แฟชั่น (Fashion) = น. สมัยนิยม, แบบหรือวิธีการที่นิยมกันทั่วไปในชั่วระยะเวลาหนึ่ง
จากความหมายที่ราชบัณฑิตยสถานได้ให้ไว้ แฟชั่นคือความนิยมที่เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลา โดยแฟชั่นในที่นี้เรามักจะนึกถึงเสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่ม และสไตล์การแต่งตัวต่างๆ ที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย ผ่านการเปลี่ยนแปลงและพัฒนามาพร้อมๆ กับมนุษยชาติตลอดเวลานับร้อยปี และตอนนี้ก็ถึงเวลาที่แฟชั่นต้องเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เพราะการมาถึงของ Metaverse
เทคโนโลยี Crypto NFT และ Metaverse เป็นแนวทางสู่ยุคสมัยถัดไปอย่างไม่ต้องสงสัย เห็นได้จากความนิยมที่นวัตกรรมกำลังมุ่งหน้าเข้าหาเทคโนโลยี Virtual เหล่านี้ ทำให้แม้แต่แบรนด์แฟชั่นต่างก็เดินหน้าเข้าสู่โลกดิจิทัลได้เหมือนกัน แม้ว่าก่อนหน้านี้เราจะเห็นว่าแบรนด์แฟชั่นหรูหราต่างๆ เช่น Louis Vuitton, Dior หรือ Chanel ไม่ค่อยเข้าสู่การทำตลาดบนโลกออนไลน์มากนัก เพราะแบรนด์เหล่านี้ให้คุณค่ากับความพรีเมียม และสิ่งที่จับต้องได้มากกว่านี้
แต่วงการเกมได้มาเป็นตัวจุดชนวนการเปลี่ยนแปลงให้แก่แฟชั่นเฮาส์เหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการที่ Louis Vuitton ออกแบบ ‘สกิน’ (ชุดของตัวละคร) ให้กับเกมอย่าง League of Legends หรือ Nike ที่ออกแบบเครื่องประดับต่างๆ ให้กับเกมอย่าง Roblox แม้กระทั้ง Balenciaga ก็ยังทำการออกแบบสกินให้กับ Fortnite
Louis Vuitton ออกแบบ ‘สกิน’ (ชุดของตัวละคร) ให้กับเกมอย่าง League of Legends
Nike ที่ออกแบบเครื่องประดับต่างๆ ให้ Roblox
Balenciaga ทำการออกแบบสกินให้กับ Fortnite
ไม่ใช่เพียงแค่เกม แต่ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไป คนเราอวดเสื้อผ้าบนอินสตาแกรมบ่อยเสียยิ่งกว่าใส่เสื้อผ้าของจริง จึงทำให้แบรนด์อย่าง DressX เล็งเห็นสิ่งนี้ และสร้าง AR (Augmented Reality) ให้แก่ผู้ที่ต้องการเสื้อผ้าที่แปลกใหม่ ไม่เหมือนใคร แค่เพียงส่งรูปถ่ายของคุณมา เลือกเสื้อผ้า รอเวลาสัก 1-2 วัน เราก็จะได้เสื้อผ้าที่แหวกแนวกว่าความเป็นจริง โดดเด่นกว่าใครใน IG Stories ทันที และในอีกทางหนึ่งสำหรับการใช้เทคโนโลยี AR คือการที่คุณไม่ต้องลองสวมเสื้อผ้าจริงๆ เพียงแค่ถ่ายรูป และให้ AR จำลองเสื้อผ้าราวกับว่าคุณกำลังสวมใส่พวกมันอยู่ ก็ทำได้เช่นเดียวกัน
DressX
The Fabricant
หรือการที่ Nike ได้ปูทางให้ตัวเองเดินหน้าเข้าสู่โลกแห่ง NFT และ Metaverse ด้วยการซื้อกิจการของ RTFKT (อ่านว่า อาร์ติแฟกต์) โดยแบรนด์ RTFKT ได้สร้างชื่อจากการที่ให้ผู้คนมาออกแบบรองเท้าสนีกเกอร์แบบต่างๆ ของตัวเอง และได้รองเท้าคู่นั้นเป็นทรัพย์สินในแบบ NFT ไปเลย และการที่ Nike ซื้อกิจการนี้ ก็แปลได้ว่าจากนี้ไป Nike จะมีแพลตฟอร์มสำหรับคัสตอมรองเท้าของตัวเอง แถมยังทำให้มันเป็น NFT ได้อีกด้วย ส่วนแบรนด์อื่นๆ ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ เช่น Burberry และ H&M ที่มีการติดต่อสตูดิโอเพื่อดำเนินแนวทางสำหรับ Digital Fashion Show
