×

‘ธุรกิจครอบครัว’ ของไทยกว่า 100 ราย สนใจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในระยะ 10-20 ปีจากนี้

01.08.2024
  • LOADING...

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เผย ธุรกิจครอบครัว (Family Business) กว่า 100 กิจการ สนใจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วง 10-20 ปีจากนี้ หลังจากตลาดหลักทรัพย์ฯ สนับสนุนการขับเคลื่อนระบบนิเวศเพื่อการพัฒนาธุรกิจครอบครัวไทยเข้าสู่ปีที่ 2 

 

วันที่ 1 สิงหาคม 2567 ศ.พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนา SET Annual Conference on Family Business : Family Business in the Globalized Asia ว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้ความสำคัญและสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบนิเวศเพื่อการพัฒนาธุรกิจครอบครัวไทยเข้าสู่ปีที่ 2

 

โดยการจัดงานในปีนี้มีผู้เข้าร่วมถึง 280 ราย ซึ่ง 70% ของจำนวนผู้เข้าร่วมงานเป็นเจ้าของกิจการ ส่วนอีก 30% เป็นที่ปรึกษาและนักวิชาการ โดยผู้เข้าร่วมงานครั้งนี้มากกว่าที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดหวังไว้ ประเมินว่าเป็นเพราะเจ้าของกิจการและผู้เกี่ยวข้องมองเห็นประโยชน์ของการสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งการเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญ 

 

“ตอนนี้บริษัทครอบครัวอยู่ในไปป์ไลน์อย่างน้อย 100 บริษัท ที่อยู่ระหว่างเตรียมตัวเข้าจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย อาจจะทยอยเข้าภายใน 10-20 ปี แต่ช่วงนี้อาจจะดีเลย์เข้าจดทะเบียนไปก่อน เพราะภาวะตลาดทุนไม่เอื้ออำนวย ซึ่งโดยส่วนตัวอยากคัดเลือกบริษัทดีๆ มีขนาดใหญ่และมีธรรมาภิบาล ไม่อยากได้บริษัทเล็กๆ เพราะสร้างราคาง่าย เช่น พวก Money Game” ศ.พิเศษ กิติพงศ์ กล่าว

 

ปัจจุบันบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่เป็นธุรกิจครอบครัวมีสัดส่วนถึง 67% ของจำนวน บจ. ทั้งหมด โดยตั้งแต่ปี 2559 จนปัจจุบัน บริษัทจดทะเบียนเข้าใหม่ 76% เป็นธุรกิจที่เติบโตมาจากธุรกิจครอบครัว และมีทิศทางเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ขณะเดียวกันการที่ตลาดหลักทรัพย์ฯ มีช่องทางการระดมทุนในรูปแบบใหม่อย่างตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) เป็นอีกหนึ่งกลไกให้ธุรกิจครอบครัวขยายโอกาสสู่การเติบโตผ่านตลาดทุนได้เช่นกัน

 

ธุรกิจครอบครัวมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) สัดส่วน 50.2% ของตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือกว่า 8 ล้านล้านบาท จากมูลค่ามาร์เก็ตแคปรวม 16 ล้านล้านบาท มีการจ้างงานทั้งหมด 1.3 ล้านอัตรา คิดเป็น 74% ของการจ้างงานทั้งหมดของ บจ. ในตลาดหุ้นไทย และเฉลี่ย 6 ปี อยู่ที่ 67% ซึ่งนับว่าสูงมาก

 

ด้านมูลค่าสินทรัพย์รวม รายได้รวม และกำไรสุทธิ ของบริษัทธุรกิจครอบครัวไทยในช่วงเวลา 6 ปีที่ผ่านมา (2560-2566) มีการเติบโตทั้งสินทรัพย์รวม รายได้รวม และกำไรสุทธิ โดยสินทรัพย์รวมเติบโตเฉลี่ย 47.03% ปิดสิ้นปี 2566 อยู่ที่ 25,285 พันล้านบาท รายได้รวมเติบโตเฉลี่ย 45.7% ปิดสิ้นปี 2566 อยู่ที่ 8,309 พันล้านบาท และกำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ย 52.4% สิ้นปี 2566 ปิดอยู่ที่ 409,029 ล้านบาท

 

และอายุกิจการของบริษัทธุรกิจครอบครัวนับตั้งแต่ปีก่อตั้งจนถึงปัจจุบันที่ยังคงจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทย มีบริษัทที่มีอายุยาวนานถึง 148 ปี คือ บมจ.โอเอชทีแอล (OHTL) หรือโรงแรมโอเรียนเต็ล ขณะที่อายุเฉลี่ยของบริษัทธุรกิจครอบครัวคือ 36 ปี และปัจจุบันมีบริษัทธุรกิจครอบครัวที่มีอายุเกิน 100 ปี จดทะเบียนอยู่ในตลาดหุ้นไทยด้วยกัน 5 บริษัท ได้แก่ บมจ.โอเอชทีแอล (OHTL), บมจ.เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ (BJC), บมจ.โอสถสภา (OSP), บมจ.เอสซีบี เอกซ์ (SCB) และ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC)

 

นอกจากนี้พบว่าบริษัทจดทะเบียนที่เป็นธุรกิจครอบครัวมีความแข็งแกร่งอีกหลายด้าน โดยมีรายได้จากต่างประเทศจำนวน 295 บริษัท มีรายได้จากต่างประเทศคิดเป็นปริมาณ 68-69% ของบริษัทจดทะเบียนทั้งหมดที่มีรายได้จากต่างประเทศ โดยในปี 2566 บริษัทกลุ่มนี้มีรายได้จากต่างประเทศ คิดเป็น 42% ของรายได้จากต่างประเทศรวมทุกบริษัทจดทะเบียน โดยมีมูลค่า 2,492 พันล้านบาท

 

และธุรกิจครอบครัวมีจำนวนกว่า 119 บริษัท หรือคิดเป็น 62% ที่มีรายชื่อติดอยู่ในดัชนี SET ESG Ratings มีคะแนนของ CG Score (บรรษัทภิบาล) สัดส่วน 83% ในอันดับดีขึ้นไป และอยู่ในอัตรา 4-5 สูงกว่าบริษัทนอกกลุ่มธุรกิจครอบครัว รวมทั้งมีสัดส่วน 99% ของบริษัทธุรกิจครอบครัวที่มีกรรมการอิสระเป็นไปตามเกณฑ์

 

ศ.พิเศษ กิติพงศ์ กล่าวว่า จากข้อมูลทั้งหมดนี้ทำให้เห็นว่าบริษัทธุรกิจครอบครัวได้รับประโยชน์จากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อตลาดทุนไทย และโดยส่วนตัวมีไอเดียว่าอยากจัดตั้งดัชนี Family Business เป็นการเฉพาะ โดยได้มอบหมายงานให้ทีมบริหารไปช่วยศึกษาเรื่องพวกนี้บ้างแล้ว อย่างไรก็ตาม อาจต้องหารือร่วมกับกรรมการและผู้จัดการตลาดหุ้นไทยคนใหม่อีกครั้ง เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีตลาดหุ้นใดในโลกที่มีดัชนีลักษณะนี้

 

“สำหรับธุรกิจครอบครัว สิ่งสำคัญคือต้องปรับโครงสร้างให้พร้อมก่อน เพราะอาจมีพวก Venture Capital สนใจลงทุน อาจไม่ต้องเข้าตลาดหุ้นก็ได้ หรือขยายกิจการจนดีก่อนแล้วค่อยตัดสินใจเข้าจดทะเบียนก็ได้ ซึ่งในญี่ปุ่นและสหรัฐฯ มี VC เข้าไปซื้อบริษัทที่ลูกหลานของเจ้าของกิจการไม่อยากทำหลายแห่งมาก ก็เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับธุรกิจครอบครัวในการสร้างการเติบโตที่ยั่งยืน”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X