สถานการณ์ลงทุนในช่วงไตรมาสแรกถือว่ามีความผันผวนสูง และยังมีความไม่แน่นอนที่นักลงทุนยังต้องติดตามอยู่มาก ซึ่งจะมีผลต่อการลงทุนทั้งในตลาดหุ้น ตลาดตราสารหนี้ และสินทรัพย์ทางเลือกอื่นๆ อย่างไรก็ดี เมื่อดูสถานการณ์โดยรวมยังมีแนวโน้มที่ดีกว่าปี 2565
เมื่อพิจารณากลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมสำหรับปี 2566 แล้ว การลงทุนในต่างประเทศก็ยังเป็นคำตอบหนึ่งที่ผู้ลงทุนควรพิจารณาไว้ โดยเฉพาะการไปลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น การฝากเงินกับสถาบันการเงินในต่างประเทศที่มีอันดับความน่าเชื่อถือดีและให้อัตราดอกเบี้ยสูง สอดคล้องกับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของประเทศที่อยู่ในระดับสูง หรือการไปลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศคุณภาพดี
ฉะนั้นหากผู้ลงทุนมีประสบการณ์ลงทุนมาระดับหนึ่งแล้ว มีเม็ดเงินลงทุนสูง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ลงทุนที่มีความมั่งคั่ง (กลุ่มเวลท์) SCB CIO มองว่า ท่านสามารถขยายโอกาสด้วยการลงทุนในต่างประเทศโดยตรงด้วยการใช้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งจะทำให้สามารถลงทุนในผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการได้มากขึ้น
ทั้งนี้ ในจังหวะที่ท่านเห็นว่าค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้แลกเงินบาทเป็นเงินดอลลาร์สหรัฐได้มากขึ้น ก็สามารถใช้จังหวะนั้นทยอยแลกเงินดอลลาร์สหรัฐเก็บไว้ในบัญชีเงินฝากสกุลเงินตราต่างประเทศ (FCD) ไว้ได้ เพื่อที่จะรอนำไปลงทุนต่อในต่างประเทศ
บัญชีเงินฝาก FCD คือบัญชีเงินฝากที่รับฝากเงินสกุลต่างประเทศและจ่ายดอกเบี้ยเป็นสกุลเงินต่างประเทศเช่นกัน โดยบัญชีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีความต้องการดังต่อไปนี้
- ผู้ที่ทำธุรกิจส่งออก-นำเข้า หรือมีรายได้และรายจ่ายเป็นเงินสกุลต่างประเทศ
- นักลงทุนที่สนใจจะนำเงินสกุลต่างประเทศไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศโดยตรง
- นักลงทุนที่ต้องการนำผลตอบแทนจากการลงทุนในต่างประเทศมาพักไว้รอลงทุนต่อด้วยเงินสกุลต่างประเทศ
- ผู้ที่ยังไม่ต้องการแลกเปลี่ยนเงินสกุลต่างประเทศกลับมาเป็นเงินบาท เพราะต้องการรอแลกเปลี่ยนในจังหวะที่เหมาะสม
- ผู้ที่เตรียมเงินสกุลต่างประเทศไว้ใช้จ่ายในต่างประเทศในอนาคต เช่น ค่าเทอม และการท่องเที่ยว
ข้อดีของการเปิดบัญชี FCD สกุลดอลลาร์สหรัฐคือ ท่านจะสามารถพักเงินดอลลาร์สหรัฐที่แลกไว้ในบัญชีนี้ เพื่อรอนำเงินไปลงทุนต่อในต่างประเทศโดยตรง และเมื่อได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนกลับมาในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ก็นำฝากไว้ในบัญชีเงินฝาก FCD เพื่อนำกลับไปลงทุนในต่างประเทศใหม่ได้ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน เพราะท่านสามารถรอจังหวะที่เหมาะสม แล้วจึงแลกเปลี่ยนกลับมาเป็นเงินบาท หรือในกรณีที่ต้องการจะนำเงินลงทุนเหล่านี้ไปใช้จ่ายในต่างประเทศอยู่แล้ว ท่านก็ไม่ต้องเสียเวลาแลกเปลี่ยนเงินไปมา
ขณะเดียวกันในช่วงเวลานี้ธนาคารกลางหลักๆ ของโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ยังดำเนินนโยบายการเงินตึงตัว โดยอัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งแม้ว่าแนวโน้มในอนาคตจะเริ่มคงอัตราดอกเบี้ยหรืออาจปรับลดลง แต่โดยรวมอัตราดอกเบี้ยก็ยังสูงกว่าเมื่อเทียบกับไทย ซึ่งมีผลทำให้สถาบันการเงินต่างประเทศบางแห่งที่มีอัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าไทยเช่นกัน
ด้วยเหตุนี้ หากท่านมีเงินดอลลาร์สหรัฐเก็บไว้ในบัญชี FCD สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐกับธนาคารในประเทศอยู่ ก็จะมีโอกาสนำเงินดอลลาร์สหรัฐนี้ไปลงทุนกับเงินฝากธนาคารในต่างประเทศที่มีเครดิตดีและให้อัตราดอกเบี้ยระดับสูงได้ หรือจะนำเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ ตราสารหนี้คุณภาพสูง ไปจนถึงหุ้นต่างประเทศ ก็ได้เช่นกัน
สำหรับท่านที่มีความกังวลว่าไปลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศแล้ว หากมีการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จะส่งผลกระทบให้เกิดความผันผวนของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ (Bond Yield) หรือไม่ ต้องบอกว่า โดยปกติตลาดตราสารหนี้จะตอบสนองต่อทิศทางนโยบายการเงิน ก่อนที่นโยบายจริงจะออกมา
เช่น ก่อนที่ Fed จะปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งต่อไป ซึ่งเราคาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2566 ก็มีโอกาสที่ Bond Yield จะปรับเพิ่มขึ้นและราคาตราสารหนี้ปรับลดลง แต่ SCB CIO มองว่า Fed มีแนวโน้มคงดอกเบี้ยในระยะต่อไป Bond Yield จึงมีแนวโน้มลดลงหรือทรงตัว
ดังนั้นแนวโน้มราคาตราสารหนี้ในอนาคตก็จะปรับเพิ่มขึ้น จึงควรอาศัยช่วงที่ Bond Yield ปรับเพิ่มขึ้นเข้าไปลงทุน โดยในกรณีที่ผู้ลงทุนถือครองตราสารหนี้จนครบกำหนดไถ่ถอน ไม่ว่าระหว่างอัตราดอกเบี้ยจะปรับเปลี่ยน มีผลกระทบต่อราคาตราสารหนี้อย่างไร สุดท้ายแล้วผลตอบแทนที่ท่านได้รับก็คืออัตราผลตอบแทนของตราสารหนี้ที่ถูกกำหนดไว้แล้วแต่แรก ทำให้ท่านไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาตราสารหนี้ระหว่างทางที่ลงทุน
ส่วนทางเลือกลงทุนอื่นๆ นอกเหนือจากการลงทุนในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำอย่างตราสารหนี้ที่ท่านสามารถใช้เงินดอลลาร์สหรัฐไปลงทุนได้ ได้แก่ Capped Floored Floater ซึ่งเป็นการลงทุนในตราสารอนุพันธ์อ้างอิง อัตราดอกเบี้ยลอยตัวที่ออกโดยธนาคาร รวมทั้ง Fund Link Note ซึ่งเป็นการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ อ้างอิงผลตอบแทนของกองทุนตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคาร มีการรับประกันเงินต้น และ KIKO (Foreign Equity) เป็นการลงทุนในตราสารอนุพันธ์อ้างอิง ผลตอบแทนของหุ้นต่างประเทศที่ออกโดยธนาคาร แต่ไม่มีการรับประกันเงินต้น เป็นต้น
สำหรับกรณีที่ท่านต้องการลงทุนด้วยสกุลเงินบาท แต่มีโอกาสรับผลตอบแทนจากสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ก็มีผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์เช่นกัน ได้แก่ กองทุนรวมตราสารหนี้ต่างประเทศที่ไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน หรือเปิดช่องให้ผู้จัดการกองทุนพิจารณาป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนตามความเหมาะสม ทำให้ในบางจังหวะอาจไม่ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนก็ได้ จึงมีโอกาสได้ประโยชน์จากค่าเงินในช่วงนั้น และ Dual Currency Investment ซึ่งเป็นการลงทุนในตราสารอนุพันธ์ อ้างอิงผลตอบแทนของหุ้นต่างประเทศที่ออกโดยธนาคาร ซึ่งไม่มีการรับประกันเงินต้น
สุดท้ายนี้ขอย้ำเตือนผู้ลงทุนอีกครั้งว่า ความเสี่ยงและความผันผวนเป็นของคู่กับการลงทุน แต่สิ่งเหล่านี้ปรับลดลงได้เมื่อผู้ลงทุนมีการจัดสรรเงินลงทุนในสินทรัพย์ที่หลากหลาย
และหากท่านลงทุนสอดคล้องกับระดับความเสี่ยงที่ยอมรับได้บนเป้าหมายการลงทุนระยะยาวที่วางไว้แล้ว แม้ระหว่างทางการลงทุนจะมีความผันผวนเกิดขึ้นบ้าง หากไม่หวั่นไหวกับสถานการณ์ ยังลงทุนอย่างต่อเนื่อง โอกาสที่ท่านจะบรรลุเป้าหมายการลงทุนในระยะยาวก็ไม่ได้เปลี่ยนไป
คำเตือน:
- ผู้ลงทุนควรศึกษาข้อมูลและทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน และความเสี่ยง ก่อนตัดสินใจลงทุน
- การลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศอาจมีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเข้ามาเกี่ยวข้อง
- กองทุนที่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนและไม่ได้ป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนทั้งจำนวน ผู้ลงทุนอาจขาดทุนหรือได้รับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน หรือได้รับเงินคืนต่ำกว่าเงินลงทุนเริ่มแรกได้
- หุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงเป็นตราสารที่มีความซับซ้อนมากกว่าหุ้นกู้ทั่วไป เนื่องจากเป็นตราสารที่ประกอบด้วยตราสารหนี้และอนุพันธ์แฝง โดยการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงจะมีความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องหลายด้าน เช่น ความเสี่ยงของปัจจัยอ้างอิง และความเสี่ยงด้านเครดิตของผู้ออกตราสาร เป็นต้น ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจเงื่อนไขการจ่ายผลตอบแทนและความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง และขอคำแนะนำเพิ่มเติมจากผู้ประกอบธุรกิจก่อนลงทุน
- การลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงไม่ใช่เงินฝาก และธุรกรรมการลงทุนในหุ้นกู้ที่มีอนุพันธ์แฝงจะไม่ได้รับความคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากแต่อย่างใด จึงมีความเสี่ยงของการลงทุน ซึ่งผู้ลงทุนอาจไม่ได้รับเงินลงทุนคืนเต็มจำนวน และการขายคืนเป็นไปตามเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์การลงทุนตามที่ระบุในหนังสือชี้ชวน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ธนาคารออมสิน เปิดตัวเงินฝากดอกเบี้ยขั้นบันได จ่ายสูงสุด 4.5% และ 10% หวังส่งเสริมการออมระยะยาว
- ส่องแบงก์รัฐ-พาณิชย์ ขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ เท่าไรกันบ้าง? หลัง กนง. ประชุมนัดแรกของปี 2566
- คลอดแล้ว! เกณฑ์ ‘Virtual Bank’ ธปท. จำกัดไลเซนส์แค่ 3 ราย เผยมีผู้สนใจแล้ว 10 ราย เล็งประกาศผลกลางปีหน้าก่อนเริ่มให้บริการจริงปี 68
อ้างอิง: