วันนี้ (8 เมษายน) นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แถลงข่าวชี้แจงกรณีมีการปิดกั้นเอกชนนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 หรือไม่ ว่าขณะนี้มีเอกชนที่มาติดต่อนำเข้าวัคซีน 14 ราย แต่มีเพียง 4 รายที่ได้นำส่งเอกสารประเมินในการขึ้นทะเบียน ซึ่งคือข้อมูลในการวิจัยจากผู้ผลิตจากต่างประเทศ คือ วัคซีน AstraZeneca โดยบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด, วัคซีน Sinovac โดยองค์การเภสัชกรรม, วัคซีน Johnson & Johnson โดยบริษัท แจนเซ่น-ซีแลก จำกัด และอีก 1 ราย คือ บริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด นำเข้าวัคซีน Bharat Biotech
นั่นแปลว่า 14 รายที่มาติดต่อ ส่วนอีก 10 รายก็อยากเชิญชวน เพราะทั้ง 10 บริษัทมีหลายยี่ห้อ ทั้ง Moderna, Sinopharm และ Sputnik V ซึ่งขอย้ำว่า จริงๆ เชิญชวนมากกว่า ไม่ได้ปิดกั้น ส่วนคำถามว่าเอกชนทราบขั้นตอนหรือไม่นั้น ที่ผ่านมามีการประชุมกับบริษัทเอกชน 2 ครั้ง ทั้งกลุ่มโรงพยาบาลเอกชน กลุ่มบริษัทผู้ผลิตวัคซีน สภาอุตสาหกรรม ซึ่งได้อธิบายขั้นตอนในการอนุมัติเป็นผู้นำเข้าวัคซีน สำหรับขั้นตอนในการขึ้นทะเบียนต้องเรียนย้ำว่า บริษัทที่นำเข้ามาต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตนำเข้าก่อน ต้องมีสถานที่เก็บยา มีเภสัชกรดูแล และ อย. จะดูคุณภาพ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัย โดยใช้เวลาอนุมัติ 30 วันปฏิทินหลังยื่นเอกสารครบถ้วน
นอกจากนี้ ยังยืนยันว่าโรงพยาบาลเอกชนนำไปบริการฉีดได้เช่นกัน แต่วัคซีนตอนนี้เป็นวัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉิน ซึ่งการฉีดต้องมีการลงทะเบียนผู้รับบริการ และต้องติดตามความปลอดภัยและผลข้างเคียงต่างๆ
“จะได้เลิกถามคำถามว่าเอกชนเอาเข้ามาไม่ได้ เรายินดีและมีผู้มาติดต่อมากมาย แต่เรารอการนำเอกสารผลงานวิจัยมาประเมินทั้งคุณภาพ ความปลอดภัย และประสิทธิผล” นพ.ไพศาลกล่าว
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล