื่อความคิดไม่เป็นไปตามใจ ‘อยากมีความสัมพันธ์ แต่ดันกลัวความใกล้ชิด’
คำว่า Fear of Commitment ซึ่งก็คือ ‘การกลัวความผูกมัด’ มีแนวโน้มเป็นรูปแบบความสัมพันธ์ที่พบเห็นได้มากขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเพิ่งเริ่มมีรูปแบบความสัมพันธ์ดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงนี้ การเปิดเผยความสัมพันธ์ต่อสาธารณะเป็นสิ่งที่กระทำกันมากขึ้น เราจึงพบเห็นความสัมพันธ์ได้ในหลายรูปแบบ และหนึ่งในนั้นคือความสัมพันธ์แบบ ‘อยากรักแต่ไม่อยากคบ’
ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลตามธรรมชาติของ Gen ที่มีความรักในอิสระ เคารพสิทธิ และขอบเขตตนเอง มีข้อมูลต่ออนาคตค่อนข้างมาก การ ‘ตระเตรียมชีวิตประจำวันเพื่อตัวเองมากกว่าเพื่อความสัมพันธ์’ จึงเป็นทางเลือกที่ปลอดภัย และค่อยๆ สะสมเป็นความไม่คุ้นเคยในการผูกมัดความสัมพันธ์ต่อกันนั่นเอง
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการมีความสัมพันธ์ระหว่างคนสองคนเสมือนมีภูเขาน้ำแข็งแห่งบุคลิกภาพสองก้อนข้ามาทับซ้อนกัน และในบางความสัมพันธ์ภูเขาน้ำแข็งของบุคลิกภาพก็ปะทะเข้าหากันจนขอบเขตส่วนตัวเสียหาย การลอยอยู่กับผิวน้ำในระยะห่างที่ปลอดภัยจึงเป็นที่สิ่งน่ารื่นรมย์มากกว่า จนกระทั่งพัฒนาต่อไปเป็นรูปแบบของความสัมพันธ์ที่รักษาระยะระหว่างกัน
อีกทั้งในช่วงของการก่อตัวภายใต้ภูเขาน้ำแข็งแห่งบุคลิกภาพ อาจมีโครงสร้างบางส่วนที่ได้พบกับประสบการณ์ที่ไม่มั่นคง หรือการตอบสนองตามความต้องการที่ไม่เพียงพอ เหล่านี้สะสมกลายเป็นความรู้สึกหวาดหวั่นและไว้ใจได้น้อย ทั้งต่อโลก ต่อผู้อื่น รวมถึงต่อการมีความสัมพันธ์ ทำให้เมื่อถึงช่วงวัยที่เหมาะสม รูปแบบความสัมพันธ์แบบ ‘อยากรักแต่ไม่อยากคบ’ จึงอาจเป็นทางเลือกของความสัมพันธ์ที่ดูมั่นคงและปลอดภัยที่สุด
ถ้าทั้งหมดนี้ใช่เรา เราจะจัดการกับตนเองและความสัมพันธ์นี้อย่างไร?
- เปิดโอกาสให้ตนเองเริ่มต้นความสัมพันธ์อย่างค่อยเป็นไป
เพราะการที่เราเร่งรีบที่จะผูกมัดจากความเชื่อที่ว่านั้นเป็นวิธีก้าวข้ามความกลัว และคิดว่าการกดดันอย่างเข้มงวดจะนำไปสู่ความกล้าหาญในการมีความสัมพันธ์ การกระทำแบบนี้ให้ผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม เพราะความกลัวและความกังวลที่ถาโถมเข้ามาอาจยิ่งทับซ้อนลงในความเชื่อว่า ‘ความสัมพันธ์มันไม่น่าอภิรมย์’ และยิ่งส่งผลต่อความยากในการสร้างความสัมพันธ์ในครั้งต่อๆ ไป
- สื่อสารรูปแบบความสัมพันธ์ที่ปรารถนา
ด้วยประสบการณ์ชีวิตที่ต่างกัน และมุมมองต่อโลกที่ต่างกัน จึงส่งผลต่อมุมมองด้านความสัมพันธ์ที่ต่างกัน การสื่อสารความต้องการด้านความสัมพันธ์อย่างตรงไปตรงมาและสุภาพ คือฐานในการสร้างความเข้าใจภายใต้ความสัมพันธ์ที่ค่อยๆ เป็นไป
- บอกข้อจำกัดบางประการด้านความสัมพันธ์
แน่นอนว่านอกเหนือจากการบอกความต้องการจะช่วยให้ความสัมพันธ์ดำเนินไปอย่างค่อยๆ เป็นไปแล้ว การสื่อสารอุปสรรคและข้อจำกัดบางประการของตัวเรา ก็เป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญในการสร้างความเข้าใจ และการเปิดโอกาสให้อีกฝ่ายแสดงเจตนาและความปรารถนาดีต่อเรา
- การบอกความรู้สึกอึดอัดใจเป็นการรักษาความสัมพันธ์แบบหนึ่ง
ถึงแม้ว่าเราทั้งคู่จะสื่อสารทั้งความต้องการและความสัมพันธ์ออกไปกับอีกฝ่ายแล้ว แต่การตอบสนองตามธรรมชาติของแต่ละคนที่สะสมมาอาจกระทบกับความรู้สึกของอีกฝ่ายอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และแม้ไม่ได้มีเจตนาให้มันเป็นอย่างนั้นก็ตาม การบอกความรู้สึกอึดอัดใจอย่างสุภาพ และการกล่าวขออภัยเป็นไปได้อย่างมาก ที่การกระทำดังกล่าวกำลังบอกถึงระดับของความสัมพันธ์ว่า หัวใจดวงหนึ่งเริ่มต้นประสานกับหัวใจอีกดวง
- ให้ระยะเวลากับแต่ละความสัมพันธ์
เพราะความสัมพันธ์เป็นเรื่องยาก และเราเองที่คุ้นเคยกับการหลีกหนีความสัมพันธ์เสมอมา โดยเฉพาะเมื่อเกิดความกังวลและความกลัว การตั้งระยะเวลาไว้ล่วงหน้าช่วยให้เรามองเรื่องความสัมพันธ์เป็นรูปธรรมด้านความคิดไปพร้อมๆ กับการสังเกต เห็นอารมณ์ของตนเอง อีกทั้งช่วยยับยั้งการหลีกหนีความสัมพันธ์เมื่อมีภาวะอารมณ์เชิงลบอย่างทันทีทันใด ให้โอกาสตนเองได้แสดงความสามารถในการจัดการความกลัวหรือกังวลนั้นด้วยวิธีใหม่ๆ
- รูปแบบความสัมพันธ์มันเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล
ถ้าเราพยายามมากพอกับการรักษาความสัมพันธ์ และมันมีแนวโน้มจะไม่สำเร็จ กลับกันเราเห็นได้ว่าการอยู่คนเดียว หรือรักษาระยะของความสัมพันธ์ในแบบเรา ก็อาจคุ้มค่ามากกว่ากับความรู้สึกของเราในตอนนี้ ก็จงให้โอกาสตนเองมีความสุขกับความสัมพันธ์แบบ ‘อยากรักแต่ไม่อยากคบ’
ในทางกลับกันหากเราพร้อมที่จะเริ่มต้น แต่ดันตกหลุมรักคนที่มีอาการกลัวความสัมพันธ์ เราเองก็ควรทำความเข้าใจและมีส่วนรักษาความสัมพันธ์นี้เอาไว้ เพราะความสัมพันธ์ถึงอย่างไรก็เกิดขึ้นจากคนสองคน เราทั้งสองต่างมีส่วนในความสัมพันธ์ครั้งนี้ด้วยกันทั้งนั้น
ก่อนอื่นเริ่มจากการทบทวนเป้าหมายด้านความสัมพันธ์ของตนเองให้ชัดเจน เพราะความสัมพันธ์เป็นเรื่องของคนสองคน หากเราพยายามมากที่จะแสดงความต้องการหรือร้องขอความสัมพันธ์ที่มั่นคงจากอีกฝ่าย ในขณะที่ภายในของเราเองนั้นอาจยังไม่แน่ใจ หรือชัดเจนในเรื่องของความสัมพันธ์ อาจไม่เป็นผลที่ดีของการรักษาความสัมพันธ์ระหว่างกัน หรือกล่าวได้ง่ายๆ ว่าก่อนเริ่มการเดินทางครั้งนี้ คุณพร้อมและจริงจังกับความสัมพันธ์ครั้งนี้จริงๆ หรือเปล่า
สื่อสารรูปแบบความสัมพันธ์ที่ปรารถนา ถ้าเป้าหมายอยู่ที่การรักษาความสัมพันธ์ เราสามารถเริ่มต้นที่การพูดคุยถึงรูปแบบความสัมพันธ์ที่จับต้องได้ต่อกันและกัน การพูดคุยกันอย่างตรงไปตรงมาย่อมดีกว่าปล่อยให้ต่างฝ่ายต่างคิดกันไปเอง แถมท่าทีของการสื่อสารยังบ่งบอกถึงความเคารพต่ออีกฝ่าย และเป็นสัญญาณในการบ่งบอกพื้นที่ปลอดภัยให้เขาอีกคนได้ค่อยๆ ลำดับความต้องการออกมาอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย การหมั่นสังเกตและสำรวจอารมณ์ของทั้งตนเองและอีกฝ่าย คือเครื่องมือสำคัญในการสื่อสารความต้องการและข้อจำกัด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการสื่อสาร และเพิ่มความระมัดระวังในการก้าวข้ามข้อจำกัดของอีกฝ่าย
สิ่งสุดท้ายที่สำคัญคือการ เคารพการตัดสินใจของอีกฝ่าย เพราะเราต่างก็แตกต่างกัน ขอตอกย้ำในข้อสุดท้ายว่า “แม้ความสัมพันธ์จะเป็นเรื่องของคนสองคน มีเพียงบางส่วนเท่านั้นที่เราสามารถเข้าไปควบคุมได้ นั่นคือส่วนของความคิด ความรู้สึก และการกระทำของเราเอง” หากในความสัมพันธ์ เราทำทุกอย่างเต็มที่ตามความสามารถ และประกอบไปด้วยความปรารถนาที่ดีระหว่างกันแล้ว แต่ความสัมพันธ์กลับยังไม่เป็นไปอย่างที่เราต้องการ อย่าลืมที่จะบอกตัวเองว่า เรากับเขาต่างกัน มุมมองต่อความสัมพันธ์ก็ต่างกัน อย่างน้อยที่สุดเราก็ได้รักตัวเรา และเคารพในการเลือกของเขาอย่างเต็มที่แล้ว
ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์