×

เผยร้อยละ 40 ของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเป็นของปลอม โรงงานไม่ได้มาตรฐาน 10,000 แห่ง

โดย THE STANDARD TEAM
26.04.2018
  • LOADING...

จากกรณีการทลายเครือข่ายบริษัทเมจิก สกิน นำมาสู่คำถามถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค วานนี้ (25 เม.ย.) นาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้แถลงข่าวเปิดเผยข้อมูลที่น่าตกใจพบว่า ภาพรวมของตลาดเครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของไทยปัจจุบันมีมูลค่าตลาดเกือบ 100,000 ล้านบาทต่อปี แต่กลับพบว่าผลิตภัณฑ์ในท้องตลาด 40% เป็นผลิตภัณฑ์ปลอมที่มีการผลิตไม่ได้มาตรฐาน ซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร

 

นอกจากนี้ข้อมูลจากการตรวจสอบยังพบว่า ขณะนี้มีโรงงานผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานประมาณ 1,000 กว่าโรงงาน แต่กลับมีโรงงานที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือแอบอ้างว่าเป็นโรงงานทั้งที่ไม่ได้มีการผลิตจริงสูงถึง 10,000 โรงงาน เนื่องมาจากการขอทะเบียนจาก อย. เป็นเรื่องยาก แต่การผลิตทำได้ง่าย จึงมีการผลิตอย่างไม่ถูกต้องออกมาเป็นจำนวนมาก

 

ต่อกรณีนี้ THE STANDARD ได้ต่อสายพูดคุยกับประธาน ส.อ.ท. เพิ่มเติม โดยนาคาญ์ เปิดเผยว่า โดยปกติ ส.อ.ท. ได้ทำงานร่วมกับ อย. อย่างใกล้ชิดอยู่แล้ว แต่สำหรับปีนี้มีการพูดคุยกันอย่างเข้มข้นมากขึ้น และอัปเดตข้อมูลกันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้ทาง ส.อ.ท. พยายามเรียกร้องให้มีการดำเนินคดีผู้กระทำผิดเพิ่มเติม โดยใช้เฉพาะการใช้บทลงโทษเรื่องยาปลอม ที่มีโทษสูงสุดคือจำคุกตลอดชีวิต แทนที่การใช้โทษเกี่ยวกับเรื่องอาหารเพียงอย่างเดียว ซึ่งจะทำให้ผู้กระทำความผิดเกิดความเกรงกลัวมากขึ้น และผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้มาตรฐานก็จะลดจำนวนลงตามไปด้วย

 

นอกจากนี้ยังมองว่าช่องโหว่สำคัญที่ทำให้มีผลิตภัณฑ์เถื่อนออกสู่ท้องตลาดเป็นจำนวนมากเป็นเพราะปัจจุบันมีผู้ประกอบการรายใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะแบรนด์เล็กๆ ที่เกิดขึ้นเป็นร้อยเป็นพันรายต่อวัน ทำให้ อย. ไม่สามารถจะควบคุมหรือสุ่มตรวจได้อย่างทั่วถึง ส่วนใหญ่จึงจะสุ่มตรวจเฉพาะแบรนด์ที่ตกเป็นข่าวหรือมีการร้องเรียนจากผู้บริโภคเป็นจำนวนมาก

 

“ผมว่าตอนนี้ถ้าจะหวังพึ่งให้ อย. ตรวจเองอย่างเดียว ด้วยแบรนด์ที่มีมากมายในท้องตลาด ผมว่า อย. คงทำงานไม่ทัน เพราะมันเยอะมากจริงๆ ดังนั้นภาคประชาชนจึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยกันเป็นหูเป็นตาและร้องเรียนเพื่อคัดกรองผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้คุณภาพให้หมดไปจากตลาด ที่สำคัญคือต้องมีการใช้โทษที่หนักขึ้น ปัจจุบันเราใช้โทษเกี่ยวกับอาหาร ซึ่งมีโทษจำคุกไม่กี่ปี แต่ถ้าเปลี่ยนมาใช้โทษเกี่ยวกับยา กรณีที่ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ใส่สารต้องห้าม หรือใส่ส่วนผสมที่เป็นยาลงไป กรณีแบบนี้ผู้กระทำผิดก็จะเกิดความเกรงกลัวได้มากกว่า”

 

นาคาญ์​ ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า กรณีของเมจิก สกิน ถือเป็นการหลอกลวงผู้บริโภค โดยใช้วัตถุดิบที่ไม่มีคุณภาพ แต่ในอุตสาหกรรมนี้ยังมีเรื่องที่น่ากังวลกว่า เพราะผู้ประกอบการ หรือโรงงานบางรายแอบใส่ตัวยาต้องห้ามลงไป เพื่อทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่าใช้แล้วได้ผล ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะมีดาราเข้ามาเกี่ยวข้อง เพราะผู้ผลิตต้องใช้บุคคลที่มีชื่อเสียงเพื่อช่วยโปรโมต ซึ่งสุดท้ายเมื่อถูกจับได้ ก็กลายเป็นว่าดาราตกเป็นผู้ต้องหา ทั้งๆ ที่อาจจะไม่รู้เรื่องเกี่ยวกับตัวยาที่แอบใส่ลงไปมาก่อน

 

“ผมว่ากรณีที่เกิดขึ้น ดาราเองก็ไม่ได้อยากจะเสียชื่อเสียง ดังนั้นผมอยากจะเรียกร้องกับดาราทั้งหลายว่า ต่อจากนี้หากจะรับเป็นพรีเซนเตอร์สินค้า อาจจะต้องตรวจสอบผลิตภัณฑ์ให้เยอะหน่อย โดยเฉพาะการรีวิวที่ดาราบางคนอาจจะมองข้ามไป เพราะจำนวนเงินน้อย แถมโปรโมตไม่กี่วัน เขาก็อาจจะคิดว่าไม่มีปัญหา แต่จริงๆ แล้วทันทีที่รูปของเขาแปะอยู่กับผลิตภัณฑ์ บริษัทก็จะเอารูปของเขาไปโฆษณาหากินได้ตลอด เพราะฉะนั้นจะเป็นเคสเล็กหรือเคสใหญ่ ผมคิดว่าต้องให้ความสำคัญกับการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ให้ดีก่อน ถ้าอยากจะมีความมั่นใจเพิ่มขึ้น ก็ต้องทดสอบด้วยตัวเอง เพราะพอมีปัญหาขึ้นมาจะได้อ้างได้ว่าโดนหลอกด้วยกัน อันนี้ผมคิดว่าเป็นหน้าที่ของดาราที่จะต้องระวังและทำให้คนมั่นใจ เพราะเขาเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่มีผลต่อผู้บริโภคจริงๆ”

 

สำหรับภาพรวมของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางและอาหารเสริม นาคาญ์มองว่า กรณีของเมจิก สกิน จะไม่ส่งกระทบต่ออุตสาหกรรมมากนัก สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นเรื่องดีที่ทำให้ทุกฝ่ายเกิดความตื่นตัว และเป็นการคัดกรองผลิตภัณฑ์ไม่มีคุณภาพออกจากท้องตลาด

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X