เรื่องที่เรารู้กันเป็นอย่างดีคือภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องล่าสุดจากดิสนีย์ที่กำลังลงจอเงินฉายอยู่ ณ ขณะนี้ ‘Raya and the Last Dragon’ รายากับมังกรตัวสุดท้าย มีเรื่องราวและขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมต่างๆ ภายในเรื่องที่ยึดโยงมาจากรากฐานทางวัฒนธรรมของประเทศในกลุ่มอาเซียน รวมถึง ‘ประเทศไทย’
โดยมี ‘ฝน วีระสุนทร’ หรือ ฝน-ประสานสุข วีระสุนทร รับหน้าที่เป็น Head of Story หรือหัวหน้าฝ่ายงานด้านเนื้อเรื่อง ที่ได้ร่วมรังสรรค์ ‘นครคูมันตรา’ และมอบชีวิตให้กับตัวละครรายา, ซิซู ฯลฯ
แต่ที่เราเพิ่งจะทราบก็คือ ก่อนจะมาทำงานให้กับดิสนีย์นั้น เธอเคยถูกเจ้ามิกกี้เมาส์สุดน่ารักตัวนี้หักอกมานานกว่า 3 ปีเต็ม!
แถมก่อนหน้านี้หากย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว เธอยังเคยตัดสินใจถอดชุดกาวน์ ลาออกจากการเป็นนักศึกษาแพทย์ในคณะแพทยศาสตร์ ซึ่งดูจะเป็นสายอาชีพที่มั่นคงและเป็นที่ต้องการในตลาดอาชีพสุดๆ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบัน) ออกมาวิ่งตามความฝันด้วยการเสี่ยง สวิตซ์ตัวเองไปเรียนในสายงานด้านแอนิเมชันมาแล้ว
อะไรทำให้ประสานสุขตัดสินใจเช่นนั้น เธอมาร่วมงานกับดิสนีย์ได้อย่างไร แล้วเบื้องหลังแนวคิดการพัฒนาภาพยนตร์ Raya and the Last Dragon มีแง่มุมที่น่าสนใจแค่ไหน THE STANDARD ร่วมพูดคุยกับ Head of Story คนเก่งจากดิสนีย์ ผ่านแพลตฟอร์ม Zoom ซึ่งแม้ระยะเวลาในการสัมภาษณ์ครั้งนี้จะมีข้อจำกัดด้านเวลา (แค่ 20 นาที) แต่เราก็เชื่อว่าคุณและผู้อ่านน่าจะได้อะไรจากบทสัมภาษณ์นี้ไม่มากก็น้อย
“เราต้องทำอาชีพนี้ไปทั้งชีวิต ต้องให้ความสำคัญกับมันสิ” เมื่ออดีตนักศึกษาแพทย์ขอวิ่งตามความฝัน
ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย ตัวผู้เขียนมองว่า ‘หมอ’ หรือแพทย์ ตามที่แต่ละคนถนัดจะเรียก น่าจะเป็นสายงานลำดับต้นๆ ที่พ่อ แม่ ผู้ปกครองอยากให้ลูกๆ บุตรหลานของตัวเองวิ่งไปสู่เส้นทางอาชีพดังกล่าว เนื่องด้วยปัจจัยที่รอบด้าน ทั้งผลตอบแทนที่ดี ความก้าวหน้าในสายอาชีพ การได้รับการยอมรับจากสังคม
ตัวประสานสุขเองก็เช่นกัน แม้ในสมัยที่เธอยังเป็นเด็ก เธอจะสนใจในภาพยนตร์ และ ‘รักการวาดรูป’ มากเพียงไร แต่ด้วยบริบทและสิ่งแวดล้อมรอบตัวในขณะนั้น ทำให้เธอมองภาพอาชีพที่ตัวเองอยากเป็นในอนาคตไม่ออกเลยแม้แต่น้อย จนเธอตัดสินใจเข้าเรียนต่อในคณะแพทยศาสตร์เหมือนเพื่อนๆ รอบตัว
“ตอนเด็กๆ เราสนใจด้านภาพยนตร์ แต่ว่าเกิดและโตที่ชลบุรี ก็ไม่เคยเห็นคนทำงานในวงการบันเทิง เลยเลือกเรียนเหมือนที่ทุกๆ คนเรียนกัน พอขึ้นมัธยมปลายก็เรียนสายวิทย์ เพื่อที่จะได้มีทางเลือก ตอนนั้นเหมือนมันยังไม่ทันคิดว่าชีวิตเรา เราควรจะคิดว่าเราอยากจะทำอะไร
“พอไปเข้าเรียนมหาวิทยาลัยปีแรก (แพทยศาสตร์ รามาธิบดี) มันทำให้เรารู้สึกเลยว่าเราจะต้องทำอาชีพนี้ไปตลอดทั้งชีวิตเลยนะ เราควรต้องให้ความสำคัญสิว่าชีวิตนี้อยากจะทำอะไร เผอิญเราเป็นคนชอบวาดรูป โชคดีที่ตอนเรียนอยู่มัธยมปลาย พี่คนไทยที่ทำงานอยู่ที่ดิสนีย์ (Effect Animator) ฟลอริดา เขามาบรรยายให้ฟัง ตอนนั้นเราก็รู้สึกว่า ‘เฮ้ย! มันเป็นอาชีพที่คนเขาทำกันได้ด้วยเหรอ’ พอเห็นว่ามีคนไทยทำงานในวงการนี้ ประกอบกับเป็นคนที่สนใจด้านฟิล์มอยู่แล้ว เลยมีแรงบันดาลใจที่จะตามความฝันของตัวเอง เลยตัดสินใจลาออกจากรามาธิบดี”
มันเหมือนการเสี่ยงดวงเหมือนกันนะ ยิ่งถ้ามองในเชิงเปรียบเทียบกับความมั่นคงของคณะแพทยศาสตร์ที่เรียนอยู่ ณ ตอนนั้น? เราถาม
“ใช่ๆ ตอนนั้นก็กลัวมากว่าจบมาแล้วจะไม่มีงานทำ” เธอเล่าต่อ “ตอนที่เราได้เห็นเพื่อนๆ ในคณะแพทยศาสตร์เขาชอบในสิ่งที่เขาเรียนแล้วก็รู้สึกอิจฉานิดๆ ที่ทุกคนเกิดและเติบโตเพื่อความเป็นหมอโดยเฉพาะ แต่มันอาจจะไม่ใช่เส้นทางเรา
“มันก็ยากแหละ แต่ว่าทางบ้านก็สนับสนุนอยู่จนถึงจุดหนึ่ง เขาบอกว่าถ้าสมัครเรียน สอบติด ได้ทุนจำนวนหนึ่ง เขาก็จะสนับสนุนให้ไปเรียน แล้วในที่สุดเราก็ได้มาเรียนต่อด้านแอนิเมชันที่มหาวิทยาลัย Columbus College of Art & Design ในโอไฮโอได้สำเร็จ”
‘ความพยายามและมุ่งมั่นไม่เคยทำร้ายใคร’ ถูกดิสนีย์ปฏิเสธถึง 3 ปี แต่ ‘ไม่เคยท้อ’
ว่ากันว่ามนุษย์เรามักจะสูญเสียความมั่นใจและความมุ่งมั่นไปได้ดื้อๆ หากถูกปฏิเสธซ้ำแล้วซ้ำเล่า วนไปวนมาอยู่บ่อยๆ แต่ดูเหมือนว่าแนวคิดดังกล่าวจะใช้ไม่ได้กับประสานสุข เพราะหลังจากที่เธอถูกดิสนีย์ บริษัทผู้ผลิตสื่อและคอนเทนต์ด้านบันเทิงอันดับหนึ่งของโลกปฏิเสธมานานกว่า 2 ครั้งในเกือบ 3 ปีเต็ม ในที่สุดความพยายามของเธอก็มาตอบแทนเธอจนได้ในการยื่นสมัครงานครั้งที่ 3
“พอมาเรียนที่โคลัมเบีย หลังจากเรียนจบเราก็ได้งานทำเลย มาอยู่ที่สหรัฐอเมริกาได้ 18 ปีแล้ว ทำงานในวงการแอนิเมชันมาตลอด”
โดยก่อนจะมาลงเอยกับดิสนีย์นั้น เธอมีโอกาสได้สั่งสมประสบการณ์จากการทำงานให้กับสตูดิโอแอนิเมชันชื่อดังในวงการมาแล้วนับไม่ถ้วน เช่น Warner Bros. Animation (Storyboard Artist: The Looney Tunes Show), Illumination Entertainment (Despicable Me 2 (additional story), The Lorax (additional story) และ Despicable Me: Minion Madness) และ Nickelodeon Animation Studio (Storyboard Artist: Robot & Monster)
“ตอนที่ย้ายมาทำงานที่เบอร์แบงก์ (แคลิฟอร์เนีย) ใหม่ๆ ก็เห็นสตูดิโอของดิสนีย์ ซึ่งจะเป็นตึกรูปทรงหมวกของมิกกี้เมาส์ เรียกว่า Hat’s Building เราขับรถผ่านทุกวัน ก็คิดในใจตลอดเลยว่า ไม่รู้ว่าวันหนึ่งจะมีวาสนาได้มาทำงานที่นี่บ้างหรือเปล่า
“ตอนนั้นก็ยื่นสมัครงานมาเรื่อยๆ สมัครมาแล้วเขาก็ไม่รับ ใช้เวลาอยู่ประมาณ 2-3 ปี โดนบอกเลิกมา 2 ครั้ง (หัวเราะ) แล้วครั้งที่ 3 ก็โชคดีที่เขาโทรมาสัมภาษณ์ เราก็เลย เฮ้ย! (ยิ้ม)
“โดยปกติแล้วเราก็จะยื่นสมัครงานที่อื่นไปบ้างระหว่างทำงาน อยากจะได้งานที่ท้าทายมากขึ้นกว่าเดิม เปลี่ยนสตูดิโอทำงาน เรามาทำงานให้กับดิสนีย์ตอนอายุ 28 ปี เริ่มจากตำแหน่ง ‘Story Artist’ เป็นคนวาดสตอรีบอร์ด เรื่องแรกที่ทำคือ Frozen (2013) โดยตำแหน่งและหน้าที่รับผิดชอบในดิสนีย์จะค่อนข้างเจาะจง ไม่ได้ทำหลายๆ อย่าง ตอนนั้นเราเลยรับผิดชอบแค่สตอรีบอร์ดอย่างเดียว
“หลังจากนั้นก็ทำตำแหน่งเดิมกับทั้ง Zootopia (2016) และ Moana (2016) แล้วก็มาทำ Frozen II (2019) ได้อยู่ไม่นาน ยังทำไม่เสร็จ เขาก็มาถามว่าอยากจะมาทำเรื่อง Raya and the Last Dragon ในตำแหน่ง Head of Story เป็นหัวหน้าคุมทีมฝั่งคนวาดสตอรีบอร์ดไหม?”
View this post on Instagram
เมื่อถูกถามเช่นนั้น ในช่วงอึดใจแรก เธอเองก็ไม่แน่ใจในข้อเสนอดังกล่าวเช่นกัน แต่เพราะเห็นว่าโปรเจกต์ Raya and the Last Dragon มีผู้กำกับและโปรดิวเซอร์ที่เคยทำงานด้วยกันมาก่อนจาก Moana และ Frozen เธอเลยตัดสินใจกระโดดคว้าตำแหน่งงานที่ท้าทายนี้แบบทันทีทันใด
“เรารู้จักกันมาก่อน (ผู้กำกับและโปรดิวเซอร์) เราเคารพในสไตล์การทำงานของเขา แล้วก็รู้สึกว่าอย่างน้อยเขาก็จะไม่ทอดทิ้งเรา มาทำงานด้วยกันแล้วก็รู้สึกว่าเขาเป็นคนเก่ง เราอยากเรียนรู้จากเขา ประกอบกับโปรเจกต์ Raya and the Last Dragon มันมีความเป็นเอเชีย ซึ่งเรามาจากประเทศไทย มันก็เลยแอบสงสัยว่าจะเป็นเอเชียแนวไหนด้วย เลยเลือกมาทำงานให้กับโปรเจกต์นี้”
ก่อนจะเป็นรายา ‘เจ้าหญิงแห่งอุษาคเนย์’ คนแรกของดิสนีย์ กับ ‘Sharing Culture’ ที่เชื่อมทุกคนเข้าถึงกัน
ไม่กี่ปีมานี้ เราเริ่มได้เห็นพลวัตรที่น่าสนใจจากโลกฮอลลีวูดที่เริ่มสาดสปอตไลต์มาให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมแบบ ‘เอเชีย’ มากขึ้นอย่างมีนัย โดยเฉพาะหลังจากความสำเร็จแบบถล่มทลายของ Crazy Rich Asians ที่ออกฉายในปี 2018 ซึ่งไม่มากก็น้อย การขับเคลื่อนประเด็นความหลากหลาย (Diversity) ก็กลายเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญเช่นกันที่มีผลทำให้เราเริ่มเห็นป๊อปคัลเจอร์ฝั่งเอเชียมีพื้นที่บนเวทีโลกมากขึ้น จนเจิดจรัสสุดๆ หลัง Parasite (2019) คว้าออสการ์มาครองได้อย่างไรข้อกังขาในปี 2020
กับ Raya and the Last Dragon นี่น่าจะเป็นภาพยนตร์อนิเมชันเรื่องแรกๆ ที่ฉายภาพสะท้อนของบริบทโลกอาเซียนได้อย่างชัดเจน แจ่มแจ้ง และอำนวยการผลิตโดยบริษัทผู้ผลิตสื่อความบันเทิงระดับโลกสัญชาติอเมริกันอย่างดิสนีย์ (ไม่นับ ‘มู่หลาน’ เนื่องจากเนื้อหาตลอดทั้งเรื่องเน้นหนักไปที่วัฒนธรรมจีนเป็นหลัก)
“ทำไมต้องเป็นอาเซียนด้วยล่ะ?” เราสงสัย
Head of Story คนเก่งของดิสนีย์ เล่าให้ฟังว่า เดิมทีดิสนีย์ตั้งใจจะเล่าเนื้อเรื่อง Raya and the Last Dragon ผ่านทวีปเอเชียทั้งโซน ไม่ได้เจาะจงว่าเน้นประเทศไหนเป็นหลัก แต่ในกระบวนการของการสเกาต์ การรีเสิร์ชข้อมูล ปรากฏว่าทีมงานเลือกที่จะเริ่มต้นจากประเทศฝั่งอาเซียน ในที่นี้ก็ได้แก่ ไทย, กัมพูชา, ลาว, สิงคโปร์, เวียดนาม และอินโดนีเซีย แล้วก็ดันไปต้องมนต์สะกดความเหนียวแน่นของวัฒนธรรมความเป็นอยู่แบบชุมชน (Community) และเสน่ห์ที่เฉพาะตัวของวัฒนธรรมต่างๆ
“ตอนที่เราเข้ามาทำโปรเจกต์นี้ก็เห็นว่าเขามีแผนที่ของเมือง (คูมันตรา) ในหนัง มีแม่น้ำ แล้วก็มีมังกรที่ไม่ใช่มังกรพ่นไฟมีปีกในฝั่งตะวันออก แต่เป็นมังกรเอเชีย เราก็รู้สึกว่าอ้อ แม่น้ำโขงและพญานาคนี่เอง ด้วยความเป็นคนไทย ก็เลยเสนอตัวขอเล่าเรื่องแม่น้ำโขงว่าไหลผ่านหลายประเทศ ไม่ใช่แม่น้ำกั้นดินแดน
“แรกเริ่มเดิมที ทีมงานดิสนีย์คิดว่าจะไปทริปรีเสิร์ชในประเทศย่านอาเซียน ก็เลยเดินทางไปเวียดนาม, ลาว, ไทย, กัมพูช,า อินโดนีเซีย แล้วก็ส่งอีกทีมไปสิงคโปร์ ซึ่งเราก็ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมรีเสิร์ชในทริปนี้ด้วย ตอนที่ไปรีเสิร์ช ทีมงานก็ได้พบกับวัฒนธรรมการกินข้าวแบบนั่งล้อมวง มีพิธีต้อนรับบายศรีสู่ขวัญที่บ้านในลาว ซึ่งหลายๆ อย่างมันก็ชี้ไปที่จุดของ ‘ความเป็นชุมชน’ ความสามัคคี เอื้ออาทรซึ่งกันและกัน แล้วทีมรีเสิร์ชเขาก็ชอบกันมากๆ
“จริงๆ ตอนแรกเขาสนใจเอเชียทั้งทวีป ไม่ได้ตัดสินใจว่าจะต้องเจาะจงที่ไหนเป็นหลัก สนใจมังกรที่ไม่ใช่มังกรแบบตะวันตก เรากับ Adele Lim ที่เป็นคนเขียนบทจากมาเลเซียก็คุยกันว่า บ้านเราก็มีมังกรเหมือนกันนะ แต่ไม่ใช่มังกรจีน เป็นนาคที่เกี่ยวกับน้ำ พอทีมงานมารีเสิร์ชข้อมูลในอาเซียน เขาก็ไม่ได้ไปที่ไหนต่อแล้ว เพราะเมื่อได้สัมผัสวิถีชีวิตผู้คนในแถบนี้ เขาก็เข้าใจขึ้นมาทันที ประกอบกับตอนนั้นเนื้อเรื่องของ Raya and the Last Dragon ก็เกี่ยวกับความเป็นชุมชนอยู่แล้ว มันก็เลยสอดประสานกันทำให้ทีมงานลงความเห็นว่าเรื่องของ Raya and the Last Dragon จะต้องเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้”
ไม่ใช่แค่ฝน วีระสุนทร ในฐานะทีมงานคนไทย หรือ Adele Lim ที่เป็นคนเขียนบทชาวมาเลเซีย เพราะคนเขียนบทอีกราย Qui Nguyen ก็เป็นชาวเวียดนามด้วย นั่นจึงทำให้ทั้งสามคนทำงานร่วมกันได้อย่างเข้าใจวัฒนธรรมอาเซียนจริงๆ เพื่อถ่ายทอดวัฒนธรรมของทั้งภูมิภาคลงไปในหนัง Raya and the Last Dragon โดยไม่ได้เจาะจงประเทศใดประเทศหนึ่งเป็นพิเศษ แล้วเชื่อมโยงคนดูทุกคนให้รู้สึกเข้าถึงเนื้อหาได้อย่าง ‘ไม่ถูกกีดกัน’
“เพราะว่าเป็นครั้งแรกที่วัฒนธรรมของพวกเราจะได้ออกไปสู่สายตาโลก เวทีโลก ดังนั้นแทนที่จะไปบอกว่าเรื่องนี้เป็นของประเทศนี้อย่างเดียว เรารู้สึกว่ามันเป็นการขีดเส้นแบ่งคนอื่นออกไป ซึ่งความยากก็คือตอนแรกเราเองก็ไม่ได้อยากเอาวัฒนธรรมของหลายๆ ประเทศมารวมๆ กัน เพราะกลัวว่ามันจะไม่มีความรับผิดชอบ
“โชคดีที่ดิสนีย์เขาชอบทำรีเสิร์ช ซึ่งในอาเซียนก็จะมีทีม Souteast Asian Trust มีพี่สตีฟ อรุณศักดิ์ ซึ่งเป็นศาสตราจารย์ด้านมานุษยวิทยาชาวลาว คนทำงานด้านกลองและดนตรีจากอินโดนีเซีย และ ตั้น-ณัฐกฤต สุนทรีรัตน์ สถาปนิกชาวไทย ซึ่งร่วมทำงานในตำแหน่ง Souteast Asian Trust ให้ข้อมูล คำปรึกษาด้านวัฒนธรรม”
ประสานสุขเล่าว่า ด้วยความช่วยเหลือของทีม Souteast Asian Trust และการรีเสิร์ชข้อมูลอย่างต่อเนื่อง ทำให้ค้นพบว่าแท้จริงแล้ววัฒนธรรมที่ดูจะแตกต่างของแต่ละประเทศก็มีจุดร่วมที่คล้ายคลึงกัน นั่นคือการได้รับอิทธิพลจากพราหมณ์-ฮินดู ซึ่งทั้งหมดก็ได้ถูกแปลงให้เข้ากับจักรวาลวิทยาของคูมันตรา เมืองแฟนตาซีที่สามารถเก็บกลิ่นอาย ความเป็นอยู่ วิถีชีวิต และวัฒนธรรมของผู้คนในอาเซียนมาร้อยเรียงผ่านเรื่องราว Raya and the Last Dragon ได้อย่างถูกจังหวะจะโคน
เรียกได้ว่าถ้าเปรียบเทียบภาพยนตร์ Raya and the Last Dragon เป็นกลิ่นสักกลิ่น มันก็คงจะเป็นกลิ่นที่เรารู้สึกคุ้นเคยในทุกๆ ครั้งที่สูดดม แต่ขณะเดียวกัน ทุกๆ ลมหายใจที่สูดเข้าไปก็ย่อมแฝงไว้ซึ่งเสน่ห์ของความสดใหม่ และเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่หาตัวจับได้ยากเป็นที่สุด
และรู้หรือไม่ว่า นอกเหนือจากการร่วมผจญภัยรีเสิร์ช สเกาต์ข้อมูลต่างๆ และการคุมงานฝั่งสตอรีบอร์ด ออกไอเดียหลายๆ อย่างแล้ว ในฉากหนึ่งที่ตัวละครในเรื่องต้องเทน้ำขอพรถึงซิซูนั้นก็เป็นไอเดียของประสานสุขด้วย โดยที่เธอมองไปถึง ‘การบนบานศาลกล่าว’ ให้กับวิญญาณ เทพเจ้า ซึ่งในทีนี้เธอได้เลือกใช้การสรงน้ำ หรือการบูชานาคด้วยน้ำ เป็นสัญลักษณ์สื่อแทนฉากดังกล่าวนั่นเอง
หลังจากนี้ เราน่าจะได้เห็นผลงานของประสานสุขโลดแล่นบนจอแก้ว (แพลตฟอร์ม Disney+) จอเงินตามออกมาอีกมากมายอย่างแน่นอน ซึ่ง ณ เวลานี้เธอก็กำลังอยู่ในระหว่างการเตรียมงานในโปรเจกต์ใหม่แล้ว อดใจรอไม่นาน น่าจะได้รับชมกัน!
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
- สำหรับคนทำงานแอนิเมชัน ฝน วีระสุนทร ยอมรับว่า การต้อง Work from Home พัฒนา Raya and the Last Dragon จากบ้านถือเป็นเรื่องที่ยากลำบากไม่น้อยในช่วงแรกๆ เพราะการทำงานเชิงสร้างสรรค์ การไม่ได้พบปะกับเพื่อนร่วมทีมแบบตัวต่อตัวถือเป็นเพนพอยต์รูปแบบหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไป เธอเริ่มปรับตัวได้ ก็เริ่มพบข้อดีของการทำลายวัฒนธรรมแบบ ‘Micro-Manage’ ลง คนทำงานมีอิสระในการทำงานมากขึ้น โดยไม่ต้องพึ่งการตัดสินใจของหัวหน้าเพียงคนเดียวในบางโอกาส