ผ่านมาประมาณ 1 สัปดาห์ หลังการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ซึ่งมีมติออกมาว่าที่ประชุมให้เลื่อนการแบน 2 จาก 3 สารเคมีทางการเกษตร ได้แก่ พาราควอต และคลอร์ไพริฟอส ขยับออกไปอีก 6 เดือน จากเดิมคือวันที่ 1 ธันวาคม 2562 โดยมีกำหนดบังคับใช้ใหม่ในวันที่ 1 มิถุนายน 2563
พร้อมมอบหน้าที่ให้กรมวิชาการเกษตรและกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการหาสารทดแทน รวมถึงจัดการระบายสารที่อยู่ในสต๊อกจำนวน 23,000 ตันในกรอบวันดังกล่าว ขณะที่สารเคมีอีกชนิดอย่างไกลโฟเซตไม่ถูกแบน แต่ถูกจำกัดการใช้งานแทน
ต่อมา มนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกมาเปิดเผยว่าเสียใจ เพราะได้ทำเต็มที่แล้ว จากนี้คงคืนกรมวิชาการเกษตรให้รัฐมนตรีว่าการ และตนเองขอดูแลกรมชลประทานแทน
ล่าสุดมนัญญาเปิดเผยกับ THE STANDARD ว่าเรื่อง 3 สารไม่ใช่เรื่องใหม่ที่เพิ่งมารับรู้ เพราะตัวเองก็เห็นตั้งแต่ตอนเป็นนายกเทศมนตรีแล้ว ที่กิจการไร่อ้อยก็มีคนงานฉีดพาราควอต ซึ่งพอฉีดไปได้สักพักก็เริ่มมีอาการแล้ว ปลาในสระกระดูกดำ ปลาไหลก็หายไปเลย ซึ่งที่ดินตรงนั้นเธอซื้อต่อมาอีกที
“เรื่องพวกนี้เราเห็นก็ทำให้เรารู้ ตัวเองตอนมาเป็นนายกเทศมนตรี เห็นคนเจ็บป่วย บางคนบอกไม่เห็นเป็นอะไรเลย แต่เคยเช็ดน้ำตาลูกที่ต้องมาเผาพ่อแม่ไหม ถ้าเราคิดว่าชีวิตคนไม่มีค่า กลัวแต่จะเสียเงิน แต่ไม่กลัวเสียชีวิต ดังนั้นต้องเป็นเกษตรปลอดภัยที่ปลอดภัยทั้งตัวผู้บริโภคและผู้ผลิต” มนัญญากล่าว
มนัญญายืนยันว่าต้องแบนแน่นอน ตอนนี้มีเกือบ 5,000 ตัน เป็นสารนำเข้าจาก 70 กว่าบริษัท แต่ถามว่าแล้วไม่มีอะไรทดแทนหรือ กรมวิชาการก็เสนอแล้ว สารทดแทนมีถึง 17 ชนิดที่ทดแทน 3 สารได้
ส่วนข้อกังวลเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นภาระกับเกษตรกร มนัญญายืนยันว่าที่จริงปุ๋ยอินทรีย์ราคาไม่สูง เราต้องคิดถึงผู้บริโภค และเมื่อคิดถึงผลผลิตที่ได้ หากใช้ปุ๋ยธรรมชาติจะได้ผลผลิตมากกว่าที่ใช้สารเคมี วันนี้เรียกคนที่ใช้สารเคมีโดยตรงแล้วก็ปุ๋ยอินทรีย์มาด้วย เขาก็บอกว่าสารเคมีได้ระยะเวลาเร็วต่อไร่ เช่น ถ้าใช้สารเคมีก็ใช้ระยะเวลาแค่ 1 เดือน แต่ถ้าใช้ปุ๋ยอินทรีย์ต้องใช้เวลาประมาณเดือนครึ่ง แต่ผลผลิตของปุ๋ยอินทรีย์มากกว่าปุ๋ยเคมี
มนัญญากล่าวต่อไปว่าชาวบ้านที่ทำปุ๋ยอินทรีย์เองที่จริงราคาไม่สูง แต่ที่สูงเพราะผ่านกลไกพ่อค้าคนกลาง ดังนั้นจึงมองว่าต้องทำอย่างไรจึงจะมีตลาดให้กับเกษตรกร มีกำไรแบ่งปัน ยกตัวอย่าง ซูเปอร์มาร์เก็ตสหกรณ์พระนคร กะหล่ำปลีออร์แกนิกถูกกว่ากะหล่ำปลีปกติในตลาดร้านค้าก็มี ดังนั้นนี่คือสิ่งที่จะผลักดันจะเปิดตลาด ซึ่งก็จะเป็นแนวโน้มที่ต้องเกิดเช่นกัน เพราะตอนนี้กรมวิชาการเกษตรก็มีป้ายติดรับรองให้กับสินค้าออร์แกนิกอยู่แล้ว
“กรมวิชาการเกษตรไม่ได้มีหน้าที่เฉพาะการสอนให้เกษตรกรใช้สารเคมี แต่เรื่องปุ๋ยอินทรีย์ กรมวิชาการเกษตรก็เก่งมาก ดังนั้นขึ้นอยู่กับผู้บริหารจะให้นโยบายไป” มนัญญากล่าว
เมื่อถามว่าจะเดินอย่างไรต่อหลังจากไกลโฟเซตหลุดแบนแล้วแน่นอน ในขณะที่พาราควอตกับคลอร์ไพริฟอสต้องรออีก 6 เดือน มนัญญากล่าวว่าใน 6 เดือนทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ก็ไม่มีการนำเข้าอยู่แล้ว แม้กระทั่งไกลโฟเซตเราก็ไม่ให้นำเข้า เพราะว่ามติหรือหนังสือสั่งการจากกระทรวงอุตสาหกรรมยังไม่ได้สั่งมาถึงเราว่ามีแนวทางแบบไหน ถ้ามีก็เป็นธรรมดาที่เราต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย ก็ต้องปฏิบัติ แต่ที่เรามุ่งหวังคือ 6 เดือนนี้เราจะไม่ให้มี 2 สารนี้เข้ามาอยู่แล้ว สำหรับบริษัทผู้ประกอบการที่มีสารเหล่านี้ เราก็มีทางออกคือให้นำส่งออกไปต่างประเทศ ซึ่งตอนนี้นำออกไปเกือบ 2,000 ตันแล้ว
มนัญญากล่าวอีกว่าล่าสุดตนได้ทำหนังสือถามไป แต่ยังไม่ได้รับคำตอบถึงข้อมูลการมีมติในที่ประชุมของคณะกรรมการฯ แต่จากการสอบถามตัวแทนของกระทรวงเกษตรฯ เผยว่าไม่มีการยกมือ ไม่มีการลงมติ ประธานเป็นผู้ตัดสินเอง ยืนยันว่ายังไม่ได้ยกหูต่อสายคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม
และนี่คือคำตอบต่อประเด็นร้อนในต้นสัปดาห์ที่แล้วจากปากของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มนัญญา ไทยเศรษฐ์ ที่แม้คนภายนอกอาจมองว่าเธอดุ แต่เธอก็ทิ้งท้ายกับเราไว้ว่า
“ดุไหม ไม่ดุ แค่เราไม่ชอบให้ใครมาทำอะไรเรา เขาตีเราแปะหนึ่ง เราอาจตีกลับแรงกว่า เราปกป้องตัวเราเอง ใครมาจับมือเรา เราก็ปัดออก เพราะตอนเขาบีบมือเราไม่มีใครเห็น แต่เราสะบัดออกแล้วคนเห็น มันก็แค่นี้เอง”
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์