เป็นประจำทุกปีที่คอหนังสือต่างรอลุ้นว่า รางวัลซีไรต์หรือวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียนจะตกเป็นของผู้มีผลงานคนใด
สำหรับปีนี้ (2566) คณะกรรมการตัดสินรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2566 ประเภทรวมเรื่องสั้น ได้ออกคำประกาศมาแล้ว โดยมีความเห็นว่า ‘รวมเรื่องสั้น Family Comes First ด้วยรักและผุพัง’ ของ นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์ เล่าเรื่องคนไทยเชื้อสายจีนในมุมมองใหม่ ผู้เขียนใช้ ‘ความเป็นจีน’ เป็นเครื่องมือในการตั้งคำถามต่อจารีตประเพณี ความสัมพันธ์เชิงอำนาจ รวมทั้งค่านิยมบางประการ เช่น ค่านิยมผู้ชายเป็นใหญ่ มายาคติของสายเลือด ตัวละครตกอยู่ในกับดักของประเพณี ผู้หญิงถูกกดทับให้ตกอยู่ในพันธนาการของความหม่นเศร้า ประเพณีที่เคยเป็นสัญลักษณ์ของครอบครัวใหญ่ได้ล่มสลายลง สร้างบาดแผลให้แก่สมาชิกในครอบครัวและก่อให้เกิดโศกนาฏกรรม กระนั้น ในความ ‘ผุพัง’ ก็ยังคงมีความ ‘ผูกพัน’ ที่เป็นเครื่องยึดโยงให้อยู่ร่วมกันได้
ผู้เขียนถ่ายทอดความเป็นจีนผ่านแนวการเล่าเรื่องที่หลากหลาย ทั้งแนวสมจริง (Realism) แนวสัจนิยมมหัศจรรย์ (Magical Realism) และอุปมานิทัศน์ (Allegory) ซึ่งเชื้อเชิญให้ผู้อ่านตีความได้หลายนัยและขยายประสบการณ์เฉพาะทางวัฒนธรรมไปสู่ประเด็นปัญหาร่วมในสังคม การใช้ผัสสะที่เอื้อต่อการตีความ เช่น การใช้สีแดงเพื่อสื่อความหมายที่ขัดแย้งกันระหว่างสีแห่งมงคลกับสีแห่งความตาย ช่วยสื่อบรรยากาศความลึกลับ ความน่าสะพรึงกลัว ความอึดอัด นอกจากนี้ ยังมีการใช้สารนอกตัวบท (Paratext) เช่น การออกแบบหน้าปกให้มีชื่อเรื่องเป็นภาษาไทย จีน อังกฤษ การใช้อักษรจีนเป็นส่วนประกอบของตัวบท ช่วยสื่อนัยของการปะทะสังสรรค์กันระหว่างรากเหง้าทางชาติพันธุ์กับความเป็นสมัยใหม่
คณะกรรมการจึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้ ‘รวมเรื่องสั้น Family Comes First ด้วยรักและผุพัง’ ของ นริศพงศ์ รักวัฒนานนท์ ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) ประจำปี 2566
สำหรับรายชื่อคณะกรรมการตัดสินรางวัลประกอบด้วย
- รศ.ดร.สรณัฐ ไตลังคะ อดีตนายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย (ประธานคณะกรรมการ)
- ผศ.ดร. ธเนศ เวศร์ภาดา นายกสมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย
- นรีภพ จิระโพธิรัตน์ นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
- รศ.ยุรฉัตร บุญสนิท นักวิชาการอิสระ
- จำลอง ฝั่งชลจิตร ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ พ.ศ. 2561
- ผศ.ดร.ชัยรัตน์ พลมุข อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาไทย คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ดร.อลงกรณ์ ใหม่ด้วง อุปนายกคนที่สอง สมาคมภาษาและหนังสือแห่งประเทศไทย