×

พรรคขวาจัดคะแนนนำ เลือกตั้ง สส.ฝรั่งเศส รอบแรก จับตาฉากทัศน์การเมืองแบบ ‘อยู่ร่วมกัน 2 ขั้ว’

01.07.2024
  • LOADING...
เลือกตั้ง สส.ฝรั่งเศส

พรรคขวาจัด National Rally (RN) คว้าคะแนนนำในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรฝรั่งเศสรอบแรก วานนี้ (30 มิถุนายน) ท่ามกลางกระแสต่อต้านจากกลุ่มพันธมิตรพรรคการเมืองฝ่ายซ้ายและพันธมิตรพรรครัฐบาลสายกลาง ซึ่งหวั่นวิตกว่า ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครง จะถูกบีบให้แต่งตั้งนายกรัฐมนตรีจากพรรคฝ่ายขวา ซึ่งอาจสั่นคลอนการทำหน้าที่กำหนดนโยบายในวาระดำรงตำแหน่งที่เหลืออีก 3 ปี

 

การเลือกตั้งครั้งนี้ได้รับความสนใจอย่างมาก และมีประชาชนออกมาใช้สิทธิสูงสุดในรอบหลายทศวรรษ ท่ามกลางกระแสความนิยมขั้วการเมืองขวาจัดในยุโรปที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด และยังถือเป็นครั้งแรกที่จำนวนที่นั่ง สส. ถูกแบ่งออกเป็น 3 ขั้วการเมือง 

 

โดยเอ็กซิตโพลชี้ว่า พรรค RN ของ มารีน เลอ แปง ผู้นำฝ่ายค้าน ได้คะแนนนำเป็นอันดับ 1 ที่ประมาณ 34% ตามด้วยพันธมิตรพรรคการเมืองฝ่ายซ้าย NFP ที่ได้ 28.1% ขณะที่พันธมิตรพรรคการเมืองสายกลาง ซึ่งรวมถึงพรรคเรเนซองส์ (Renaissance Party) ของประธานาธิบดีมาครง ร่วงมาเป็นอันดับ 3 ด้วยคะแนน 20.3%

 

ขณะที่ผลคะแนนขั้นต้นที่ออกมาส่งผลให้มีชาวฝรั่งเศสซึ่งต่อต้านฝ่ายขวาจัด ทั้งในกรุงปารีสและหลายเมืองออกมาร่วมชุมนุมประท้วงเพื่อแสดงความไม่พอใจและต่อต้านการครองอำนาจรัฐบาลของพรรค RN

 

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าพรรค RN จะได้คะแนนนำสูงสุด แต่ยังมีความเป็นไปได้ที่อาจจะไม่สามารถครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งจำเป็นต้องได้ สส. เกินกึ่งหนึ่ง หรือ 289 ที่นั่ง 

 

ซึ่งจากการคาดการณ์แสดงให้เห็นว่า ในการเลือกตั้งรอบที่ 2 วันอาทิตย์หน้า (7 กรกฎาคม) พรรค RN อาจชนะที่นั่ง สส. ราว 230-280 ที่นั่ง แต่ยังถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมาก เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งรอบก่อนที่พรรค RN ได้ สส. ไป 88 ที่นั่ง

 

การอยู่ร่วมระหว่าง 2 ขั้ว

 

ฉากทัศน์ทางการเมืองที่เลวร้ายที่สุดสำหรับมาครง คือการที่พรรค RN ครองเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร และทำให้มาครงที่ยังเหลือวาระดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจนถึงปี 2027 ต้องแต่งตั้ง จอร์แดน บาร์เดลลา (Jordan Bardella) ผู้นำพรรค RN วัย 28 ปี เป็นนายกรัฐมนตรี

 

ในสถานการณ์ลักษณะนี้ สำหรับการเมืองฝรั่งเศสจะเรียกว่า ‘การอยู่ร่วมระหว่าง 2 ขั้ว’ (Cohabitation) ซึ่งนายกรัฐมนตรีที่มาจากขั้วการเมืองหนึ่ง และมีความรับผิดชอบในฐานะผู้นำรัฐบาลและผู้เสนอร่างกฎหมาย อาจกำหนดนโยบายและแผนงานต่างๆ แตกต่างจากที่ประธานาธิบดีจากอีกขั้วการเมืองวางไว้

 

ที่ผ่านมา ในประวัติศาสตร์การเมืองยุคสมัยใหม่ของฝรั่งเศส เกิดกรณีการอยู่ร่วมระหว่าง 2 ขั้วมาแล้ว 3 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นในยุคอดีตประธานาธิบดีฌัก ชีรัก จากขั้วอนุรักษ์นิยม ที่มีนายกรัฐมนตรีคือ ลียอแนล ฌ็อสแป็ง จากฝ่ายสนับสนุนแนวคิดสังคมนิยม

 

สิ่งที่เกิดขึ้นในภาวะแบบนี้ แน่นอนว่าจะทำให้อำนาจในการกำหนดนโยบายของประธานาธิบดีอ่อนลง แต่ยังคงมีอำนาจเหนือนโยบายต่างประเทศ กิจการยุโรป และการป้องกันประเทศ ซึ่งประธานาธิบดียังเป็นผู้บัญชาการทหารสูงสุดของประเทศและเป็นผู้ครอบครองรหัสอาวุธนิวเคลียร์

 

อย่างไรก็ตาม บาร์เดลลาประกาศไว้อย่างชัดเจนว่า เขาจะปฏิเสธตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หากพรรคของเขาและพรรคพันธมิตรฝ่ายขวาไม่ชนะการเลือกตั้งด้วย สส. เสียงข้างมากอย่างน้อย 289 ที่นั่ง

 

ซึ่งหากผลเลือกตั้งออกมาในลักษณะนี้ หมายความว่าประธานาธิบดีมาครงจะต้องเลือกนายกรัฐมนตรีที่มาจากพรรคฝ่ายซ้าย ซึ่งกลุ่มพันธมิตร NFP ที่ได้คะแนนมาเป็นอันดับ 2 อาจมีความพยายามในการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยด้วย

 

ภาพ: Yves Herman / REUTERS

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising