×

ผู้โดยสารต้องเสียเงินหลักร้อยขึ้นรถไฟฟ้าหลากสี หากรัฐยังปล่อยให้แต่ละสายกำหนดค่าโดยสารแยกกันตามสัญญาสัมปทาน

09.02.2021
  • LOADING...

วันนี้ (9 กุมภาพันธ์) สภาองค์กรของผู้บริโภค จัดงานแถลงข่าว ‘หยุดราคาบีทีเอส 104 บาท’ โดยผู้จัดงานได้เริ่มต้นกล่าวว่า แม้กรุงเทพมหานครจะเลื่อนการขึ้นค่าโดยสารดังกล่าวออกไปแล้ว แต่ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาพบว่า ในอนาคตการเดินทางด้วยรถไฟฟ้าจะมีราคาแพงหลักร้อยบาทอยู่หลายเส้นทาง และอนาคตรถไฟฟ้าจะไม่ใช่การเดินทางหลักของคนในกรุงเทพมหานคร

 

ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยนโยบายด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า การชะลออัตราค่าโดยสารสายสีเขียว 104 บาทเป็นเพียงทางออกระยะสั้น ปัญหาหลักที่เราพบคือการกำหนดอัตราค่าโดยสารเป็นรายเส้นทางตามสัญญาสัมปทานแยกกัน จึงทำให้ราคาในแต่ละสายสีต่างๆ แตกต่างกัน เนื่องจากเมื่อมีการเชื่อมต่อระหว่างระบบ ทำให้ผู้โดยสารจำเป็นต้องจ่ายค่าแรกเข้าให้กับรถไฟฟ้าอีก

 

 

ดร.สุเมธ ได้ยกตัวอย่างว่า อนาคตถ้าเราจะเดินทาง แยกพระราม 9-ลำสาลี (บางกะปิ) อัตราเต็มที่จะเก็บค่าโดยสารตามสัญญาสัมปทาน ถ้าไม่มีการยกเว้นค่าแรกเข้าเลยจะอยู่ที่ 109 บาท เฉลี่ยกิโลเมตรละ 3 บาทกว่า 

 

ส่วนค่าโดยสารที่แพงที่สุดเท่าที่จะหาข้อมูลได้คือ สยาม-มีนบุรี สำหรับมีนบุรี มีรถไฟฟ้าสองสายคือ สีชมพูกับสีส้ม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการประมูล ทำให้ค่าโดยสารยังไม่ชัดเจน แต่ถ้าคำนวณจากสายสีชมพูซึ่งจะเปิดช่วงปลายปีนี้-ต้นปีหน้า ค่าโดยสารจะสูงถึง 113 บาท (คิดจากราคาสายสีเสียว 104 บาทตามสัญญาสัมปทานของกรุงเทพมหานคร) ซึ่งราคานี้เป็นเพียงการเดินทางข้ามสายเพียงสองสายเท่านั้น

 

คำถามคือ รัฐได้มีการเตรียมการเรื่องพวกนี้ไว้มากน้อยอย่างไร หรือต้องรอให้เปิดบริการก่อนแล้วถึงรู้ว่าแพงถึงจะมาพูดคุยกัน ปัญหาตอนนี้คือแม้เราจะเห็นรถไฟฟ้ากำลังก่อสร้างอยู่แถวบ้านตัวเอง แต่เราไม่รู้เลยว่ามันมีค่าโดยสารเท่าไร

 

สิ่งที่อยากนำเสนอต่อภาครัฐคือ ถ้าเราต้องการให้ประชาชนเข้าถึงรถไฟฟ้าได้ คงถึงเวลาแล้วที่จะนำรถไฟฟ้าทั้งระบบทุกสายมาคิดค่าโดยสารมากกว่าจะปล่อยให้แต่ละเส้นคิดค่าโดยสารแยกกัน 

 

“วันหนึ่งที่เราจะบอกว่ารถไฟฟ้าจะเป็นเส้นทางหลักของประชาชนจะกลายเป็นทางรองทันที ประชาชนจะไม่อยากใช้งานเพราะค่าโดยสารมันแพงมากเกินไป ปัจจุบันถึงแม้บ้านจะใกล้รถไฟฟ้า เช่น บางใหญ่ นนทบุรี ก็นิยมนั่งรถตู้มาที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิมากกว่าที่จะใช้รถไฟฟ้า เพราะค่าโดยสารมันแพง” ดร.สุเมธ กล่าว 

 

ดร.สุเมธ เสนอแนวทางเบื้องต้นคือการยกเว้นค่าแรกเข้าทุกโครงการ และคิดคำนวณค่าโดยสารสูงสุดของระบบรถไฟฟ้าทั้งระบบ โดยแยกการกำหนดอัตราค่าโดยสารออกจากสัญญาสัมปทาน

 

ซึ่งในเวลานี้ภาครัฐกำลังจัดทำ พ.ร.บ. การขนส่งทางราง เพื่อกำกับอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า เหมือนที่รถเมล์หรือรถทัวร์ถูกกำกับค่าโดยสารตาม พ.ร.บ. ขนส่งทางบก แต่ปัญหาคือมีหลายเส้นทางที่ทำสัญญาสัมปทานไปแล้ว แต่กฎหมายยังไม่ออกมา ในอนาคตก็ต้องใช้เวลาเจรจาและปรับเพื่อสร้างความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย 

 

“แต่สิ่งที่ทำได้คือสัญญาสัมปทานที่เหลือไม่ควรจะสร้างปัญหาเพิ่มเติมโดยการผูกการกำหนดค่าโดยสารในสัญญาสัมปทาน ถ้าหยุดปัญหาตรงนี้ได้และไปไล่แก้ปัญหาเก่า ดีกว่าปล่อยไปแล้วสุดท้ายรัฐลงทุนสร้างโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินรัฐไม่ใช่เงินเอกชน ถ้ารัฐลงทุนแล้วมีคนขึ้นน้อยมันหมายถึงรัฐสูญเสีย” ดร.สุเมธ กล่าว

 

ดร.สุเมธ กล่าวต่อไปอีกว่า ถ้าเราสร้างระบบขนส่งมวลชน แต่กำหนดราคารถไฟฟ้าให้สะดวกแค่คนบางกลุ่ม แต่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง จะทำให้การลงทุนของรัฐไม่คุ้มค่า

 

ด้าน สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การชะลอขึ้นค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวสะท้อนว่าทางกรุงเทพมหานครไม่ได้เห็นใจผู้คนในกรุงเทพมหานครเลยที่จะต้องรับภาระ 104 บาท แต่ทางกรุงเทพมหานครสนใจคนที่แต่งตั้งเขาเอง

 

“เราจึงเสนอประเด็นว่าการต่อสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวควรจะรอก่อนหรือไม่ เพราะเรากำลังจะเลือกตั้งผู้ว่าฯ กรุงเทพมหานครภายในปีนี้ เรายังเหลือเวลาอีก 8 ปีในสัญญาสัมปทานสายสีเขียว ดังนั้นควรให้ผู้ว่าฯ ที่มาจากการเลือกตั้งของคนกรุงเทพฯ ตัดสินใจ เนื่องจากผู้ว่าฯ ปัจจุบันฟังรัฐบาลแต่ไม่ฟังประชาชน ประชาชนเดือดร้อนไม่สนใจ แต่รัฐบาลบอกให้ชะลอไปก่อนผู้ว่าฯ ก็ทำได้” สารี กล่าว 

 

สารี ย้ำว่า ข้อมูลของทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคไม่เลือกที่รักมักที่ชัง แต่เราอยู่ในระบบที่กรรมาธิการคุ้มครองผู้บริโภคและกรรมาธิการคมนาคมไม่สามารถขอสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวมาดูได้ เพราะฉะนั้นเราอยากให้เรื่องเหล่านี้ต้องเปิดเผย โปร่งใส และทำการตัดสินใจ สถานการณ์แบบนี้เราต้องช่วยกันให้เรามีคุณภาพชีวิตที่ดีมากกว่าที่เป็นอยู่

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising