×

หนี้สินชาวนา ปัญหาวัวพันหลัก แก้ไม่ได้หากไม่รื้อโครงสร้าง-คุมต้นทุนการผลิต

07.02.2022
  • LOADING...
Farmer Debt

“ชาวนาเปรียบเสมือนกระดูกสันหลังของชาติ” ประโยคที่หลายคนมักจะได้ยินเมื่อพูดถึงชาวนาไทยที่หลังขดหลังแข็งสร้างผลผลิตที่ส่งมาถึงจานอาหารของทุกคน ทว่าตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อาชีพชาวนาหรือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวกลับไม่สามารถลืมตาอ้าปากและมีชีวิตที่ดีได้ หนำซ้ำยังถูกโครงสร้างราคาข้าวบดขยี้ ทำให้ชีวิตต้องเข้าสู่วงจรหนี้อย่างไม่มีวันสิ้นสุด

 

ช่วงหลายวันมานี้ชาวนาจากหลายจังหวัดเดินทางมารวมตัวกันและปักหลักค้างคืนบริเวณหน้ากระทรวงการคลัง เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจัดการปัญหาหนี้สินของเกษตรกรที่นำโดยเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย ซึ่งมีข้อเรียกร้องที่สำคัญคือ ขอให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ชะลอการฟ้องบังคับคดีและเร่งดำเนินการโอนหนี้สินเข้าสู่กระบวนการการจัดการหนี้สินของสำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) พร้อมขยายเพดานวงเงินการซื้อหนี้ NPA จาก 2.5 ล้านบาท ขยายเป็น 5 ล้านบาท เสนอเข้าสู่มติของคณะรัฐมนตรี (ครม.)

 

ชรินทร์ ดวงดารา ที่ปรึกษาเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย กล่าวกับ THE STANDARD ว่า ทุกวันนี้ชาวนายิ่งทำนามากยิ่งเป็นหนี้มาก ทุกคนรู้ว่าต้นทุนการผลิตข้าวอยู่ที่เกวียนละ 8,000-8,500 บาท ขณะที่ราคาข้าวเปลือกในตลาดอยู่ที่ 6,000 บาท แค่เริ่มต้นก็ขาดทุนแล้ว นี่คือต้นเหตุของการเป็นหนี้

 

โดยนับแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2510-2515) ที่วางแผนการพัฒนาด้านการเกษตร โดยเฉพาะเรื่องข้าวที่ระบุไว้ว่า “เร่งรัดการเพิ่มผลผลิตข้าว โดยเน้นหนักในด้านการปรับปรุงประสิทธิภาพในผลิต เพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น โดยการจัดระบบการควบคุมน้ำที่เหมาะสม การใช้พันธุ์ข้าวที่ให้การผลผลิตสูงและมีความต้านทานต่อโรคและศัตรูพืช การใช้ปุ๋ยที่ถูกต้องและปริมาณที่เหมาะสม ตลอดจนการปรับปรุงวิชาการทำนาให้ทันสมัยและถูกต้องตามหลักวิชาการยิ่งขึ้น” และการก่อกำเนิดของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) ถือเป็นจุดเปลี่ยนชีวิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้เข้าสู่วงจรหนี้อย่างสมบูรณ์

 

“ก่อน พ.ศ. 2509 ชาวนาทำนาแบบดั้งเดิม ใช้แรงงานคน แรงงานสัตว์ ไม่เร่งรัดการผลิต ต้นทุนไม่มี แต่เมื่อมีการเปลี่ยนพันธุ์ข้าว โดยกรมการข้าวใช้ศัพท์ทางวิชาการว่าไวต่อปุ๋ย ซึ่งกินปุ๋ยมาก เพราะเขาต้องการเร่งผลผลิต ในขณะที่เร่งผลผลิต แต่ไม่มีการคุ้มครองราคา เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่เมื่อมีการผลิตมากก็ต้องถูกกดราคา” ชรินทร์กล่าว

 

ชรินทร์ยังได้กล่าวถึงการแก้ปัญหาว่า วันนี้ต้องให้ชาวนาหรือผู้ปลูกข้าวทุกคนสามารถทำทุกอย่างได้อย่างครบวงจร ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยาก แม้แต่ตัวชาวนาเองก็ยังไม่เชื่อในแนวทางนี้ เพราะเขาถูกสอนมาตลอดว่าชาวนาต้องทำนาขายข้าวเหลือ ซึ่งวันนี้เราต้องให้ขายข้าวสารไม่ใช่ขายข้าวเปลือก เมื่อเครื่องจักรทุกอย่างพร้อมแล้ว เหลือแค่การส่งเสริมจากภาครัฐ แต่โครงสร้างวันนี้มันยังผูกขาดอยู่กับคนไม่กี่คน

 

“แม้แต่น้ำดื่มรัฐบาลยังคุมราคาไว้ จะขึ้นราคาตามใจไม่ได้ แต่ปุ๋ยหรือสารเคมีที่เกษตรกรต้องใช้รัฐไม่มีการคุมใดๆ อีกทั้งราคาผลผลิต ราคาสินค้าเกษตร รัฐก็ไม่ดูแล คำว่ากลไกการตลาดใช้ไม่ได้สำหรับการเกษตรไทย เพราะพืชหรือสัตว์ก็มีการผูกขาดหมด” ชรินร์กล่าว

 

“รัฐบาลเขาไม่เคยใส่ใจ ปล่อยไปตามยถากรรม ในขณะที่เอาเกษตรกรไปหากินนะ ไปประกาศว่าประเทศไทยเป็นครัวของโลก แล้วเคยหันมาดูพ่อครัวแม่ครัวไหมว่าเป็นอย่างไร”

 

ชรินทร์ยังระบุด้วยว่า เหตุผลที่เกษตรกรไทยไม่สามารถพัฒนาคุณภาพการผลิตได้ เนื่องจากหนี้ที่จี้หลังอยู่ตลอดเวลา อีกทั้งยังอยู่ในสภาพจำยอมและขาดกำลังใจในการพัฒนา โดยเฉพาะหนี้ที่เกษตรกรต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยอย่างน้อยร้อยละ 8 ต่อปี ซึ่งต้นทุนดอกเบี้ยเป็นสิ่งที่หนักหนา เพราะเมื่อเกษตรกรกู้เงินมา ดอกเบี้ยเดินทันที ขณะที่รายได้กว่าจะได้ผลผลิตก็อย่างน้อยอีก 5 เดือน

 

ชรินทร์กล่าวทิ้งท้ายถึงแนวทางการแก้ปัญหาว่า “ถ้ารัฐบาลมีสติปัญญาได้คิด ตั้งต้นกันใหม่สำหรับแผนและทิศทางการพัฒนาภาคการเกษตรไทย หันมาทบทวนและเริ่มต้นกันใหม่ หนี้สินจะจัดการอย่างไร ข้างหน้าจะทำอย่างไร ที่เดินมาและกำลังจะเดินต่อแบบนี้อีกคือความผิดพลาดทั้งหมด แล้วรัฐบาลพร้อมไหมที่จะตั้งต้นใหม่ คุณพร้อมยอมรับความจริงไหม”

 

“หนี้สินที่เกษตรกรเป็นอยู่ 5 แสนล้านบาทใน ธกส. ยกให้ได้ไหม ทำงบฯ ผูกพันสัก 5 ปี ปีละแสนล้านบาท หยุดซื้อเรือดำน้ำ หยุดซื้อเครื่องบินก่อนได้ไหม หยุดสร้างรถไฟฟ้าสักปี แล้วเริ่มต้นใหม่กันไหม ทบทวนกันใหม่ว่าทิศทางของเราถูกหรือผิด แล้วถ้าผิดเราจะเดินต่ออย่างไร มันไม่มีทางอื่นนอกจากทางนี้ ถ้ายังดันทุรังแก้เป็นจุดๆ ก็ไม่จบ เป็นวัวพันหลักอยู่อย่างนี้ ต่อให้วันนี้ปลดหนี้ชาวบ้านเป็นศูนย์ ก็เกิดหนี้ใหม่ถ้าโครงสร้างการผลิตยังเป็นแบบนี้” 

 

Farmer Debt Farmer Debt Farmer Debt Farmer Debt Farmer Debt Farmer Debt Farmer Debt Farmer Debt Farmer Debt Farmer Debt

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X