Nike ได้ปูทางให้ตัวเองเดินหน้าเข้าสู่โลกแห่ง NFT และ Metaverse ด้วยการซื้อกิจการของ RTFKT
จากที่เห็นมาทั้งหมด เราจะเห็นภาพได้ว่าแฟชั่นได้หาพื้นที่ของตัวเองในโลกดิจิทัลไว้ 3 ทางหลัก ได้แก่
- การสวมใส่ด้วยเทคโนโลยี AR
- การออกแบบสกินให้กับตัวละคร
- ซื้อ-ขายเป็น NFT
ส่วนเหตุผลหลักที่แฟชั่นเฮาส์ต่างๆ หันมาสนใจตลาดดิจิทัลก็ต้องยกความดีความชอบให้แก่โควิด เพราะการที่ไม่สามารถเปิดโรงงานผลิตสินค้าต่างๆ ได้ ทำให้แบรนด์ต้องดิ้นรน หาทางรอดให้สามารถนำสินค้า และชื่อเสียงของตัวเองเฉิดฉายต่อไปได้
อีกหนึ่งข้อดีที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ แฟชั่นสามารถเปลี่ยนจากการ ‘ลด’ โปรดักต์ให้น้อยลง ไปสู่การ ‘ไม่ต้อง’ สร้างโปรดักต์เลย ไม่มีการใช้น้ำ ไม่ต้องปล่อย CO2 ไม่มีการแสดงสินค้าแบบจับต้องได้ เพราะทุกอย่างอยู่บนหน้าจอเท่านั้น (นี่สิ แฟชั่นรักโลกของจริง) แน่นอนว่าองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมต้องชื่นชอบแนวคิดนี้ เพราะแฟชั่นถือเป็นอุตสาหกรรมที่ติดอันดับเรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อม หลังใช้วัสดุธรรมชาติมากมาย เช่น หนังของสัตว์ต่างๆ และการทำลายเสื้อผ้า หรือเครื่องประดับที่ขายไม่ออกด้วยการเผา มากกว่าการรีไซเคิล ซึ่งปัญหาทั้งหลายเหล่านั้นจะหมดไป เพียงแค่เรามีสมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์หนึ่งเครื่องเท่านั้น
นอกจากนั้น อีกเหตุผลที่ปฏิเสธไม่ได้คือเงิน และโอกาสในการทำเงินในโลก Metaverse ที่มีสูงมาก อ้างอิงจากการที่ตลาดสกินในวิดีโอเกมมีมูลค่าสูงถึง 40,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี ดังนั้นก็ไม่น่าแปลกใจที่ใครๆ ก็อยากกระโจนเข้ามาในโลกนี้
Ralph Lauren
META
ด้วยแนวทางการอยู่ร่วมกันของแฟชั่นและเทคโนโลยีเกม ถือเป็นการยกระดับแฟชั่นไปได้อีกขั้น ข้อจำกัดและกรอบต่างๆ ถูกลดให้จางลง Metaverse ทำให้คุณสวมใส่สกินอะไรก็ได้ในโลกดิจิทัล ด้วยไอเดียที่ไม่สามารถทำได้ด้วยการตัดเย็บจริงๆ เราสามารถเป็นตัวเองได้มากขึ้น แฟชั่นใน Metaverse สามารถตะโกนตัวตนของเราออกมาได้อย่างโดดเด่น ชัดเจน และรุนแรงมากกว่าที่เคยเป็นมา และด้วยความที่เราสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเท่าเทียม การออกแบบแฟชั่นสักชุดบน Metaverse จึงเป็นเรื่องที่ง่ายกว่าเดิมมาก ซึ่งสอดคล้องกับแนวคิดของ RTFKT ที่ต้องการให้คนทั่วไปออกแบบแฟชั่นของตัวเองได้ โดยไม่ต้องจำเป็นต้องเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ จึงทำให้เกิดไอเดียที่หลากหลายมากขึ้นจากทุกคน
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจตั้งคำถามว่า แล้วทำไมเราถึงต้องเสียเงินเพื่อซื้อเสื้อผ้าสมมติเหล่านี้ ในเมื่อเราไม่สามารถสวมใส่จริงๆ ด้วยซ้ำ? เชื่อว่าอีกไม่นานเมื่อแนวคิดเรื่อง Metaverse เริ่มใกล้เคียงความจริง และเขยิบเข้ามาใกล้ขึ้นเรื่อยๆ เมื่อนั้นคุณอาจจะค้นพบคำตอบนี้ พร้อมๆ กับการตามล่าหาซื้อ ‘สกิน’ จากแบรนด์ดังมาสวมใส่ในโลกดิจิทัลเหมือนคนอื่นเขาบ้าง
อ้างอิง: